จัดการหนี้อย่างไรไม่ให้ธุรกิจสะดุด จัดการหนี้อย่างไรไม่ให้ธุรกิจสะดุด

จัดการหนี้อย่างไรไม่ให้ธุรกิจสะดุด

ทางเลือกหนึ่งของแหล่งเงินทุนในธุรกิจ คือ การขอสินเชื่อจากธนาคาร และเมื่อได้เบิกรับเงินกู้มาแล้ว ลำดับต่อมาเป็นเรื่องของการผ่อนชำระหนี้ ซึ่งหลายๆ ธุรกิจมองภาระการผ่อนในแต่ละเดือนว่าเป็นค่าใช้จ่ายประจำอย่างหนึ่ง คล้ายกับเงินเดือน ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่จะต้องจ่ายทุกเดือน ดังนั้น เพื่อต้นทุนการเงินของแหล่งเงินทุนถูกประเมินอย่างถูกต้อง และราบรื่น ไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจ ธุรกิจจะมีแนวทางในการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

จัดการหนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร

จัดการหนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร
  1. ศึกษารายละเอียดและเลือกประเภทของสินเชื่อ ที่ได้รับก่อนว่ามีวิธีการชำระคืนอย่างไร
    • ขอสินเชื่อแบบเงินก้อน (เงินกู้) เป็นการใช้แหล่งเงินทุนระยะยาว เพื่อลงทุนสินทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดินอาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ และแบ่งกำไรจากการขายมาไว้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน ตัวอย่างเช่น ได้รับเงินก้อน 1,000,000 บาท นำกำไรจากการขายมาผ่อนเดือนละ 25,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี หรือ 60 เดือน ผ่อนทุกวันที่สิ้นเดือน (หากตรงกับวันเสาร์หรืออาทิตย์ จะขยับขึ้นมาเป็นวันศุกร์แทน) และผ่อนโดนการนำเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน แล้วระบบจะทำการหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อชำระเงินกู้
    • ขอสินเชื่อแบบเงินหมุน (กู้เบิกเกินบัญชี หรือ โอ.ดี.) จะต่างจากบัญชีเงินก้อน (เงินกู้) เป็นการใช้หมุนเวียนในลูกหนี้ (ออกเงินไปให้ก่อน แล้วค่อยเรียกเก็บเงิน) สินค้าคงเหลือ (ออกเงินไปสต๊อคสินค้า แล้วค่อยเก็บเงิน) ทำให้จำนวนเงินผ่อนไม่ชัดเจน แต่ต้องชำระคืนมากกว่าดอกเบี้ยที่เรียกเก็บในแต่ละเดือน ซึ่งธนาคารจะเรียกเก็บดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือนเช่นกัน ตัวอย่างเช่น มีเงินหมุน 1,000,000 บาท สมมติว่าใช้ไป 900,000 บาท เมื่อถึงสิ้นเดือนจะมีดอกเบี้ยมาเรียกเก็บ จำนวน 9,000 บาท (ตัวเลขโดยประมาณ) ธุรกิจต้องเตรียมเงินเพื่อเข้าบัญชีเงินหมุนไม่น้อยกว่าจำนวนเงินที่ธนาคารเรียกเก็บ แต่หากต้องการเข้าเงินมากกว่าที่เรียกเก็บก็สามารถทำได้เช่นกัน