15/10/2564

สลัดทิ้งภาพแบรนด์เก่า เขย่าธุรกิจให้กลับมาทำเงิน

“แบรนด์เก่า” ไม่ได้แปลว่า แบรนด์ที่มีอายุยาวนาน แต่หมายถึง “แบรนด์ที่กำลังจะตกยุค” ถ้าไม่อยากตกที่นั่งลำบาก ถูกลดขั้นให้กลายเป็นแบรนด์นอกสายตาลูกค้า จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องลุกขึ้นมาปรับภาพลักษณ์ เขย่าแบรนด์ให้ดูสดใหม่และเข้ากับสถานการณ์ เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน ซึ่งจะมีวิธีหรือกลยุทธ์แบบไหนบ้าง มาดูกัน...

เปลี่ยนวิธีคุยใหม่ สร้างภาพจำให้ลูกค้า

อย่างที่ทราบกันดี การเกิดวิกฤต COVID-19 นำมาซึ่งประชากรออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ดังนั้น การสื่อสารกับลูกค้าออนไลน์
จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจยุคนี้ โดยวิธีการสื่อสารสามารถทำได้หลายรูปแบบ เพื่อสร้างภาพจำใหม่ให้กับลูกค้า
ยกตัวอย่าง

แบรนด์แม่ประนอม เมื่อปีที่แล้วได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่บนช่องทางออนไลน์ เพื่อสลัดภาพคุณแม่วัยเก๋า ให้กลายเป็นตัวแม่สุดแซ่บที่จะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น โดยปรับตั้งแต่รูปแบบการทำคอนเทนต์ วิธีการเล่าเรื่อง การโต้ตอบกับลูกค้า ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์แม่ประนอมดูเด็กลงและสดใหม่ขึ้น โดยที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโลโก้หรือแบรนด์แต่อย่างใดเลย

แบรนด์น้ำพริกแคบหมูยายน้อย เลือกใช้วิธีการสื่อสารกับลูกค้าในรูปแบบที่เรียกว่า การ Bully สินค้าตัวเอง จนกลายเป็นภาพจำของแบรนด์ เช่น น้ำพริกแคบหมูยายน้อย อร่อยเกินร้อย ให้น้อยสมชื่อ, อร่อยให้ 6 สกปรกให้ 10 หรือ คำแรกติดใจ คำต่อไปติดคอ เป็นต้น ซึ่งการแซว จิกกัดตัวเอง พอให้ได้
อารมณ์แสบๆ คันๆ ถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่จะช่วยสร้างสีสันให้กับแบรนด์ และเหมาะจะใช้สื่อสารกับลูกค้าออนไลน์ในเวลานี้ เพราะทุกคนกำลังอยู่ในภาวะความเครียด

แบรนด์ Petco ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ได้ออกมาสร้างภาพจำใหม่ให้กับแบรนด์ ด้วยการประกาศจะไม่ขายปลอกคอช็อก หรือปลอกคอฝึกน้องหมาแบบอิเล็กทรอนิกส์อีกต่อไป เพื่อย้ำ
ภาพลักษณ์ของธุรกิจว่าเป็นแบรนด์เพื่อสุขภาพสำหรับ
สัตว์เลี้ยง โดยบริษัทมีการปรับหน้าโฮมเพจใหม่ มีการรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพสัตว์เลี้ยงน่ารู้ไว้ให้เจ้าของสัตว์เลี้ยง มีเครื่องมือ Right Food Finder ที่ช่วยเจ้าของเลือกอาหารที่ดีและมีโภชนาการต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง และขายประกันสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย
นอกจากนี้ การสื่อสารที่ให้มุมมองเชิงบวก หรือการแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจผู้บริโภค (Empathy) ยังเป็นอีกวิธีการสื่อสารที่แบรนด์สามารถเข้าไปถึงใจลูกค้าได้ และเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกด้วย

เพิ่มสินค้า-ปรับบริการ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แบรนด์

เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคหลัง COVID-19 ยังเน้นที่การใส่ใจความปลอดภัย ปลอดเชื้อ ดังนั้น การปรับภาพลักษณ์แบรนด์ ด้วยการใช้วิธีเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ที่เชื่อมโยงกับเทรนด์ดังกล่าว จะช่วยให้ธุรกิจอยู่ในสนามต่อไปได้ เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ
ก็สามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง
ร้านพิซซาในอังกฤษที่เปลี่ยนจากการนั่งกินในร้านมาเป็นแบบซื้อกลับบ้าน พร้อมทั้งย้ายครัวจากด้านหลังมาอยู่ข้างหน้า เพื่อให้คนได้เห็นเวลาทำและได้กลิ่นของพิซซา วิธีนี้นอกจากจะสร้างความสบายใจให้กับลูกค้า เพราะสามารถเห็นขั้นตอนการทำได้ ยังช่วยปรับภาพลักษณ์ร้านให้เข้ากับยุคสมัยที่ต้องใส่ใจเรื่องการเว้นระยะห่างได้อีกด้วย
หรือธุรกิจสปามีเทรนด์มาแรง เรียกว่า สปา
ไร้สัมผัส (Touchless Spa Service) ช่วยให้คนใช้บริการโดยไม่ต้องสัมผัสกัน เช่น การบำบัดด้วยความเย็นจัด หรือสปาเยือกแข็ง (Cryotherapy) การบำบัดด้วยการบีบรัด (Compression Therapy) ห้องซาวน่าอินฟราเรด (Infrared Sauna) หรือการลอยตัวบนผิวน้ำในแท็งก์ (Float Tank) เป็นต้น

ปรับโฉมธุรกิจ รับเทรนด์โหยหาความสุข

รู้หรือไม่?

ช่วงเวลาเช่นนี้ เหมาะอย่างยิ่งกับการลุกขึ้นมาปรับโฉม เปลี่ยนภาพลักษณ์
เพื่อทำให้แบรนด์นั้นดูสดใหม่ เข้าตาลูกค้า เพื่อเตรียมรับกับที่ผู้บริโภคพร้อมจ่าย

  • ชอปบำบัด (Retail Therapy)

ผู้บริโภคใช้การชอปเพื่อเยียวยาสุขภาพจิต ซื้อความสุขให้ตัวเอง ซึ่งตามหลักจิตวิทยาแล้ว การมีอำนาจในการตัดสินใจซื้อ จะทำให้นักชอปรู้สึกว่าเป็น
ผู้คุมเกม และบรรเทาความรู้สึกเศร้าให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การได้กลิ่นของใหม่ ได้เห็นสีสันของสินค้าบนชั้นวางหรือหน้าจอออนไลน์ ช่วยให้นักชอปเกิดจินตนาการและหลุดจากโลกของความเป็นจริงได้
ชั่วขณะ รวมถึงการท่องเว็บดูสินค้า แม้จะยังไม่ซื้อ
ก็ส่งผลให้เกิดการหลั่งสารโดพามีน หรือสารแห่ง
ความสุขนั่นเอง

รู้หรือไม่?

สิ่งที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใช้การชอปเพื่อลดความเครียดนั้น หลักๆ ให้ผู้ประกอบการมุ่งเน้นที่การตอบสนองทางด้านอารมณ์ เช่น การใช้โปรโมชัน ลด แลก แจก แถม เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อ การสร้างประสบการณ์ชอปแบบที่ซื้อง่าย จ่ายสะดวก ปลอดภัย ไม่ยุ่งยาก หรือถ้าเป็นการขายผ่านหน้าร้าน ลองสร้างบรรยากาศให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลาย เช่น ปรับอุณหภูมิภายในร้าน หรือใช้ Aromatherapy เข้ามาช่วย เพื่อให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่ภายในร้านได้นานขึ้น

  • เที่ยวล้างแค้น (Revenge Travel)

การเที่ยวเพื่อแก้แค้นหลังจากที่ไม่ได้ออกไปไหนมานาน กลายเป็นอีกเทรนด์ของการโหยหาความสุขของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก

รู้หรือไม่?

ความต้องการท่องเที่ยวจะยังคงมาพร้อมกับความต้องการด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่
ผู้ประกอบการต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม เพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นใจที่สุดว่าจะปลอดภัยจากเชื้อ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ บริการ อาจใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนคน เพื่อช่วยในการเว้นระยะห่าง รวมถึงพยายามดีไซน์บริการที่ทำให้คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติ มากกว่าการต้องอยู่รวมกลุ่มของคน
หมู่มาก

อย่าปล่อยให้วิกฤต เป็นข้ออ้างทำให้แบรนด์เก่าลงไปเรื่อยๆ ถ้าไม่เริ่มเขย่าแบรนด์ให้ความเก่าหลุดออกไปตั้งแต่วันนี้ ธุรกิจคุณ
อาจจะพลาดโอกาสทำเงินก็เป็นได้