คณะกรรมการบริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ("คณะกรรมการธนาคาร") เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะยกระดับผลการดำเนินงานของธนาคาร และเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของธนาคาร อันได้แก่การเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการธนาคารมีความรับผิดชอบตามกฎหมายในการกำกับดูแลการประกอบกิจการธนาคาร และรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย อันประกอบด้วย ลูกค้า ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ผู้ให้บริการ และสังคม
ฝ่ายจัดการมีความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจประจำวันของธนาคาร หน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารคือการกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของธนาคารและของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของธนาคาร
ความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการธนาคารและฝ่ายจัดการเป็นไปในรูปแบบการทำงานร่วมกัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการมีความรับผิดชอบต่อคณะกรรมการธนาคารในด้านการดำเนินธุรกิจประจำวันของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการดำเนินการ การตัดสินใจ และการปฏิบัติการ คณะกรรมการธนาคารเป็นผู้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแผนปฏิบัติและเสนอแนะกลยุทธ์ และติดตามดูแลการปฏิบัติการและผลการดำเนินงาน
คณะกรรมการธนาคาร ร่วมกับฝ่ายจัดการมีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจของธนาคาร เพื่อก้าวไปสู่การมี ผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สภาวะความเสี่ยงในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้น สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย และจรรยาบรรณทางธุรกิจ และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
คณะกรรมการธนาคาร ประกอบด้วย กรรมการจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน และไม่เกิน 18 คน โดยมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด
คณะกรรมการธนาคาร ประกอบด้วย 1) กรรมการที่เป็นผู้บริหาร 2) กรรมการที่มิได้เป็นผู้บริหาร และ 3) กรรมการอิสระ ซึ่งมีคุณสมบัติตาม “นิยามกรรมการอิสระ” ปรากฏตามเอกสารแนบท้าย ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใ น 3 ของกรรมการทั้งหมด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 คน
กรรมการต้องประกอบด้วยบุคคลที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์ที่เหมาะสมมีวิจารณญาณที่ดี ปราศจากความลำเอียง มีความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติงาน และได้รับความเห็นจากคณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมในการนำเสนอเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการ
ประธานกรรมการ อาจเป็นกรรมการอิสระ หรือเป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการอาจเป็นบุคคลเดียวกันได้
การดำรงตำแหน่งของกรรมการ เมื่อมีการประชุมสามัญประจำปีของธนาคารทุก ๆ คราว ให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวนหนึ่งในสามของกรรมการทั้งหมด ถ้าจำนวนกรรมการที่แบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม กรรมการซึ่งอยู่ในตำแหน่งนานที่สุดนั้นออกจากตำแหน่งก่อน และถ้าตกลงกันในเรื่องการออกจากตำแหน่งไม่ได้ ให้ใช้วิธีจับสลาก กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งใหม่ได้
กรรมการมีอายุไม่เกิน 72 ปี และกรรมการอิสระมีวาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไม่เกิน 9 ปี
การประชุมคณะกรรมการธนาคารจะต้องดำเนินการทุกเดือน เว้นแต่มีเหตุขัดข้อง แต่อย่างน้อยต้องมีการประชุมคณะกรรมการ 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง และอาจมีการประชุมเพิ่มเติมในกรณีที่มีความจำเป็น กรรมการทุกคนมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการธนาคารทุกครั้ง โดยต้องเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนครั้งของการประชุมที่จัดขึ้นในแต่ละปี เว้นแต่มีเหตุจำเป็น
เมื่อได้รับการแต่งตั้ง กรรมการแต่ละคนจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับธนาคาร คำชี้แจงเกี่ยวกับพันธะทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องในฐานะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กรรมการธนาคารอาจขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอิสระตามความเหมาะสม ด้วยค่าใช้จ่ายของธนาคาร
คณะกรรมการธนาคารมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักที่ถูกกำหนดขอบเขตและวิธีการไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้กระบวนการกำกับดูแลธนาคารมีผลเต็มที่ อย่างน้อยต้องครอบคลุมถึงดังนี้
อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของประธานกรรมการ
อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการธนาคาร
บมจ. ธนาคารกสิกรไทยได้กำหนดคุณสมบัติของ “กรรมการอิสระ” ที่เข้มงวดกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนี้
ในการพิจารณาคุณสมบัติกรรมการอิสระ สำหรับช่วงระยะเวลาย้อนหลัง ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้นเว้นแต่ได้รับผ่อนผันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ทั้งนี้ ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระที่มีลักษณะข้างต้นแล้ว กรรมการอิสระอาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของธนาคาร บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของธนาคาร โดยมีการตัดสินใจในรูปแบบขององค์คณะ (Collective Decision) ได้
ในกรณีที่บุคคลที่ธนาคารแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระเป็นบุคคลที่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจเกินมูลค่าที่กำหนดตามข้อ 4 ให้ธนาคารจัดให้มีความเห็นคณะกรรมการธนาคารที่แสดงว่าได้พิจารณาตามหลักในมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แล้วว่า การแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และการให้ความเห็นที่เป็นอิสระ และจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวาระพิจารณาแต่งตั้งกรรมการอิสระด้วย
คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและการลงทุน ตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (“ธนาคาร”) ในการประชุมครั้งที่ 13/2564 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564
คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและการลงทุน ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการทำงานของคณะกรรมการธนาคาร เพื่อก้าวไปสู่การมีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในสภาวะความเสี่ยงในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้น สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและการลงทุน มีบทบาทในการพิจารณากลั่นกรองในเรื่องเกี่ยวกับสินเชื่อ และการลงทุนที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการธนาคาร รวมถึงเรื่องสำคัญอื่นที่ได้รับมอบหมาย จากคณะกรรมการธนาคาร และให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการธนาคาร เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของธนาคาร และผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งเพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการธนาคาร มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและการลงทุน ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการธนาคาร ประกอบด้วย กรรมการอิสระ และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งตามวาระที่ดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคาร กรรมการ ที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้
คณะกรรมการธนาคารจะแต่งตั้งประธานกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและการลงทุน ซึ่งจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการกำหนดวาระการประชุมและดำเนินการประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง ตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควร และอาจมีการประชุมเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
ประธานกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและการลงทุน เป็นผู้แต่งตั้งเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและการลงทุน
ให้องค์ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและการลงทุน ประกอบด้วย จำนวนผู้เข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด
คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและการลงทุน อาจปรึกษาหารือที่ปรึกษาอิสระในกรณีที่จำเป็นด้วยค่าใช้จ่ายของธนาคาร
คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและการลงทุน มีหน้าที่ และความรับผิดชอบหลัก ได้แก่
คณะกรรมการตรวจสอบตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการ บริษัทธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) ("ธนาคาร") ครั้งที่ 9/2541 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2541 เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของธนาคารให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียของธนาคารโดยรวม
คณะกรรมการตรวจสอบตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการธนาคารตามความรับผิดชอบที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับคณะกรรมการธนาคารในการกำกับดูแลการจัดทำรายงานทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน และการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อกำหนดทางการ และหลักจรรยาบรรณต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
คณะกรรมการธนาคารแต่งตั้งกรรมการอิสระของธนาคารไม่น้อยกว่า 3 คน ให้ทำหน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบ โดยมีกรรมการ 1 คน ทำหน้าที่ประธานกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประธานกรรมการตรวจสอบต้องไม่เป็นประธานในคณะกรรมการธนาคาร คณะกรรมการกำกับความเสี่ยง หรือ คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน
กรรมการตรวจสอบจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือคณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คน จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงิน
กรรมการตรวจสอบมีวาระการดำรงตำแหน่งตามวาระที่ดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคาร กรรมการตรวจสอบอาจได้รับแต่งตั้งต่อไปตามวาระที่คณะกรรมการธนาคารอนุมัติ โดยมีการพิจารณาที่ไม่เป็นการต่อวาระโดยอัตโนมัติ
การประชุมจะจัดขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 6 ครั้งหรือมากกว่า ขึ้นกับประธานกรรมการตรวจสอบจะเห็นสมควร
ให้องค์ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วย จำนวนผู้เข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการตรวจสอบทั้งหมด
ประธานกรรมการตรวจสอบเป็นผู้แต่งตั้งเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ
อำนาจ
คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจในการจัดหาที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพภายนอกเพื่อขอความเห็นหรือคำแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบได้ตามความจำเป็นด้วยค่าใช้จ่ายของธนาคาร
คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการ และเรียกให้ฝ่ายจัดการ เจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือบุคคลภายนอกเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการตรวจสอบตามความเหมาะสม
หน้าที่และความรับผิดชอบ
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการ บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (“ธนาคาร”) ในการประชุมครั้งที่ 3/2545 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการธนาคารในความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลธนาคารตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมายหรือนโยบายของหน่วยงานทางการหรือสถาบันที่กำกับดูแลธนาคารที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ มีบทบาทในการกำหนดและทบทวนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธนาคาร เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการและใช้เป็นแนวปฏิบัติของผู้บริหารและพนักงาน เพื่อความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย ตลอดจนการสื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์การได้ทราบถึงแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธนาคาร
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ มีหน้าที่ดูแลให้การดำเนินกิจการของธนาคารและการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงานเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ธนาคารและหน่วยงานของทางการ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลธนาคารกำหนด และสอดคล้องกับหลักการที่เป็นมาตรฐานสากล แนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่และการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทางการให้ความเห็นชอบ
