17/10/3102

เลือกประกันชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่าเงิน

​​​​​​​​​​เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่เลือกประกันกันไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับประกันแบบไหน บางคนซื้อประกันเพียงเพราะแค่อยากลดหย่อนภาษีเท่านั้น บางคนก็ถูกชักชวนให้ทำประกันโดยที่ตัวเองอาจไม่ได้ตั้งใจซื้อตั้งแต่แรก และคนส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกทำประกันแบบสะสมทรัพย์เท่านั้น เพราะไม่อยากจ่ายเบี้ยทิ้ง ได้เงินคืนระหว่างทาง และได้เงินก้อนเมื่อครบสัญญา ทำให้มีทุนประกันที่น้อยเกินไป แถมยังต้องจ่ายค่าเบี้ยค่อนข้างสูงอีกด้วย แล้วเราจะมีวิธีเลือกประกันชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่าเงิน K-Expert มีคำตอบในเรื่องนี้มาฝากกัน

หลายคนพอจะทราบแล้วว่าประกันชีวิตแบบพื้นฐานมี 4 แบบด้วยกัน ได้แก่

  1. แบบชั่วระยะเวลา เป็นประกันชีวิตที่จ่ายเบี้ยต่ำ แต่ให้ความคุ้มครองสูง โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น หากมีชีวิตอยู่เลยจากระยะเวลาที่กำหนดไว้จะไม่ได้รับเงินคืน
  2. แบบตลอดชีพ เป็นประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองเป็นหลัก ค่าเบี้ยไม่สูง โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต หรือจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันเมื่ออยู่ครบกำหนดสัญญา
  3. แบบสะสมทรัพย์ เป็นประกันชีวิตที่เน้นการได้รับเงินคืนมากกว่าความคุ้มครองที่ได้รับ และค่าเบี้ยค่อนข้างสูง
  4. แบบบำนาญ เป็นประกันชีวิตที่จะเริ่มจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันเมื่อผู้ทำประกันมีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนจะจ่ายเงินนานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนงวดหรืออายุของผู้ทำประกันที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

เมื่อประกันชีวิตมีหลายแบบ เราจึงควรเลือกแบบประกันให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการทำประกันหรือความต้องการของเรา เช่น หากเราเป็นเสาหลักของครอบครัว หรือมีคนข้างหลังต้องดูแล และต้องการทำประกันเพื่อคุ้มครองครอบครัว โดยเน้นที่ความคุ้มครองเป็นหลัก ก็เหมาะกับการทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ


วิธีเลือกแบบประกันชีวิตให้เหมาะสมและคุ้มค่าเงิน

1. เริ่มจากการกำหนดทุนประกันชีวิต

แนะนำว่าควรมีทุนประกันชีวิตไม่น้อยกว่า 3 เท่าของรายได้ต่อปี บวกด้วยภาระหนี้สินคงค้าง เช่น มีรายได้เดือนละ 50,000 บาท เท่ากับปีละ 600,000 บาท ก็เอามาคูณสามเท่ากับ 1,800,000 บาท หากมีภาระหนี้อีก 200,000 บาท จึงควรมีทุนประกันชีวิตไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท

2. เลือกแบบประกันด้วยเบี้ยที่เราจ่ายไหว​

แนะนำให้ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และแบบตลอดชีพด้วยทุนประกันที่เท่ากัน จากตัวอย่างข้างต้น เมื่อได้ตัวเลขทุนประกันที่ 2 ล้านบาท ก็ให้ทำประกันแบบสะสมทรัพย์ที่ทุนประกัน 1 ล้านบาท และทำประกันแบบตลอดชีพที่ทุนประกัน 1 ล้านบาทเท่ากัน ดังตารางด้านล่างนี้


ทุนประกันชีวิต 2 ล้านบาทค่าเบี้ยประกัน
ทุนประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 1 ล้านบาท70,000-90,000 บาทต่อปี*
ทุนประกันชีวิตแบบตลอดชีพ 1 ล้านบาท30,000-70,000 บาทต่อปี**

*คำนวณค่าเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์จาก ประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ 1525 เพศชายและหญิง อายุ 30-50 ปี

**คำนวณค่าเบี้ยประกันแบบตลอดชีพจาก ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองตลอดชีพ 99/9 เพศชายและหญิง อายุ 30-50 ปี

วิธีนี้จะทำให้เราได้ทั้งทุนประกันที่สูง และยังช่วยลดภาระการจ่ายเบี้ยประกัน ไม่ทำให้เรามีภาระจ่ายเบี้ยที่มากเกินไป เพราะใช้เงินออมแค่ประมาณ 10-15% ของรายได้ต่อปีเท่านั้น แถมยังมีเงินส่วนหนึ่งคืนเมื่อครบกำหนดสัญญาอีกด้วย

สำหรับประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา และแบบบำนาญนั้น จะเหมาะกับคนที่มีลักษณะหรือความต้องการที่แตกต่างกัน โดยประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาจะเหมาะกับคนที่ต้องการความคุ้มครองสูงภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยจ่ายเบี้ยต่ำ เช่น ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อบ้าน (MRTA) ที่คุ้มครองการเสียชีวิตและทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรตลอดระยะเวลาสัญญา ตามทุนประกันที่ลดลง ช่วยให้หมดกังวลเรื่องภาระหนี้สิน และทำให้บ้านอยู่กับครอบครัวที่รักตลอดไป ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญ จะเหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนเกษียณ เพื่อให้มีเงินบำนาญไว้ใช้หลังจากที่เกษียณอายุ แล้ว โดยสามารถสร้างเงินบำนาญไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณได้อย่างแน่นอนตั้งแต่วันนี้

นอกจากนี้ เรายังสามารถนำค่าเบี้ยประกันที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปมาลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้นน่าจะช่วยให้เราได้รู้จักและเข้าใจประกันชีวิตกันมากขึ้น สำหรับคนที่มีประกันอยู่แล้ว อยากให้ลองเช็กกรมธรรม์ที่มีอยู่ว่า เรามีประกันแบบใด มีทุนประกันอยู่ที่เท่าไร เพียงพอแล้วหรือยัง ส่วนใครที่ยังไม่มีประกันจะได้รู้ว่าควรเลือกประกันชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่าเงิน เป็นแบบประกันที่เหมาะกับเรา ด้วยทุนประกันที่เพียงพอ และเบี้ยประกันที่เราจ่ายไหว เงินทุกบาททุกสตางค์ที่จ่ายไปจะได้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดนั่นเอง



K-Expert

ทีมผู้เชี่ยวชาญการให้คำปรึกษาและวางแผนการเงิน

ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย