5/10/2560

4 วิธีชำระเงิน เลือกให้เหมาะ ส่งออกฉลุย

​​       เทคโนโลยีย่อโลกให้แคบลง การที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะออกไปคว้าโอกาสจากตลาดที่ใหญ่ขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป การทำธุรกิจสมัยนี้ผู้ประกอบการต้องมองหาโอกาสให้ธุรกิจตัวเองอยู่เสมอ การออกไปบุกตลาดนอกบ้านเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายตลาดเพิ่มฐานลูกค้าได้มากขึ้น เราจึงเห็นผู้ประกอบการไทยทำธุรกิจค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่อยากจะออกไปบุกตลาดต่างแดนบ้างนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้จักก็คือช่องทางในการรับจ่ายเงิน ซึ่งแต่ละแบบก็มีความเสี่ยงมากน้อยไม่เท่ากัน โดยรูปแบบการชำระเงินที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ มีดังนี้​​

       1. การชำระเงินล่วงหน้า (Advance Payment) คือ ผู้ซื้อต้องชำระเงินหรือโอนเงินให้ผู้ขายก่อน แล้วผู้ขายจึงจะส่งสินค้าให้ โดยผู้ขายจะเป็นคนจัดทำเอกสารการส่งออกส่งให้ผู้ซื้อ แต่วิธีนี้ความเสี่ยงจะตกอยู่ที่ผู้ซื้อเพราะว่าจ่ายเงินให้ผู้ขายไปแล้ว อาจได้สินค้าไม่ตรงสเป็ก สินค้าจัดส่งช้า หรืออาจไม่ได้รับสินค้าเลย ซึ่งผู้ซื้อสามารถป้องกันได้โดยการให้ผู้ขายทำหนังสือค้ำประกัน (Advance Payment Standby / Guarantee)​

       2. การเปิดบัญชีขายเชื่อ (Open Account) คือ ผู้ขายต้องส่งสินค้าไปก่อน แล้วผู้ซื้อถึงจะชำระเงิน ผู้ขายจะเป็นคนจัดทำเอกสารการส่งออกส่งให้ผู้ซื้อ วิธีนี้ผู้ขายต้องแบกรับความเสี่ยงโดยตรงเพราะต้องส่งสินค้าไปก่อน แต่อาจได้รับเงินช้าหรือไม่ได้รับเงินเลยก็ได้ ซึ่งผู้ขายสามารถป้องกันความเสี่ยงด้วยการให้ผู้ซื้อทำหนังสือค้ำประกัน (Commercial Standby / Guarantee)

      3. การชำระเงินโดยตั๋วเรียกเก็บ (Bill for Collection) คือ ผู้ขายส่งสินค้าไปก่อน จากนั้นธนาคารของฝั่งผู้ขายจะส่งเอกสารไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารของผู้ซื้อ เพื่อให้ธนาคารฝั่งผู้ซื้อแจ้งผู้ซื้อว่ามีเอกสารเรียกเก็บเงินมาถึง เมื่อผู้ซื้อชำระเงินตามจำนวนหรือรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว จึงจะสามารถนำเอกสารจากธนาคารผู้ซื้อไปรับสินค้าออกมาได้ แต่วิธีนี้ผู้ซื้อมีความเสี่ยงเนื่องจากอาจได้รับเอกสารที่ต้องใช้ในการออกสินค้าล่าช้าในขณะที่สินค้าเดินทางมาถึงแล้ว ส่วนทางฝั่งผู้ขายเองก็มีความเสี่ยงคือผู้ซื้ออาจไม่ยอมรับสินค้า ขอต่อรองราคา เปลี่ยนเงื่อนไข ขอเลื่อนวันชำระเงิน หรือไม่ยอมชำระเงิน

       4. การชำระเงินโดยเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit หรือ L/C) วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมที่สุด เพราะทั้งผู้ขายและผู้ซื้อแทบไม่มีความเสี่ยง วิธีการก็คือผู้ซื้อจะเปิด L/C ผ่านธนาคารของผู้ซื้อไปยังธนาคารของผู้ขายมีการระบุเงื่อนไขต่างๆ ใน L/C จากนั้นผู้ขายจึงจะส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อ เมื่อผู้ขายส่งสินค้าตามเงื่อนไขก็นำเอกสารการส่งสินค้าและเอกสารตามเงื่อนไข L/C ไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารของผู้ขายได้เลย ทางฝั่งผู้ซื้อก็ต้องชำระเงินแล้วธนาคารของผู้ซื้อก็จะมอบเอกสารต่างๆ ให้ผู้ซื้อไปรับสินค้าออกมา จะเห็นว่าวิธีนี้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไม่มีใครได้เปรียบใคร เพราะมีธนาคารของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นคนกลาง จึงเป็นวิธีที่ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกใช้กันอย่างแพร่หลาย

       ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศต้องมีการตกลงกันเรื่องสกุลเงินที่จะใช้ในการค้าขาย ไม่ว่าจะเงินบาท เงินสกุลของประเทศคู่ค้า หรือจะใช้สกุลเงินกลาง เช่น ดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะส่งผลไปถึงต้นทุนและกำไรของธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการใช้บริการสัญญาซื้อขายเงินล่วงหน้า (Forward Contract) ได้ การศึกษารูปแบบการชำระเงินวิธีต่างๆ จะช่วยให้ผู้ประกอบการประเมินความเสี่ยงที่ธุรกิจสามารถรับได้ อย่างไรก็ดี การจะเลือกใช้รูปแบบการชำระเงินแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อใจและอำนาจการต่อรองระหว่างธุรกิจกับคู่ค้าด้วย


บริการที่เกี่ยวข้อง : ​​​​บริการแจ้งการเปิด / แก้ไข / ยกเลิก เลตเตอร์ออฟเครดิต