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการธนาคารประกอบด้วย กรรมการธนาคารจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน กรรมการ 1 คนทำหน้าที่ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการ
กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งตามวาระที่ดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคาร กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้
ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการเป็นผู้แต่งตั้งเลขานุการคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ
ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการจะให้ความเห็นชอบในการกำหนดวาระการประชุม และดำเนินการประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 4 ครั้ง
ให้องค์ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการประกอบด้วยจำนวนผู้เข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการอาจปรึกษาหารือที่ปรึกษาอิสระในกรณีที่จำเป็นด้วยค่าใช้จ่ายของธนาคาร
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ได้แก่
คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทนตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการบริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ("ธนาคาร") ในการประชุม ครั้งที่ 3/2545 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545
คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ("คณะกรรมการ") ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการธนาคาร ในความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคล ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการธนาคาร
คณะกรรมการมีบทบาทในการเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการธนาคาร เกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนของประธานกรรมการ และกรรมการธนาคาร (โดยขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในภายหลัง) นอกจากนี้ คณะกรรมการมีหน้าที่จัดทำนโยบายอัตราค่าตอบแทน และกำหนดเงื่อนไขในการว่าจ้างประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร
คณะกรรมการมีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ และทบทวนแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และพนักงานในตำแหน่งที่สำคัญที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือกรรมการผู้จัดการได้จัดทำไว้
คณะกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการธนาคารและติดตามดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ทางด้านทรัพยากรบุคคลของธนาคาร รวมทั้งแผนงานพัฒนาผู้บริหารของธนาคารด้วย
คณะกรรมการจะทำการสรรหาและนำชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการเป็นครั้งแรก และพิจารณาผลงาน คุณสมบัติ และความเหมาะสมของกรรมการที่พ้นตำแหน่งและสมควรได้รับเลือกตั้งใหม่ เสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคาร
คณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งประกอบด้วย กรรมการธนาคารที่ไม่ได้ทำหน้าที่บริหาร ไม่น้อยกว่า 3 คน คณะกรรมการธนาคารจะแต่งตั้งประธานกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ซึ่งจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการกำหนดวาระการประชุมและดำเนินการประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควร
กรรมการในคณะกรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่งตามวาระที่ดำรงตำแหน่งกรรมการของธนาคาร กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งโดยคณะกรรมการธนาคารให้ดำรงตำแหน่งต่อได้
ให้ผู้บริหารสายงานทรัพยากรบุคคล เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ
คณะกรรมการอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอิสระได้ ในกรณีที่จำเป็นด้วย ค่าใช้จ่ายของธนาคาร เช่น การสำรวจสภาพตลาด การจ้างงาน การสำรวจเงินเดือน สรรหากรรมการและผู้บริหารของธนาคาร เป็นต้น
คณะกรรมการมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ได้แก่
กลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคล
กลยุทธ์ด้านผลประโยชน์ตอบแทน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ
คณะกรรมการธนาคาร
คณะกรรมการกำกับความเสี่ยง ตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการ บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (“ธนาคาร”) ในการประชุมครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561
คณะกรรมการกำกับความเสี่ยง ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการธนาคารรับผิดชอบในการกำกับดูแลความเสี่ยงในภาพรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คณะกรรมการกำกับความเสี่ยงจะต้องมั่นใจว่า กลุ่มธุรกิจทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย (“กลุ่มธุรกิจทางการเงิน”) มีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมดรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ รวมทั้งดำเนินการรายงานความเสี่ยงให้คณะกรรมการธนาคารได้รับทราบ
ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการกำกับความเสี่ยงต้องดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผลกับคณะกรรมการธนาคาร เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล คณะกรรมการกำกับความเสี่ยงแต่ละคนต้องมีความเข้าใจในความรับผิดชอบตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร มีความเข้าใจในธุรกิจ การดำเนินการและการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
คณะจัดการตั้งขึ้นตามข้อบังคับของ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (“ธนาคาร”) โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 88 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543
คณะจัดการตั้งขึ้นเพื่อจัดการงานและดำเนินกิจการของธนาคารตามที่คณะกรรมการธนาคารกำหนด เพื่อก้าวไปสู่การมีผลการดำเนินงานที่ยั่งยืนและเป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสภาวะความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคต และให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย และจรรยาบรรณทางธุรกิจ รวมทั้งหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
คณะกรรมการธนาคารได้แต่งตั้ง ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิ คุณสมบัติ และประสบการณ์ที่เหมาะสม เป็นเลขานุการบริษัทและเลขานุการคณะกรรมการ โดยมีสำนักเลขานุการบริษัท สายงานเลขาธิการองค์การ เป็นหน่วยงานสนับสนุนงานเลขานุการบริษัท