รู้ 10 อย่างก่อนจดทะเบียนการค้า ทำอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง? รู้ 10 อย่างก่อนจดทะเบียนการค้า ทำอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

รู้ 10 อย่างก่อนจดทะเบียนการค้า ทำอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

ในปัจจุบันมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายของออนไลน์ ขายของแบบมีหน้าร้าน หรือการบริการต่างๆ ที่ล้วนแต่เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ แต่ว่าก็ยังมีหลายธุรกิจที่เปิดขึ้นมาใหม่โดยไม่รู้ว่าจะต้องจดทะเบียนการค้าก่อน และเปิดทำการไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทางสรรพากรต้องเป็นฝ่ายติดต่อมาเอง จนทำให้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น

ดังนั้นหากใครมีธุรกิจแล้วไม่อยากให้เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว ก็ควรจดทะเบียนการค้าให้เรียบร้อยเสียก่อน หากไม่รู้ว่าวิธีจดทะเบียนการค้าต้องทำอย่างไร สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ออนไลน์ได้หรือไม่ และจะต้องเตรียมอะไรบ้าง ในบทความนี้ทาง K-BIZ จากธนาคารกสิกรไทยได้รวบรวมมาไว้ให้แล้ว

ใครมีหน้าที่จดทะเบียนการค้า

1. ใครมีหน้าที่จดทะเบียนการค้า

ก่อนจะทำการจดทะเบียนการค้า ต้องตรวจสอบก่อนว่าธุรกิจที่กำลังจะเปิดหรือกำลังดำเนินกิจการอยู่นั้นอยู่ในเกณฑ์ของผู้ที่มีหน้าที่จดทะเบียนพานิชย์หรือไม่ โดยผู้ที่มีหน้าที่ในการจดทะเบียนพาณิชย์ตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้แบ่งไว้มีทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้

  1. บุคคลธรรมดาคนเดียวหรือกิจการที่มีเจ้าของคนเดียว
  2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
  3. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด
  4. บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
  5. นิติบุคคลต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาภายในประเทศไทย
กิจการที่ต้องจดทะเบียนการค้า

2. กิจการที่ต้องจดทะเบียนการค้า

สำหรับธุรกิจหรือกิจการที่ต้องทำการจดทะเบียนการค้าตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ และนิติบุคคลต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาภายในประเทศไทย ที่ประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้
    • กิจการโรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
    • กิจการขายสินค้าที่ขายภายใน 1 วันได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าเพื่อขายและมีมูลค่ารวมเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
    • นายหน้าหรือตัวแทนการค้าที่ทำการเกี่ยวกับสินค้า และสินค้ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้นในวันใดวันหนึ่งเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป
    • กิจการหัตกรรมหรืออุตสาหกรรมที่ขายสินค้าที่ผลิตได้ และสินค้ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้นในวันใดวันหนึ่งเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือสินค้าที่ผลิตได้มีมูลค่ารวมตั้งแต่ 500 ขึ้นไป
    • กิจการขนส่งทางทะเล ขนส่งโดยเรือกล หรือเรือยนต์ประจำทาง ขนส่งโดยทางรถไฟ ขนส่งโดยรถราง หรือขนส่งโดยรถยนต์ประจำทาง
    • กิจการรับซื้อ-ขายที่ดิน ขายทอดตลาด การให้กู้ยืมเงิน การรับแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การทำโรงรับจำนำ และการทำโรงแรม
    • กิจการขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิตแผ่นซีดี แถบบันทึก วิดีทัศน์ แผ่นวิดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวิดีทัศน์ และระบบดิจิทัลเฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
    • กิจการขายอัญมณีหรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณี
    • กิจการซื้อ-ขายสินค้า หรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
    • กิจการบริการอินเทอร์เน็ต
    • กิจการให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
    • กิจการตลาดกลางในการซื้อ-ขายสินค้า หรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
    • กิจการให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
    • กิจการให้บริการเครื่องเล่นเกม
    • กิจการให้บริการตู้เพลง
    • กิจการโรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการหัตถกรรมจากงาช้าง รวมถึงการค้าปลีก การค้าส่งงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
  2. K BIZ ทำธุรกิจต่างประเทศไม่สะดุด โอนจ่ายเองปลายทางได้รับเงินเต็มจำนวน
  3. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด ที่ประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้
    • กิจการขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิตแผ่นซีดี แถบบันทึก วิดีทัศน์ แผ่นวิดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวิดีทัศน์ และระบบดิจิทัลเฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
    • กิจการขายอัญมณีหรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณี
    • กิจการซื้อ-ขายสินค้า หรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
    • กิจการบริการอินเทอร์เน็ต
    • กิจการให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
    • กิจการตลาดกลางในการซื้อ-ขายสินค้า หรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
    • กิจการให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
    • กิจการให้บริการเครื่องเล่นเกม
    • กิจการให้บริการตู้เพลง
    • กิจการโรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการหัตถกรรมจากงาช้าง รวมถึงการค้าปลีก การค้าส่งงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง

3. กิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนการค้า

ถึงแม้ว่าการทำธุรกิจหรือเปิดกิจการนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง แต่ก็มีบางกิจการหรือบางธุรกิจได้รับการยกเว้นในการจดทะเบียนการค้า โดยกิจการที่ไม่ต้องทำการจดทะเบียนการค้าตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้มีทั้งหมด 6 กิจการ ดังนี้

  1. พาณิชยกิจการค้าเร่หรือการค้าแผงลอย
  2. พาณิชยกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
  3. พาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม
  4. พาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม หรือสหกรณ์
  5. พาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกร (จดทะเบียนตาม ปว.141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2515)
  6. พาณิชยกิจของนิติบุคคล ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
ร้านค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนการค้า

4. ร้านค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนการค้า

การเปิดธุรกิจขายของออนไลน์ หรือร้านค้าออนไลน์นั้นจะต้องทำการจดทะเบียนการค้าให้ถูกต้อง โดยกรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์นั้นได้แบ่งการจดทะเบียนพาณิชย์ของร้านค้าออนไลน์ไว้ 2 ประเภท ดังนี้

  1. ขายของออนไลน์บนโซเชียลมีเดีย ในกรณีนี้จะไม่สามารถชำระเงินบนแพลตฟอร์มที่ทำการค้าขายได้ จึงสามารถทำการจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาและทำการยื่นภาษีได้ตามปกติ
  2. ขายของออนไลน์บนเว็บไซต์ ในกรณีนี้สามารถชำระเงินบนแพลตฟอร์มที่ทำการค้าขายได้ จึงต้องทำการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมขอเครื่องหมาย DBD Registered เพิ่มเติมด้วย

หากเปิดธุรกิจขายของออนไลน์แต่ไม่ทำการจดทะเบียนพาณิชย์ให้เรียบร้อย ไม่ยอมให้การ ให้การเท็จ หรือไม่ยินยอมให้พนักงานตรวจสอบ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และหากไม่จดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง จะโดนปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะทำการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ

เอกสารที่ใช้จดทะเบียนการค้า

5. เอกสารที่ใช้จดทะเบียนการค้า

การจดทะเบียนการค้าสามารถจดทะเบียนให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันเดียวได้ แต่ก่อนจะทำการจดทะเบียนการค้าจะต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลา โดยเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนการค้านั้นมีทั้งหมด ดังนี้

  • คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) สามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
  • หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
  • หนังสือชี้แจง (ในกรณีที่เปิดธุรกิจมานานแล้ว และไม่ได้ยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วันหลังจากเริ่มเปิดธุรกิจ)

6. ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการค้า

การขอดำเนินการจดทะเบียนการค้านั้นจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามแต่ละประเภทของการดำเนินการ โดยเอกสารแต่ละฉบับที่ใช้ในการดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์นั้นจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้

  • จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ ค่าธรรมเนียม 50 บาท
  • จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ค่าธรรมเนียมครั้งละ 20 บาท
  • จดทะเบียนยกเลิกประกอบพาณิชยกิจ ค่าธรรมเนียม 20 บาท
  • ขอให้ออกใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ค่าธรรมเนียมฉบับละ 30 บาท
  • ขอให้เจ้าหน้าที่คัดสำเนา และรับรองสำเนาเอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ค่าธรรมเนียมฉบับละ 30 บาท (สำหรับผู้ประกอบกิจการค้า และ 1 คำขอจะคิดเป็น 1 ฉบับ)
  • ขอตรวจเอกสารของผู้ประกอบการพาณิชยกิจรายหนึ่ง ค่าธรรมเนียมครั้งละ 20 บาท
จดทะเบียนการค้าได้ที่ไหน

7. จดทะเบียนการค้าได้ที่ไหน

การจดทะเบียนการค้านั้นสามารถจดได้ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด โดยกรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้แบ่งสถานที่ในการจดทะเบียนพาณิชย์ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

  1. ผู้ประกอบการที่มีธุรกิจตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถจดทะเบียนการค้าได้ทั้งหมด 3 แห่ง ดังนี้
    • สำนักงานเขตภายในกรุงเทพมหานคร (จดทะเบียนภายในเขตที่ธุรกิจตั้งอยู่เท่านั้น)
    • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
    • สำนักการคลัง
  2. ผู้ประกอบการที่มีธุรกิจตั้งอยู่ในต่างจังหวัด สามารถยื่นจดทะเบียนการค้าได้ที่เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ธุรกิจตั้งอยู่