ในฐานะผู้ประกอบการ หากแยกบัญชีหมุนเวียนออกมา จะต้องเห็นบางช่วงเวลาวงเงินถูกใช้เต็ม เมื่อมีการเตรียมผลิต / ซื้อสินค้ามาขาย และในบางช่วงเวลาวงเงินสินเชื่อจะเป็น”ศูนย์” แสดงให้เห็นว่า กิจการสามารถบริหารสภาพคล่องได้ดี ในทางตรงกันข้าม หากวงเงินเต็มตลอดเวลา ชำระได้เพียงดอกเบี้ยใหม่ในแต่ละเดือน ส่งสัญญาณกิจการเริ่มมีปัญหา สำหรับวิธีการผ่อนชำระเงินก้อนกับเงินหมุน ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความ ไขข้อข้อสงสัยวิธีการชำระคืนเงินหมุน (เวียน) และเงินก้อน
  2. จัดทำบัญชี เพื่อจะได้รู้ว่าในแต่ละเดือนมีรายรับ - รายจ่ายเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเหลือกำไรเดือนละเท่าใด การทำบัญชีจะมีประโยชน์กับเจ้าของธุรกิจอย่างมาก นอกจากจะรู้รายรับ - รายจ่าย จะทำให้การบริหารธุรกิจเต็มไปด้วยประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น คุณวิชัย เปิดร้านขายกาแฟ ซึ่งทางร้านมีวัตถุดิบหลัก เช่น กาแฟ ชา โกโก้ ในสัดส่วนที่เท่าๆ กันมาโดยตลอด แต่หลังจากที่ได้รับคำแนะนำให้จัดทำบัญชีแล้วจึง พบประเด็นที่น่าสนใจ คือ กาแฟ มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 85% ในขณะที่ชามียอดขายเป็นอันดับ 2 มีสัดส่วน 10% และโกโก้ มียอดขายในสัดส่วน 5% ดังนั้น ธุรกิจจึงปรับเปลี่ยนปริมาณการสต็อกสินค้าใหม่ โดยกาแฟยังมีปริมาณสต็อกเท่าเดิม แต่ไปลดปริมาณสต็อกชาและโกโก้ลงมา ทำให้มีเงินจำนวนหนึ่งกลับมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจเพิ่ม ซึ่งเป็นผลมาจากการทำบัญชี
  3. แยกบัญชีธนาคารที่ใช้ในธุรกิจกับใช้ส่วนตัวออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อจะได้บริหารเงินสดรับ-จ่ายในธุรกิจได้อย่างแม่นยำ ควรกำหนดเงินเดือนของเจ้าของธุรกิจให้ชัดเจนว่าจะต้องใช้เดือนละเท่าไหร่แล้วทำการจ่ายออกไปให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการนำเงินหมุนเวียนในธุรกิจไปใช้ส่วนตัว เพราะมีโอกาสเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องได้ (หมุนเงินไม่ทัน หรือช็อตเงิน) มีหลายๆ ธุรกิจที่นิยมใช้วิธีการเปิดบัญชีธุรกิจหลายๆ บัญชี เพื่อไว้อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของตนเอง ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอะไร สามารถทำได้เช่นกัน แต่วิธีนี้เจ้าของธุรกิจควรต้องมีการสรุปยอดทุกวัน และโอนเงินไปไว้ในบัญชีที่มีวงเงิน (ถ้ามี) เพื่อเป็นการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายในแต่ละเดือนลงมาได้

