จัดการหนี้หลายก้อนให้อยู่หมัด จัดการหนี้หลายก้อนให้อยู่หมัด

จัดการหนี้หลายก้อนให้อยู่หมัด

จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย1 ณ ไตรมาส 3/2565 ที่สูงถึง 87% ของ GDP 14.9 ล้านล้านบาท คนไทยส่วนใหญ่เป็นเพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น หนี้สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของยอดหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ส่วนใหญ่หนี้ครัวเรือนเป็นหนี้สินเชื่อบ้าน

หลายๆ ครอบครัวมีหนี้ครัวเรือนในจำนวนเงินที่สูงและมีหนี้หลายก้อน ทำให้มีปัญหาเรื่องการจ่ายหนี้ตามมา ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งไม่รู้ว่าต้องจัดการหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน หรือลดภาระหนี้ที่ปิดได้เร็วที่สุดก่อน เพื่อทำให้มีเงินสดคงเหลือเพิ่มมากขึ้นเอาไว้จัดการกับหนี้ก้อนอื่นๆ ต่อไป สำหรับการจัดการหนี้ที่มีหลายก้อนให้มีประสิทธิภาพ มีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

จัดการหนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร

1) จัดทำบัญชีรายได้ และค่าใช้จ่าย

เพื่อจะรู้ว่าในแต่ละเดือนมีรายได้เท่าไหร่ ซึ่งถ้าเป็นคนทำงานประจำจะมีรายได้ที่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นพ่อค้าแม่ค้า หรือผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีการจัดทำบัญชี หลายๆ คนไม่รู้ว่าตนเองมีรายได้เท่าใดในแต่ละเดือน แนะนำให้จดบันทึกเป็นรายวันพอถึงวันสิ้นเดือนนำมาสรุปยอด ในส่วนค่าใช้จ่ายให้จดบันทึกเป็นรายวันว่าในแต่ละวันมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และถึงวันสิ้นเดือนนำมาสรุปยอดเช่นกัน จะได้รู้ว่าในแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และจะสามารถลดค่าใช้จ่ายตรงจุดใดได้บ้าง ตัวอย่างเช่น

รายรับ/รายจ่าย จำนวนเงิน %
เงินเดือน 40,000 100%
หัก ภาษีเงินได้ 600 1.5%
ประกันสังคม 750 1.9%
เงินกู้สวัสดิการ 2,500 6.3%
เงินเดือนสุทธิ 36,150 90.4%
หัก ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (เฉลี่ยวันละ 500 บาท) 15,000 37.5%
ค่าชาชมไข่มุก (เฉลี่ยนวันละ 2 แก้วๆละ 50 บาท) 3,000 7.5%
ค่าเดินทาง (เฉลี่ยวันละ 200 บาท) 6,000 15.0%
ค่าบำรุงรักษารถยนต์ (เฉลี่ย) 1,000 2.5%
ค่าสันทนาการ 2,000 5.0%
ค่าโทรศัพท์
(จำนวน 2 หมายเลข ใช้โปรฯ 535 บาท)
1,070 2.7%
ค่าไฟฟ้า 800 2.0%
ค่าน้ำ 100 0.3%
ค่าส่วนกลาง 1,200 3.0%
เงินเดือนคงเหลือก่อนจ่ายเงินกู้ 6,980 17.5%
หัก ภาระผ่อนเงินกู้ (นอกระบบและในระบบ) 37,500 93.8%
เงินเดือนคงเหลือก่อนจ่ายเงินกู้ -30,520 -76.3%
Zoom

กดที่รูปเพื่อขยายตาราง

table

2) จัดทำบัญชีทรัพย์สิน

เพื่อจะได้รู้ว่ามีทรัพย์สินและของสะสมอะไรบ้าง มูลค่าประมาณเท่าใด จะได้เอาไปขายเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ หรือนำมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อกู้เงินกับธนาคาร เช่น ที่ดิน, บ้าน, คอนโด, รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น

