12/8/2559

6 ทางเลือกหลักประกัน ปลดล็อคข้อจำกัดธุรกิจ

​​     ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตัวเล็กๆ อย่างเรามีข้อจำกัดในการทำธุรกิจมากมาย ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง สายป่านยาวเหมือนธุรกิจใหญ่ๆ เมื่อมีความจำเป็นต้องการเงินทุนขึ้นมาแต่ละที ต้องไปขอกู้ธนาคาร แต่มักติดปัญหาว่าไม่มีหลักประกัน จึงขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งก็เหมือนถูกปิดประตูทางธุรกิจ

     ในปัจจุบันประเทศไทยมีเอสเอ็มอีจำนวน 2.8 ล้านราย แต่มีเพียง 30% หรือ 800,000 รายเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนธุรกิจ ดังนั้น พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 จึงถือเป็นการเปิดโอกาสและสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น จากการลดข้อจำกัดการนำทรัพย์สินมาใช้เป็นหลักประกันกับธนาคาร ทำให้เอสเอ็มอีสามารถนำทรัพย์สินหลากหลายประเภทมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ไม่จำกัดเฉพาะแค่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหมือนในอดีต และยังสามารถใช้หลักประกันหรือทรัพย์สินนั้นดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้กับธนาคาร เพียงแต่เจ้าของทรัพย์สินจะต้องยินยอมให้นำทรัพย์สินนั้นจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทีนี้มาดูกันดีกว่าว่าตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทรัพย์สินอะไรบ้างที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันสินเชื่อธุรกิจเพิ่มเติมได้อีก

 
1. กิจการ เอสเอ็มอีสามารถนำกิจการของตัวเองที่ดำเนินธุรกิจอยู่มาเป็นหลักประกันได้ ไม่ว่ากิจการนั้นจะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม 

 
2. สิทธิเรียกร้องต่างๆ หมายถึง สิทธิที่ธนาคารจะสามารถเรียกร้องเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินอย่างอื่น โดยสิทธิเรียกร้องที่สามารถเป็นหลักประกัน เช่น สิทธิการเช่า บัญชีเงินฝาก ลูกหนี้การค้า เป็นต้น  

 
3. สังหาริมทรัพย์ ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร เครื่องมือที่ใช้ผลิตสินค้า สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า เป็นต้น

 
4. อสังหาริมทรัพย์ เฉพาะกรณีที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยตรง เช่น ผู้ประกอบกิจการคอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร จัดสรรที่ดินเปล่า เป็นต้น

5. ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า รวมถึงความลับทางการค้า และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น มะขามหวานเพชรบูรณ์ ไข่เค็มไชยา เป็นต้น

 
6. ทรัพย์สินอื่นตามกฎกระทรวง ในอนาคตหากมีทรัพย์สินอื่นใดที่มีความเหมาะสมที่จะนำมาจดทะเบียนได้ ก็สามารถประกาศกำหนดเพิ่มเติมในกฎกระทรวงได้

 
      ทั้งนี้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคารไม่ได้ดูที่หลักประกันเพียงอย่างเดียว แต่ยังพิจารณาถึงวัตถุประสงค์การใช้เงิน ความสามารถในการชำระหนี้ และแผนธุรกิจประกอบกัน 

ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สอบถามเพิ่มเติม โทร.1570 หรือ ​http://goo.gl/80wnJY


​สนใจสมัครสินเชื่อ SME 
คลิกที่นี่​​