ต้องจัดการหนี้อย่างไรเพื่อไม่ให้ธุรกิจสะดุด

หลังจากที่รู้แล้วว่าธุรกิจจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ทีนี้มาดูกันต่อว่าจะมีแนวทางจัดการหนี้อย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้ธุรกิจสะดุด

ต้องจัดการหนี้อย่างไรเพื่อไม่ให้ธุรกิจสะดุด
  1. ควรมีเงินสำรองในธุรกิจ 6 - 12 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ตัวอย่างเช่น ธุรกิจมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 100,000 บาท (ทั้งค่าใช้จ่ายคงที่และค่าใช้จ่ายผันแปร) ดังนั้น ธุรกิจควรมีเงินสำรองไว้ จำนวน 600,000 – 1,200,000 บาท เพื่อไว้รองรับกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา หากธุรกิจมีเงินสำรองธุรกิจจะสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุดชะงัก มีเงินเพียงพอที่จะซื้อสินค้ามาไว้ขาย มีเงินสำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงค่าผ่อนชำระหนี้ธนาคารได้อีกด้วย
  2. หลีกเลี่ยงการเอาเงินหมุนเวียนในธุรกิจไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น (เอาไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย) ข้อนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งที่หลายๆ คนมองข้าม เพราะคิดเพียงว่าเป็นเงินที่หามาได้เอง จะใช้ซะอย่างใครจะทำไม แต่พอถึงเวลาขาดสภาพคล่องขึ้นมา (ช็อตเงิน) จะต้องวิ่งไปหยิบยืมจากคนอื่นๆ หรือไปขอแลกเช็ค ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูง (ร้อยละ 5 หรือร้อยละ 10 ต่อเดือน ถ้าคิดเป็นต่อปี ก็คูณ 12 เป็นร้อยละ 60 หรือร้อยละ 120 ต่อปี) แล้วเหตุการณ์นี้อาจจะทำให้ธุรกิจเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบได้
  3. เตรียมเงินไว้ให้เพียงพอกับค่าผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือน หากบัญชีที่ใช้หักชำระหนี้เป็นบัญชีที่ใช้หมุนเวียนในธุรกิจ (รับ-จ่าย) ธุรกิจก็ทำแค่เพียงกันเงินส่วนหนึ่งไว้ให้เพียงพอกับยอดที่ต้องผ่อนในแต่ละเดือน แต่หากบัญชีที่ใช้หักชำระค่าผ่อนเป็นคนละบัญชีกับบัญชีที่ใช้หมุนเวียนในธุรกิจ แนะนำให้ควรนำเงินเข้าบัญชีล่วงหน้าไว้ 1-2 วันก่อนสิ้นเดือน เพื่อให้ระบบสามารถหักชำระหนี้ได้ เพื่อความสะดวกสามารถตั้งเวลาโอนเงินอัตโนมัติได้ ข้อดี ของการผ่อนชำระหนี้ตรงเวลา จะเป็นการสร้างเครดิตที่ดีได้โดยที่ธุรกิจผ่อนตามเงื่อนไขที่กำหนด หากในอนาคตต้องการขอกู้เงินเพิ่มจะสามารถทำได้โดยง่าย เพราะธนาคารจะมองว่ามีประวัติการจ่ายชำระที่ตรงตามเงื่อนไข
  4. ไม่จำเป็นต้องรีบผ่อนเพิ่มหรือรีบโปะหนี้ (ผ่อนมากกว่าเงื่อนไขที่กำหนด) หลายๆคนอาจเกิดความสงสัยว่าทำไมถึงแนะนำเช่นนี้ เพราะส่วนใหญ่จะเคยได้ยินมาว่าหากต้องการเสียดอกเบี้ยน้อยลงก็ควรจะรีบปิดหนี้ให้เร็ว มีเงินให้ผ่อนมากกว่าเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว แต่ที่บอกเช่นนี้เพราะว่าก่อนที่จะโปะหรือผ่อนเพิ่มขอให้กลับไปสำรวจดูก่อนว่าธุรกิจมีเงินสำรองเพียงพอแล้วหรือไม่ (เงินสำรอง 6 - 12 เท่าของคชจ.ต่อเดือน) ถ้ามีเงินสำรองเพียงพอแล้ว หากต้องการผ่อนเพิ่มหรือโปะก็ทำได้

สำหรับข้อควรรู้ก่อนที่จะผ่อนเพิ่มหรือโปะสำหรับเงินก้อน (เงินกู้) เมื่อได้ผ่อนเพิ่มไปแล้ว หากเกิดช็อตเงินขึ้นมา จะไม่สามารถดึงเงินที่ผ่อนเพิ่มไปแล้วกลับออกมาได้ทันที หากต้องการใช้ต้องทำเรื่องขอกู้ใหม่ ซึ่งจะต่างจากเงินหมุน (กู้เบิกเกินบัญชี หรือ โอ.ดี.) ที่จะสามารถดึงเงินออกมาใช้ได้ทันที แต่ต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่มี

การจัดการด้านการเงิน เช่น การแยกบัญชีส่วนตัวกับธุรกิจ หรือ แยกบัญชีหมุนเวียนกับลงทุนระยะยาว จะช่วยให้เห็นสถานะการเงินของธุรกิจได้ชัด หากมีหลายบัญชีและไม่แยกตามวัตถุประสงค์ จะทำให้การจ่ายคืนต้นทุนให้คู่ค้า ค่าใช้จ่ายโสหุ้ยต่างๆ เห็นภาพไม่ชัดเจน รวมไปถึงต้นทุนทางการเงินด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้การดำเนินธุรกิจราบรื่นแล้ว ยังช่วยเห็นปัญหาและแก้ไขได้ทันก่อนที่ลุกลามได้

สนใจบทความที่ช่วยให้คุณรู้จริงเรื่องกู้

คลิกเลย

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

back to top