ประเภททรัพย์สิน ราคาซื้อ ราคาตลาด หัก ติดจำนอง/จำนำ มูลค่าสุทธิ หมายเหตุ
นาฬิกา 20,000 30,000 0 30,000 นาฬิกาข้อมือ 3 เรือน
รถมอเตอร์ไซด์ 40,000 30,000 0 30,000 ไม่ติดจำนำ
รถยนต์ 300,000 200,000 190,000 10,000 ติดจำนำทะเบียน ยอดหนี้คงเหลือ 190,000 บาท
คอนโด 1,500,000 1,800,000 900,000 900,000 ติดจำนอง ยอดหนี้คงเหลือ 900,000 บาท
รวมมูลค่า 1,860,000 2,060,000 1,090,000 970,000
Zoom

กดที่รูปเพื่อขยายตาราง

table

3) จัดทำบัญชีหนี้สิน

เพื่อจะได้จัดลำดับความสำคัญของหนี้แต่ละประเภทและวางแผนการชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรวบรวมหนี้สินที่มีทั้งหมดเรียงจากหนี้นอกระบบไปหาหนี้ในระบบ เรียงจากหนี้ที่เสียดอกเบี้ยมากไปหาหนี้ที่เสียดอกเบี้ยน้อย หรือเน้นปิดยอดหนี้น้อยๆให้หมดก่อน เพื่อสร้างกำลังใจในการจ่ายหนี้ ตัวอย่างเช่น

ประเภทหนี้ ชื่อเจ้าหนี้ ประเภทวงเงิน จำนวนเงิน ยอดค้าง อัตราดอกเบี้ย
(ต่อปี)
ยอดผ่อน
ต่อเดือน
หลักประกัน หมายเหตุ
นอกระบบ นาย ก. 1.เงินกู้ 100,000 80,000 120% 10,000 ไม่มี
นอกระบบ นาง ข. 2.เงินกู้ 50,000 45,000 60% 5,000 ไม่มี
ในระบบ ธนาคาร A 3.บัตรกดเงินสด 30,000 30,000 20% 1,500 ไม่มี จ่ายขั้นต่ำ 5%
ในระบบ ธนาคาร B 4.บัตรเครดิต 35,000 35,000 16% 3,500 ไม่มี จ่ายขั้นต่ำ 10%
ในระบบ ธนาคาร C 5.เงินกู้ 200,000 190,000 15% 5,000 จำนำทะเบียนรถยนต์
ในระบบ สวัสดิการ 6.เงินกู้ฉุกเฉิน 100,000 50,000 10% 2,500 ไม่มี หักเงินเดือน
ในระบบ ธนาคาร D 7.สินเชื่อบ้าน 1,500,000 900,000 7% 10,000 จำนองคอนโด
รวมทั้งหมด 2,015,000 1,330,000 37,500
Zoom

กดที่รูปเพื่อขยายตาราง

table

จากตารางบัญชีหนี้สิน พบว่า หนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกคือ เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบทั้ง 2 ราย ส่วนที่เหลือในลำดับที่ 3-7 เป็นหนี้ในระบบ ซึ่งต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับถัดไป หรือจะเน้นปิดบัญชีบัตรกดเงินสด (ลำดับ 3) ให้หมดก่อน เพื่อสร้างกำลังใจในการลดหนี้

มีหนี้หลายก้อนต้องจัดการอย่างไร

เมื่อได้จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย, บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นมาเริ่มหาทางออกในการจัดการหนี้ที่มีหลายก้อนต้องจัดการอย่างไรบ้าง

