17/4/2563

กระแสเงินสดดี บริหารหนี้ไม่สะดุด!

​​​    จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างเวลานี้ กำลังพ่นพิษทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก ยอดขายลดลง แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า ในขณะที่ยอดขายหายไปนั้น ค่าใช้จ่าย รวมถึงภาระหนี้ ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องควักกระเป๋าจ่ายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ เอสเอ็มอีจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจยังคงมีสภาพคล่องและเดินต่อไปได้

หมั่นตรวจกระแสเงินสด เช็คสุขภาพธุรกิจ
    สิ่งสำคัญที่สุดของการจัดการธุรกิจ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะปกติ หรือภาวะไม่ปกติ เฉกเช่นสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในมุมมองของ พิภวัตว์ ภัทรนาวิก รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เรื่องของ “กระแสเงินสด” ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ โดยกระแสเงินสดจะมาจากยอดขายเงินสดที่เข้ามาในธุรกิจ เพียงแต่การทำธุรกิจส่วนใหญ่จะไม่ได้ขายเงินสดทั้งหมด แต่ยังมีการขายเงินเชื่อด้วย ซึ่งก็คือ “ลูกหนี้การค้า” นั่นเอง

    ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณา คือ ยอดขายที่เกิดขึ้นนั้น มาจากลูกหนี้การค้าคุณภาพหรือไม่ เพราะหากลูกหนี้การค้าไม่มีคุณภาพ อาจทำให้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ หรือเก็บได้แต่ล่าช้า แน่นอนว่า ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของธุรกิจโดยตรง

    ที่สำคัญผู้ประกอบการควรรู้ด้วยว่า กำไรขาดทุนทางธุรกิจ ไม่ได้สะท้อนกระแสเงินสดของธุรกิจเสมอไป กล่าวคือ แม้จะมียอดขายมาก แต่หากไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เท่ากับกระแสเงินสดไม่มี ฉะนั้น ยอดขายที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ผู้ประกอบการต้องมั่นใจว่าจะสามารถเรียกเก็บเงินได้ เพื่อทำให้กระแสเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจ

    “การวิเคราะห์ลูกหนี้การค้า จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในเวลานี้ โดยทั่วไปลูกหนี้การค้าจะมีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน คือ คู่ค้ารายเดิม กลุ่มนี้จะค่อนข้างรู้เครดิตกันอยู่แล้ว ในภาวะเช่นนี้ก็อาจจะมีบางรายจ่ายช้าลงบ้าง กับอีกกลุ่มที่เป็นรายใหม่ ในกลุ่มนี้ผู้ประกอบการอาจต้องตรวจสอบมากขึ้นก่อนการซื้อขาย ควรดูว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน มีแบงก์สนับสนุนการเงินให้เขาอยู่ไหม เป็นต้น ซึ่งการวิเคราะห์ลูกหนี้การค้าอย่างละเอียดในช่วงเวลาแบบนี้ ก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการเรียกเก็บเงินไม่ได้ในอนาคตนั่นเอง”

    นอกเหนือจากลูกหนี้การค้าแล้ว กระแสเงินสดยังได้มาจากบริหารสินค้าคงเหลือที่ดีด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยอดขายชะลอตัวลง จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องมีการตรวจสอบสต็อกสินค้า เพื่อเช็กดูว่าสินค้าคงเหลือนั้นๆ เป็นประเภทที่สามารถเก็บไว้ได้นาน หรือเก็บไว้นานแล้วเสื่อมค่าเร็ว หากเป็นกรณีแรก ผู้ประกอบการอาจยังสามารถเก็บสต็อกไว้ได้ เพียงแต่ต้องแลกกับการมีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนกรณีหลังควรต้องรีบระบายสินค้าออกไปให้เร็วที่สุด แม้อาจจะได้กำไรน้อยลงแต่ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้แล้วเสื่อมค่าลงเรื่อยๆ ซึ่งการระบายสต็อกสินค้าออกไปยังช่วยทำให้เกิดกระแสเงินสดกลับเข้ามาด้วย

    นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะกระทบต่อกระแสเงินสด ไม่ว่าจะเป็น การลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนขยายธุรกิจที่เร็วเกินไป หรือลงทุนที่นอกเหนือจากธุรกิจหลัก จนนำไปสู่การก่อหนี้เกินตัว และพลอยทำให้กระแสเงินสดของธุรกิจเริ่มติดขัดตามไปด้วย หรือในเรื่องของรายจ่าย ก็มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดโดยตรงเช่นกัน ในเวลานี้ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ว่า อะไรคือ ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) เช่น ค่าซื้อเครื่องจักร ค่าเช่าที่ เงินเดือนพนักงาน ดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร และอะไรคือ ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าคอมมิชชั่น เพื่อหาวิธีลดค่าค่าใช้จ่ายนั้นๆ ลง ซึ่งโดยหลักๆ แล้วธุรกิจที่มี Fixed Cost สูงมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า ในเวลาที่เกิดวิกฤตหรือยอดขายชะลอตัว



วางแผนจัดการเรื่องหนี้
    ถึงตรงนี้ พิภวัตว์ เชื่อว่า หากผู้ประกอบการยังสามารถบริหารกระแสเงินสดได้ ก็ยังจะไม่กระทบต่อการชำระหนี้ และโดยธรรมชาติของการทำธุรกิจ มักจะมีการสำรองเงินไว้ในกรณีฉุกเฉิน ยกตัวอย่างในหลายๆ ธุรกิจจะมีการสำรองเงินสำหรับการชำระหนี้ธนาคารไว้ 3-6 เดือน ดังนั้น หากเกิดปัญหา หรือสถานการณ์ที่อาจจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ก็ยังทำให้ผู้ประกอบการสามารถชำระหนี้ได้ต่อไปอีก 3-6 เดือน ซึ่งถือเป็นวิธีการบริหารจัดการหนี้อีกทางหนึ่ง

    แต่อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ปัจจุบัน แน่นอนว่า โอกาสที่กระแสเงินสดของธุรกิจเอสเอ็มอีอาจจะชะลอตัวมีสูง จากการที่ขายสินค้าไม่ได้ หรือจากการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้การค้าได้ล่าช้าลง พิภวัตว์ แนะนำว่า ในกรณีลูกหนี้การค้า อาจต้องปรับระยะเวลาการเรียกเก็บให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันต้องใส่ใจในรายละเอียดให้มากขึ้นด้วย เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมา ตั้งแต่เรื่องของเอกสารการเรียกเก็บเงิน ไปจนถึงการจัดส่งสินค้าไปให้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการที่สินค้ามีตำหนิเพียงชิ้นเดียว อาจถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการจ่ายเงินช้าลง หรือปฏิเสธการจ่ายเงินได้

    “ปัญหาลูกหนี้การค้าที่อาจจ่ายเงินล่าช้านั้น แบงก์เองก็มีมาตรการในการช่วยเหลือในสถานการณ์แบบนี้อยู่ตลอด ทั้งเรื่องของขยายเทอมการชำระเงิน การพักชำระเงินต้น ฉะนั้นเวลามีปัญหา เราอยากให้ผู้ประกอบการมาคุยกับแบงก์ แต่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่มักคิดว่าเวลาติดกับดักสภาพคล่องแล้วทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์แล้ว หลายคนเลยเลือกไปใช้เงินกู้นอกระบบ ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนจะสูงกว่า”

    “ทางที่ดีคือ ควรมองธนาคารเป็นที่ปรึกษา หากสภาพคล่องธุรกิจตึงมาก อาจเจรจาขอผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนน้อยลง หรือขอขยายระยะเวลาในผ่อนชำระนานขึ้น หรือแม้แต่การขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเพื่อช่วยเติมสภาพคลองให้ธุรกิจ สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าน่าจะเป็นทางออกให้กับผู้ประกอบการในสถานการณ์แบบนี้ได้ เพราะแบงก์ก็มีโปรแกรมช่วยเหลือที่จะยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ต่างๆ”

    จะเห็นได้ว่า หนี้ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมี จะไม่เกิดปัญหาหรือต้องกลายเป็นหนี้เสียเลย หากรู้จักบริหารจัดการกระแสเงินสด และยิ่งในภาวะที่ต้องเผชิญความยากลำบากจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้แบบนี้ การให้ธนาคารเป็นที่ปรึกษาช่วยวางแผนด้านการเงิน น่าจะทำให้ทุกคนสามารถผ่านความยากนี้ไปได้

​​​

สินเชื่อที่เกี่ยวข้อง : สินเชื่อและบริการยอดฮิต​