28/1/2565

Dyson สำเร็จได้เพราะล้มเหลว 5,000 ครั้ง

เพราะความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน

ล้มเหลวกี่ครั้ง คุณถึงจะถอดใจ? อาจเป็นหลักสิบหรือหลักร้อย แต่ไม่ใช่กับ James Dyson เจ้าของบริษัทเทคโนโลยี Dyson Ltd. ผู้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องดูดฝุ่นไร้ถุงเก็บฝุ่น ที่ความล้มเหลวของการผลิตตัวต้นแบบกว่าห้าพันครั้ง ไม่สามารถหยุดเขาให้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จนวันนี้พาสินค้าครองใจตลาดและกลายเป็นหนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดแห่งเกาะอังกฤษและมหาเศรษฐีระดับโลก

เครื่องดูดฝุ่น Dyson

โดยเบื้องหลังความสำเร็จของเขานั้นอยู่ที่กลยุทธ์ “ล้ม-ลุก-คลุก-คลาน”

ล้มเหลวให้รู้...ทำแบบไหนถึงจะสำเร็จ

  • ล้มเหลว ≠ ไร้ประโยชน์
  • 5,126 คือจำนวนตัวต้นแบบเครื่องดูดฝุ่นที่ James Dyson ทดลองแล้วไม่สำเร็จ ซึ่งไม่ได้ไร้ประโยชน์ เมื่อทุกๆ ความผิดพลาดถูกจดบันทึกและสอนให้รู้ว่า ทำอะไรแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผล บวกกับความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ จนนำมาสู่ความสำเร็จในตัวที่ 5,127 ซึ่งถือเป็นเครื่องดูดฝุ่นไร้ถุงเก็บฝุ่นตัวแรกของโลก โดยออกวางขายในปี 2536

  • ถอยให้เป็น ≠ เสียหน้า
  • แม้ James Dyson จะเคยประกาศในปี 2560 ว่า บริษัทจะหันมาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมควักเงินส่วนตัวกว่า 80,000 ล้านบาท เพื่อเร่งวิจัยและพัฒนาให้เป้าหมายนี้เกิดขึ้นจริง แต่เมื่อผลลัพธ์ที่ได้ไม่สามารถตอบโจทย์ตลาดที่รถต้องมีทั้งประสิทธิภาพที่ดีและราคาที่คนทั่วไปจับต้องได้ เขาจึงยกเลิกโปรเจกต์นี้ไปใน 2 ปีให้หลัง เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลมและไม่ให้กระทบต่อสินค้าอื่นของแบรนด์

3ข้อคิด ล้มบ้างก็ได้ จาก James Dyson

ลุกขึ้นมา...สร้างความแปลกใหม่

  • ย่อส่วนนวัตกรรมจากโรงเลื่อยสู่เครื่องดูดฝุ่น
  • การเห็นโรงเลื่อยใช้เครื่องแยกไซโคลนที่สามารถกำจัดขี้เลื่อยได้จากอากาศ จุดประกายให้ James Dyson หันมาใช้วิธี Cyclone Particle Collector หรือการใช้แรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง เพื่อแยกอนุภาคเล็กๆ ออกจากอากาศ แทนการใช้ถุงเก็บฝุ่นแบบเดิมๆ ที่ต้องคอยเปลี่ยน เพราะฝุ่นอุดตันเร็ว ยิ่งใช้นานแรงดูดยิ่งลดลง มาเป็นเครื่องดูดฝุ่นแบบไร้ถุงและมีประสิทธิภาพในการทำงานดียิ่งขึ้นนั้น สร้างปรากฏการณ์ให้กับตลาดจนกลายเป็นสินค้าขายดีถึงปัจจุบัน แต่กว่าที่จะทำออกมาเป็นสินค้าได้จริง เขาถูกเจ้าใหญ่ของตลาดในขณะนั้นปฏิเสธในการผลิตให้ จนสุดท้ายต้องลุกขึ้นมาผลิตเอง

  • เสริมลูกเล่นให้สินค้า
  • ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ถึงจะใช้สินค้าของแบรนด์ได้ เมื่อ Dyson สร้างเครื่องดูดฝุ่นในเวอร์ชันของเล่นสำหรับเด็ก ซึ่งมีเอฟเฟ็กต์เสียงให้เล่นตอนทำงานบ้าน เพื่อปูนิสัยช่วยเหลือพ่อแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย และเป็นการปลูกฝังการรับรู้ถึงแบรนด์ให้กับกลุ่มผู้ใช้รุ่นเล็กที่อาจกลายเป็นลูกค้าในอนาคตได้แบบเนียนๆ

คลุกวงใน...รู้ความต้องการของผู้บริโภค

  • ความชอบของลูกค้ามาเป็นที่หนึ่ง
  • ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ การรู้ความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญเสมอ เมื่อ James Dyson เลือกที่จะออกแบบให้กล่องเก็บฝุ่นของเครื่องดูดฝุ่นเป็นแบบใสที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ออกมาได้โดนใจลูกค้า ซึ่งอยากจะเห็นว่าฝุ่นที่กำจัดไปนั้นมีมากน้อยขนาดไหน ผลตอบรับคือขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แม้ผลวิจัยตลาดจะบอกว่าไม่มีใครหรอกที่อยากเห็นก็ตาม

  • มองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ รองรับความต้องการของลูกค้า
  • นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าวิจัยเทคโนโลยีสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องของมอเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์(AI) และหุ่นยนต์ รวมถึงร่วมงานกับวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อคงความเป็นผู้นำในตลาดและปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

คืบคลาน...สู่โลกใบใหม่

  • แตกไลน์สินค้าให้หลากหลาย
  • แม้เครื่องดูดฝุ่นจะเป็นสินค้าเรือธงของทาง Dyson แต่ด้วยความเป็นนักประดิษฐ์ที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ของผู้ก่อตั้ง ทางแบรนด์จึงแตกไลน์สินค้า ไม่ว่าจะเป็นพัดลมไร้ใบพัด เครื่องหนีบผม เครื่องเป่าผม ไปจนถึงเครื่องฟอกอากาศ เพื่อขยายโอกาสของธุรกิจไม่ให้ยึดติดอยู่กับสินค้าเพียงประเภทเดียวและตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่

  • เปิด Virtual Store ให้ลูกค้าชอปแบบเสมือนจริง
  • เพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ไม่สามารถเปิดโซนสาธิตสินค้าได้และจับกระแสมาแรงอย่าง Metaverse ทางแบรนด์ได้เปิดตัว Dyson Demo VR ร้านเสมือนจริงให้นักชอปเลือกผลิตภัณฑ์ 3 มิติและถือจับ เพื่อทดลองใช้งานได้จากที่บ้าน รวมถึงเรียนรู้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ได้เหมือนอยู่ที่ร้าน

Dyson Demo VR

ถึงตรงนี้เห็นแล้วว่า แม้ตอนเริ่มต้นจะเปิดมาด้วยความล้มเหลว แต่ระหว่างทางจนถึงปัจจุบัน James Dyson ในวัย 74 ปีไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจเลยสักครั้งที่จะหยุดพัฒนาธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้า ยิ่งไปกว่านั้นยังคอยค้นหานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาออกแบบและพัฒนาสินค้าให้ล้ำหน้ากว่าใครอยู่เสมอ

เคล็ดลับความสำเร็จ แบบ James Dyson