27/2/2562

โอกาสของผู้ประกอบการไทยใน CLMV สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค

​​​​      ประเทศในกลุ่ม CLMV มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลให้ประชากรมีรายได้และกำลังซื้อที่สูงขึ้น โดย GDP per capita ของประเทศ CLMV เติบโตโดยเฉลี่ยถึง 5.6% ต่อปีในช่วงปี 2010-2017 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP per capita ของไทยที่ 2.7% และของโลกที่ 1.6%​​​ รายได้ต่อครัวเรือนที่สูงขึ้นส่งผลให้สัดส่วนชนชั้นกลางใน CLMV มีมากขึ้น อีกทั้งประเทศในกลุ่ม CLMV มีการขยายตัวของตัวเมืองพร้อมกับสัดส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคใน CLMV ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรของ CLMV ยังสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภค โดยสัดส่วนประชากรเด็กและวัยทำงานของ CLMV นั้นค่อนข้างสูง ในขณะที่ประชากรสูงอายุมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นใน CLMV ส่งผลให้ยอดขายค้าส่งและค้าปลีกใน CLMV ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางอุปทานภายในประเทศที่มีจำกัด​
      การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไปยัง CLMV นั้นเติบโตรวดเร็วกว่าสินค้าประเภทอื่นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยไทยมีข้อได้เปรียบจากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้าไปยัง CLMV มีไม่มากนัก อีกทั้งผู้บริโภคใน CLMV ส่วนใหญ่มองว่าสินค้าไทยมีคุณภาพสูง ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยสามารถครองตลาด CLMV ได้อย่างเหนียวแน่น นอกจากนี้ ประชากรจาก CLMV เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในการซื้อสินค้าไทยเป็นจำนวนมากระหว่างการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าประเภทเครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยจาก CLMV จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในตลาด CLMV
      ทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกไปยัง CLMV สูงสุดได้แก่ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ สินค้าปศุสัตว์ต่างๆ โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ ในขณะที่ สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังเวียดนามมากสุดได้แก่ ผลไม้ เครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่ม ตู้เย็น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ การส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยัง CLMV ขยายตัวอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยัง CLMV นอกจากนี้ เนื่องจากการขยายตัวของชนชั้นกลางและประชากรส่วนมากใน CLMV ยังอยู่ในช่วงเด็กและวัยรุ่น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์จำพวกเสื้อผ้า เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ซึ่งแม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้ในปัจจุบันยังไม่สูงเท่าที่ควร แต่มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีในอนาคต

สินเชื่อที่เกี่ยวข้อง : สินเชื่อและบริการยอดฮิต