8. ระยะเวลาในการจดทะเบียนการค้า

สำหรับการจดทะเบียนการค้านั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กรณี ได้แก่ การจดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ การเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน การเลิกประกอบพาณิชยกิจ และใบทะเบียนพาณิชย์สูญหาย โดยแต่ละกรณีจะมีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  • การจดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ จะต้องทำการจดทะเบียนการค้าภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจ
  • การเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน จะต้องจดทะเบียนการค้าภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงตามรายการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
    1. เปลี่ยนชื่อที่ใช้ประกอบพาณิชยกิจ
    2. เลิกประกอบพาณิชยกิจบางส่วน
    3. เพิ่มการประกอบพาณิชยกิจขึ้นใหม่
    4. เพิ่มหรือลดเงินทุน
    5. ย้ายสำนักงานใหญ่
    6. เจ้าของ หรือผู้จัดการเปลี่ยนที่อยู่
    7. เปลี่ยนผู้จัดการ
    8. ย้าย ยกเลิก หรือเพิ่มสาขา โรงเก็บสินค้า หรือตัวแทนการค้า
    9. แก้ไข หรือเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วน เงินลงหุ้น หรือจำนวนเงินลงทุน
    10. แก้ไขจำนวนเงินทุน จำนวนหุ้น หรือมูลค้าหุ้น
    11. แก้ไขชื่อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น ชื่อเว็บไซต์
  • การยกเลิกการประกอบพาณิชยกิจ จะต้องทำการจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เลิกประกอบพาณิชยกิจ
  • ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหาย จะต้องทำการยื่นขอใบทะเบียนพาณิชย์แทนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สูญหาย
ข้อกำหนดหน้าที่สำหรับผู้ประกอบการ

9. ข้อกำหนดหน้าที่สำหรับผู้ประกอบการ

ข้อกำหนดหน้าที่สำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องปฏิบัติตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดจนต้องรับบทลงโทษ มีดังนี้

  • จดทะเบียนการค้าภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจ เปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน หรือยกเลิกการประกอบธุรกิจ
  • แสดงใบทะเบียนพาณิชย์ จะต้องทำการแสดงใบทะเบียนพาณิชย์ หรือใบแทนทะเบียนพาณิชย์ไว้ภายในสำนักงาน ไว้อย่างเปิดเผย เห็นได้ชัดหรือเห็นได้ง่าย
  • มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ จะต้องจัดให้มีป้ายชื่อทั้งหน้าสำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาอื่นๆ ซึ่งจะต้องทำการจัดตั้งป้ายภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนพาณิชย์ โดยจะต้องเขียนเป็นอักษรไทยที่ชัดเจน อ่านง่ายและเห็นได้ชัด ให้ตรงกับชื่อที่ได้ทำการจดทะเบียนไว้ หากเป็นป้ายสำหรับสำนักงานสาขา จะต้องมีคำว่า “สาขา” กำกับไว้ด้วย
  • ขอใบแทนทะเบียนพาณิชย์ ในกรณีที่ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายหรือเกิดการชำรุด จะต้องยื่นคำขอใบแทนทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สูญหายหรือชำรุด
  • ให้ข้อเท็จจริงกับนายทะเบียน เป็นการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการจดทะเบียนตามคำสั่งของนายทะเบียน
  • ตรวจสอบสำนักงาน ในกรณีที่ต้องตรวจสอบสำนักงาน เจ้าของธุรกิจจะต้องยินยอมและอำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียน พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบภายในสำนักงาน

10. บทลงโทษ

หากเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการไม่ทำการจดทะเบียนการค้าให้ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหน้าที่ตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้ อาจจะมีโทษ หรือได้รับบทลงโทษ ดังนี้

  • ไม่จดทะเบียนพาณิชย์ ในกรณีที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ทำการจดทะเบียนการค้า รวมถึงแสดงรายการเท็จ ไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสำนักงาน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และหากไม่จดทะเบียนต่อเนื่อง จะโดนปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะทำการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ
  • ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหาย ในกรณีที่ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหาย ชำรุด หรือไม่แสดงใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ที่สำนักงานตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และหากไม่ยื่นคำขอใบแทนทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง จะโดนปรับอีกวันละไม่เกิน 20 บาท จนกว่าจะทำการขอใบแทนทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง
  • ทำการทุจริตต่อประชาชน ในกรณีที่ผู้ประกอบการฉ้อโกงประชาชนหรือกระทำการทุจริตอื่นใดอย่างร้ายแรงในการประกอบกิจการ จะต้องถูกถอนใบทะเบียนพาณิชย์ เมื่อถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์แล้วจะไม่สามารถประกอบกิจการต่อได้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์จะสั่งให้รับการจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่
  • ถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์ ในกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์ แต่ยังคงฝ่าฝืนประกอบธุรกิจต่อไป มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำไม่คุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

การจดทะเบียนการค้า หรือจดทะเบียนพาณิชย์นั้นไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพียงแค่เตรียมเอกสารให้พร้อม และไปดำเนินการจดทะเบียนการค้าที่สถานที่รับจดทะเบียน หรือจะทำการจดทะเบียนการค้าออนไลน์ก็ได้เช่นกัน เพื่อให้ธุรกิจเปิดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีความน่าเชื่อถือ และไม่เกิดข้อผิดพลาดตามมาจนต้องรับโทษตามกฎหมาย และถ้าหากอยากให้ธุรกิจดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น ก็มี K BIZ จากธนาคารกสิกรไทย Online Banking Platform ที่พร้อมช่วยดูแลธุรกิจของคุณให้เติบโตได้อย่างไม่มีสะดุด

สนใจบทความที่เกี่ยวข้อง

คลิกเลย

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

back to top