มีหนี้หลายก้อนต้องจัดการอย่างไร

ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือย

แนวทางนี้สามารถทำได้ทันทีขึ้นกับตัวของผู้กู้เอง จากบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะพบว่ามีค่าใช้จ่าย 2-3 รายการที่สามารถปรับลดลงได้ เช่น ค่าชานมไข่มุก จากวันละ 2 แก้ว เหลือวันละ 1 แก้ว จะทำให้มีเงินเพิ่ม 1,500 บาท ค่าสันทนาการ เช่น ไปเที่ยว, ดูหนัง, ฟังเพลง หากลดกิจกรรมไปสักครึ่งหนึ่ง จะทำให้มีเงินเพิ่มอีก 1,000 บาท ซึ่งยังไม่รวมกับค่าเดินทางที่จะลดลงด้วย มาจากกิจกรรมสันทนาการที่ลดลง และยังมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าโทรศัพท์ที่อาจจะปรับลดลงได้อีกเล็กน้อย แต่ไม่เหมาะกับกรณียอดผ่อนชำระมากกว่าหรือเท่ากับรายได้ต่อเดือน

เพิ่มรายได้

เป็นแนวทางที่หลายๆ คนนิยมทำกัน โดยเฉพาะการไลฟ์สดขายของไม่ว่าจะเป็นของใหม่หรือของมือสอง หรือขายทรัพย์สินบางอย่างออกไป เช่น เสื้อผ้า, รองเท้า, กระเป๋า, เครื่องประดับ, นาฬิกา, รถมอเตอร์ไซด์ เป็นต้น แต่ควรจัดสรรเวลางานให้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เวลางานกับเรื่องส่วนตัว ซึ่งในส่วนนี้อาจจะทำให้ได้เงินมาเป็นกอบเป็นกำ ทำให้ยังใช้จ่ายได้ใกล้เคียงเดิม หรือช่วยเคลียร์หนี้ได้เร็วขึ้น

เจรจากับเจ้าหนี้นอกระบบ**

เพื่อขอขยายระยะเวลาชำระหนี้และขอลดดอกเบี้ยลงมาให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนด หากเจ้าหนี้เป็นคนรู้จักมีแนวโน้มที่จะเจรจากันได้ แต่หากเป็นเจ้าหนี้นอกระบบพวกแก๊งหมวกกันน็อค คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเจรจาได้ และชอบใช้ความรุนแรง ซึ่งอาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐได้ รายละเอียดและช่องทางการติดต่อ ตามรายละเอียดด้านล่าง

เจรจากับเจ้าหนี้ในระบบ

โดยนำบัญชีรายรับ-รายจ่าย บัญชีทรัพย์สินและหนี้ จากนั้นไปติดต่อธนาคารเจ้าหนี้ และเปิดใจคุยกับธนาคาร โดยต้องเล่าถึงสาเหตุที่แท้จริงที่เป็นหนี้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมที่สุด สำหรับแนวทางแก้ไขมีให้เลือกหลายทาง เช่น

  • ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ด้วยการรวมหนี้ โดยขอกู้ใหม่เพื่อนำไปกลบของเก่า เพื่อจะได้ปรับโครงสร้างทางการเงินให้เหลือผ่อนหนี้เพียงทางเดียว ไม่ต้องผ่อนหลายทาง จะทำให้ภาระผ่อนลดลงอย่างมาก หรือกรณีที่มีหลักทรัพย์ปลอดภาระ เช่น ที่ดิน บ้าน ตึกแถว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดฯ หรือรถยนต์ แนะนำให้นำไปค้ำประกันเงินกู้จะทำให้เสียดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าเงินกู้ไม่มีหลักประกัน สำหรับอัตราดอกเบี้ยไม่มีหลักประกัน เท่ากับ MRR+10 หรือ 16.85% ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่มีหลักประกัน เท่ากับ MRR+5 หรือ 11.85% (โปรดตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยทุกครั้งก่อนการกู้เงิน) จะเห็นได้ว่าหากนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันจะทำให้ประหยัดดอกเบี้ยได้สูงถึง 5% เช่น ถ้ากู้เงิน 1,000,000 บาท ส่วนต่างดอกเบี้ย 5% ประหยัดได้ 50,000 บาทต่อปี หรือ 4,167 บาทต่อเดือน (คำนวณแบบปัดเศษ)
  • ปรับเงื่อนไขในการผ่อนชำระ เช่น การขอลดยอดการผ่อนในช่วงแรก หรือผ่อนเฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียว หรือขอหยุดผ่อนทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นกลับมาผ่อนปกติ 2) ขอแปลงหนี้บัตรเครดิต/บัตรเงินด่วน/สินเชื่อหมุนเวียน เป็นเงินกู้ เป็นต้น

ขอยืมเงินคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องที่สนิท

หลายๆ คนมักจะบอกว่าขอเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่บางคนอาจมองว่าเป็นทางเลือกแรกที่ควรจะทำ โดยไปพูดความจริงให้ญาติสนิทฟังทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง ซึ่งเชื่อว่าญาติพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญเมื่อยืมเงินเค้ามาแล้วต้องเลิกพฤติกรรมการสร้างหนี้ลักษณะนี้โดยเด็ดขาด และต้องผ่อนชำระคืนให้ตรงเวลา หากไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ หากในอนาคตมีความจำเป็นจะไม่มีใครให้ความช่วยเหลือเราอีกต่อไป

หลังจากที่ได้รับเงินมาแล้วไม่ว่าจะด้วยแนวทางใดก็ตาม ทั้งขายทรัพย์สินที่มี หรือได้มาจากเงินกู้ธนาคาร หรือหยิบยืมมาจากคนในครอบครัว ให้รีบนำเงินที่ได้รับมาไปชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้ทันทีทุกราย แต่หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ครั้งเดียวทุกราย ให้เริ่มชำระให้เจ้าหนี้ที่เสียดอกเบี้ยมากที่สุดไปยังเจ้าหนี้ที่เสียดอกเบี้ยน้อยที่สุด และมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป เช่น เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน โดยใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น อย่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ยึดหลักออมก่อนใช้ ที่สำคัญหลีกเลี่ยงการกู้เงินนอกระบบ มิฉะนั้นจะกลับเข้าสู่วังวนเดิม คือ การเป็นหนี้ไม่สิ้นสุด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ ธนาคารกสิกรไทย LINE @kbanklive หรือ K-Contact Center 02-8888888 กด 8 กด 1 กด 4 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อผ่านสาขาของธนาคารที่สะดวกได้เช่นกัน หากมีหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันกับหลายสถาบันการเงิน สามารถใช้บริการของคลีนิคแก้หนี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

** ตามกฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้บุคคลธรรมดาห้ามคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี หากฝ่าฝืนลูกหนี้สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้เลย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ส่วนกรณีทวงหนี้โหด ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ก็สามารถแจ้งดำเนินคดีได้เช่นกัน โทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

รายชื่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านหนี้นอกระบบ

  1. ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม โทร 0 2575 3344 หรือ 0 2831 9888 ต่อ 1033, 1202
  2. ศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สามารถยื่นคำร้องขอได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในพื้นที่ หรือที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ถนนแจ้งวัฒนะ โทร. 1111 กด 77
  3. ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ปรึกษาขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดทั่วประเทศ หรือ โทร. 1567
  4. ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โทร. 1359 หรือ 088-223-5070, 082-290-7011, 064-072-0894 และ 097-325-0245
  5. ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 1599
  6. มูลนิธิสุภา วงค์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ โทร. 081-776-3606
  7. สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้คำปรึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับหนี้ โทร. 02-522-7124 ถึง 27 หรือ 02-522-7143 ถึง 47
  8. สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำหรับลูกหนี้นอกระบบที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ สำนักงานอัยการสูงสุด โทร. 02-142-1444 หรือสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (ส่วนกลาง) โทร. 02-142-2034 ต่างจังหวัดติดต่อ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ แต่ละจังหวัด

อ้างอิง : 1แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ธนาคารแห่งประเทศไทย

สนใจบทความที่ช่วยให้คุณรู้จริงเรื่องกู้

คลิกเลย

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

back to top