13/2/2562

ปลุกตำนานชามตราไก่ ของดีถิ่นลำปาง

      ตั้งแต่จำความได้ พนาสิน ธนบดีสกุล ก็ปฏิเสธธุรกิจที่บ้านมาตลอด เพราะมีเส้นทางเดินของตัวเองอย่างแน่ชัดคือ อยากทำงานด้านสิ่งทอ ในขณะที่เส้นทางนักออกแบบลายผ้ากำลังไปได้สวยเมื่อได้รับการเรียกตัวจากบริษัทในประเทศอิตาลี ทว่าธุรกิจชามตราไก่ของครอบครัวเริ่มซบเซาจากผลกระทบทางอ้อมของสงครามอ่าวเปอร์เซีย เขาจึงตัดสินใจพักเส้นทางฝันของตัวเอง เพื่อกลับไปช่วยธุรกิจทางบ้าน

แทนที่จะเป็นฮีโร่ กลับเป็นเจ้าชายตกม้าขาว
พนาสินถูกคุณพ่อปฏิเสธให้ช่วยธุรกิจโดยให้เหตุผลว่า ที่บ้านเป็นเพียงโรงงานเล็กๆ คงไม่สามารถทำงานร่วมกับเด็กนักเรียนนอก แต่ถ้าอยากจะทำงานเซรามิกจริงๆ ต้องพิสูจน์ตัวเอง จึงให้เงิน 4 หมื่นบาทไปสร้างโรงงาน นับเป็นต้นกำเนิด บริษัท ธนบดีอาร์ตเซรามิค ในพ.ศ. 2533 ที่มีเพียงเตาเล็กๆ คนงานหนึ่งคน กับผู้บริหารที่ทำเองทุกอย่างพร้อมนำประสบการณ์ที่เคยทำงานโรงงานกระเบื้องตัดสินใจผลิต Bathroom accessories เป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรก

คิดว่าเก่ง ไม่ได้แปลว่าจะขายสินค้าได้
พนาสินทำธุรกิจโดยไม่ได้สำรวจตลาด เพราะคิดว่าเก่ง ทำสินค้าสวย ราคาถูกคงขายได้ แต่หลังจากที่เขาไปตระเวนขายย่านรัชดา ปรากฏว่าไม่มีร้านค้าไหนซื้อสินค้าเลย เป็นบทเรียนแรกที่ว่าองค์ประกอบของการทำธุรกิจจริงๆ มันไม่ใช่แค่ตัวสินค้าสวยเท่านั้น แต่รวมไปถึงการบริหาร บัญชี การเงิน การตลาดด้วย เมื่อเริ่มเข้าใจระบบธุรกิจก็เริ่มมีการวางแผน เปลี่ยนจากการขายปลีกหันมาเน้นการออกร้านในงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อหวังจับตลาดต่างประเทศที่ชอบงานดีไซน์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จเพราะมีออเดอร์แรกเกิดขึ้น

จุดเริ่มต้นปลุกตำนานชามตราไก่
กว่า 5 ปีที่เริ่มค้นพบเส้นทางใหม่ของตัวเอง ในระหว่างที่กำลังจะไปร่วมงานแสดงสินค้างานหนึ่ง พนาสิน บังเอิญได้เห็นชามตราไก่ในครัว จึงตั้งใจผลิตชามตราไก่แบบออริจินัลไปเป็นกิมมิคในในงานแสดงสินค้า กลับกลายเป็นสินค้าที่ขายดี โดนใจผู้บริโภคในกลุ่ม Baby-boomer ที่เหมือนย้อนความทรงจำให้นึกถึงอดีตเพราะเป็นสินค้าหายไปเกือบ 30 ปี ประจวบกับช่วงที่เกิดวิกฤตฟองสบู่แตกในปี 2540 แต่โรงงานกลับมีออเดอร์ชามตราไก่ผลิตแทบไม่ทันขาย ปลุกกระแสโรงงานเซรามิกในลำปางให้กลับมาผลิตชามตราไก่อีกครั้ง 



วิกฤตที่เข้ามาเหมือนฟ้าผ่ากลางออฟฟิศ

ขณะที่ธุรกิจกำลังไปได้สวยจากบูธเล็กๆ เริ่มขยายกลายเป็นบูธใหญ่ที่ไปร่วมงานแสดงสินค้าในอีกหลายๆ ประเทศ และแล้วเหมือนฟ้าผ่ากลางออฟฟิศเมื่อรัฐบาลได้ประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทจากเดิมค่าแรงในจังหวัดลำปางคือ 165 บาท ทำให้พนาสินคิดว่าต้องปิดโรงงานในปี 2555 เพราะแบกรับต้นทุนสูงขึ้นเกือบเท่าตัวไม่ไหว


วิธีคิดให้ธุรกิจไปรอด
พนาสินบอกว่า หลักการคิดเวลาธุรกิจไปไม่รอดมีสองอย่างคือ ถ้าไม่เพิ่มรายได้ก็ต้องลดค่าใช้จ่าย เขาจึงทำสองขาควบคู่กันไป ในการเพิ่มรายได้ จากเดิมผลิตสินค้าของตกแต่งบ้าน หันมาผลิตสินค้าฟังก์ชันพวก จาน ชามที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนการลดต้นทุน ใช้วิธีคุยกับลูกน้อง 300 ชีวิตตรงๆ เมื่อต้นทุนเพิ่ม 30% ต้องลดต้นทุน 30% จากที่ปกติพนักงานแต่ละคนเคยผลิตได้ 100 ชิ้น/วัน ก็ต้องผลิตได้ 130 ชิ้น/วัน พอทุกคนเข้าใจช่วยกันแก้ปัญหาสามารถผลิตได้ 135 ชิ้น/วัน ทำให้ปลายปี 2556 ยอดขายก็กลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ

     กว่า 50 ปีของชามตราไก่เจ้าแรกในจังหวัดลำปาง แม้จะมีล้มลุกคลุกคลานบ้างซึ่งดูเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ แต่สิ่งที่สำคัญคือล้มแล้วสามารถลุกขึ้นให้ไวและไม่หยุดอยู่กับที่ จากดินที่ปั้นเป็นชามและอีกไม่นานนี้จะได้เห็นเครื่องสำอางที่มาจากดิน ที่มาจากนวัตกรรมของ ธนบดีสกุล ที่จะปั้นให้บริษัทเป็นองค์กรนวัตกรรมต่อไป

​สินเชื่อที่เกี่ยวข้อง : สินเชื่อและบริการยอดฮิต