25/12/2558

เตรียมพร้อมการเงินให้ธุรกิจส่งออกก้าวสู่ AEC

​​​​       ในปี 2559 นี้ประเทศไทยเราก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มตัวแล้ว ผู้ประกอบการ SME พร้อมหรือยัง ที่จะคว้าโอกาสในการส่งออกสินค้าจากไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 10 ประเทศ ถ้าคุณเป็นธุรกิจหนึ่งที่กำลังมองหาช่องทางขยายตลาด นอกจากเรื่องโอกาสทางการตลาดที่จำเป็นต้องรู้ ก็ยังมีเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่คุณไม่ควรมองข้าม เรามาเตรียมความพร้อมทางการเงินให้ธุรกิจส่งออก เพื่อก้าวเข้าสู่ AEC กับ 4 ข้อพื้นฐาน ต่อไปนี้กัน

1. ศึกษาเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
เนื่องจากการส่งสินค้าออกไปขายก็ต้องมีต้นทุนด้านการขนส่ง ภาษีต่างๆ รวมถึงการทำประกันการขนส่งสินค้า ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ผู้ประกอบการมักจะลืมนำมาคำนวณเป็นต้นทุนด้วย รู้ตัวอีกทีต้นทุนส่วนนี้ก็กินกำไรไปเกือบหมดแล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ควรจะมีการตกลงกับคู่ค้าตั้งแต่แรกว่าใครจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง ควรมีการแบ่งกันให้ชัดเจน เช่น เรารับภาระค่าใช้จ่ายตั้งแต่นำสินค้าออกจากโรงงานไปจนถึงท่าเรือ แล้วคู่ค้ารับภาระค่าใช้จ่ายตั้งแต่ยกสินค้าขึ้นเรือเป็นต้นไป นอกจากนี้ในแต่ละประเทศจะมีการเรียกเก็บภาษีที่แตกต่างกันออกไปตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ ซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษากฎระเบียบต่างๆ ให้ดี และปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างเคร่งครัด

2. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของธุรกิจคู่ค้า
เพราะทำธุรกิจอยู่กันคนละประเทศ จึงมีโอกาสที่จะถูกโกงสูง ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับการเลือกคู่ค้ามากๆ เพื่อลดความเสี่ยงลง โดยพิจารณาคู่ค้าที่มีความน่าเชื่อถือ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประวัติดี ซึ่งข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้สามารถสอบถามจากคนในพื้นที่ หรือตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยงานราชการ นอกจากนี้การทำประกันการซื้อขายสินค้ายังเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้อีกขั้น

3. รู้จักรูปแบบการชำระ
เงิน ขึ้นอยู่กับความเชื่อใจกันของคู่ค้า ซึ่งก็มีความเสี่ยงมากน้อยไม่เท่ากัน โดยรูปแบบการชำระเงินที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ มีดังนี้
  • การจ่ายเงินล่วงหน้า (Cash or Advance Payment) คือ ผู้ซื้อต้องโอนเงินให้ผู้ขายก่อน จึงจะส่งสินค้าให้
  • การจ่ายเงินเชื่อ (Open Account) คือ ผู้ขายต้องส่งสินค้าไปก่อน แล้วผู้ซื้อถึงจะชำระเงิน
  • การชำระเงินโดยเรียกเก็บเงินผ่านธนาคาร (Bill for Collection) คือ ผู้ขายส่งสินค้าไปก่อน จากนั้นจะส่งเอกสารไปเรียกเก็บเงินผ่านธนาคารของฝั่งผู้ขายไปยังธนาคารของผู้ซื้อ เพื่อให้ธนาคารผู้ซื้อเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อจ่ายค่าสินค้าตามเงื่อนไขแล้ว จึงจะสามารถนำเอกสารนั้นไปเอาสินค้าออกมาได้
  • Letter of Credit (L/C) วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมที่สุด เพราะทั้งผู้ขายและผู้ซื้อแทบไม่มีความเสี่ยง วิธีการก็คือ ผู้ซื้อจะเปิด L/C ผ่านธนาคารมายังผู้ขายมีการระบุเงื่อนไขต่างๆ ใน L/C เมื่อผู้ขายส่งสินค้าถูกต้องตามเงื่อนไขก็นำเอกสารไปขึ้นเงินกับธนาคารได้เลย

4. ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศนั้น ต้องมีการตกลงกันเรื่องสกุลเงินที่จะใช้ค้าขาย ไม่ว่าจะเงินบาท เงินสกุลของประเทศนั้นๆ หรือจะใช้สกุลเงินกลาง เช่น ดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งการใช้สกุลเงินอื่นๆ นอกจากเงินบาท จะมีความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นๆ ลงๆ ที่จะส่งผลไปถึงต้นทุนและกำไรของธุรกิจ ผู้ประกอบการที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงก็สามารถใช้บริการการทำสัญญาซื้อขายเงินล่วงหน้า (Forward Contract) ได้

      นอกจากการเตรียมความพร้อมด้านการเงินแล้ว การบุกตลาดไปยังต่างประเทศ ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค วัฒนธรรมความเป็นอยู่ รวมทั้งกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้กระจ่าง และควรมีบุคลากรที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ หรือภาษาท้องถิ่นนั้นๆ ได้ สำคัญที่สุดคือตัวผู้ประกอบการเองที่พร้อมเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ 
​​