3/5/2562

ฟาร์มหมูสู้ชีวิต สู่ธุรกิจพันล้าน

​     ไม่กลัวที่จะล้มและไม่จมอยู่กับอดีต ทำให้ ณรงค์ ธรรมจารี กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็ม เอส พี อินเตอร์ ฟู้ดส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจโรงเชือดสุกร และจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละ สามารถก้าวผ่านเหตุการณ์วิกฤตปี 2540 ที่มีเจ้าหนี้มานั่งรอหน้าออฟฟิศเพื่อทวงหนี้ 40 ล้านบาท ท้ายสุดจึงตัดสินใจขายฟาร์มสุกรที่เคยเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้ครอบครัวทั้งหมดแต่ได้เงินมาเพียง 27 ล้านบาท

มุ่งมั่นใช้หนี้ให้หมด
ณรงค์ มีเจตนาที่แน่วแน่ต้องชำระหนี้สินให้ครบทุกบาท ประจวบเหมาะกับในปี 2544 ภาครัฐได้สนับสนุนให้มีโครงการโรงฆ่าสัตว์มาตรฐาน เขาจึงชักชวนให้ผู้เลี้ยงหมูในละแวกใกล้เคียงมาเข้าร่วมโครงการ ด้วยต้นทุนที่เคยเป็นเกษตกรกับความซื่อสัตย์และความยุติธรรมเรื่องราคา พิสูจน์ได้จากรางวัลบรรษัทภิบาลดีเด่น บริษัทได้รับจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1,700 ครอบครัว พร้อมกิจการโรงเชือดหมู 3 แห่ง ที่จังหวัดลำพูน 2 โรงและที่เชียงราย 1 โรง ซึ่งถือเป็นโรงเชือดที่ใหญ่ที่สุดมีกำลังการผลิต 400 ตัวต่อวัน ควบคู่ไปกับการเปิดร้านจำหน่ายเนื้อสุกร โดยยึดโมเดลธุรกิจaต่างชาติเป็นต้นแบบ จนสามารถขยายร้านได้กว่า 72 สาขา

เปลี่ยนคู่แข่งเป็นพลัง
นอกจากต้องสู้กับตัวเองแล้วณรงค์ยังต้องเผชิญกับคู่แข่งทางธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ แต่ไม่ได้ทำให้เขาหวั่นแต่อย่างใด กลับกลายเป็นพลังให้จริงจังในการดำเนินธุรกิจ ณรงค์พยายามศึกษาจากหนังสือ เรียนรู้กลยุทธ์จากผู้ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ การแตกแบรนด์ของโออิชิ ที่เขานำมาปรับใช้ในธุรกิจตนเองสร้างแบรนด์ขึ้นมา 4 แบรนด์ คือ หมูอินเตอร์ พีพีหมูสด เอ็มพีหมูสด และหมูมวลชน เพื่อเข้าให้ถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม รวมทั้งเพิ่มบริการตอบสนองความต้องการลูกค้าให้มากขึ้นจากหมูชั่งกิโลกรัมทำเป็นหมูชำแหละสำเร็จในรูปแบบต่างๆ เช่น สไลด์ใช้กับหมูกระทะ หั่นบางสำหรับทำหมูปิ้ง หั่นเป็นลูกเต๋าสำหรับทำกะเพรา จนได้ใจผู้บริโภคชนิดวันหนึ่งต้องใช้ถุงพลาสติกไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นถุง บริษัทจึงได้สร้างโรงงานผลิตถุงพลาสติกเอง เพื่อลดต้นทุนให้แข่งขันได้ 

เกษตรกรยุค AI
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ อย่าว่าแต่ธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลง ขนาดเดินไม่หยุดก็อาจสะดุดได้เมื่อคู่แข่งเดินเร็วกว่า เหตุนี้ทำให้ณรงค์ ปรับองค์กรนำระบบไอทีมาช่วยการจัดเก็บข้อมูลเพื่อลดการใช้กระดาษ รวมทั้งใช้การสื่อสารออนไลน์เพื่อเชื่อมข้อมูลของทุกสาขาเข้าด้วยกันรองรับการขยายตัวของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับธุรกิจรองรับผู้บริโภคกลุ่มใหม่

     ความฝันของณรงค์ เหมือนการตั้งเป้าหมายที่มีขั้นตอนคือ เริ่มจากฝันว่าทำได้ ฝันตอนลืมตา ตั้งหน้าหาเป้าหมาย ขยายภาคอนาคต กำหนดภารกิจ ทำตามแผนที่คิด จนในที่สุดกลายเป็นบริษัทมีรายได้เฉลี่ยถึงปีละ 2 พันล้านบาท

สินเชื่อที่เกี่ยวข้อง : สินเชื่อและบริการยอดฮิต