12/5/2564

บ้านไร่ ไออรุณ ฉีกกฎธุรกิจ เปลี่ยนทำเลที่ถูกเมิน กลายเป็นฟาร์มสเตย์สุดฮอต

ถึงวันนี้ บ้านไร่ ไออรุณ จะถูกวิกฤต COVID-19 ไล่ต้อนจนธุรกิจซวนเซ แต่ด้วยพลังความเป็นนักสู้ของ “วิโรจน์ ฉิมมี” เจ้าของฟาร์มสเตย์แห่งนี้ รวมถึงความเข้มแข็งของคนในชุมชน ที่ร่วมกันฟันฝ่าวิกฤต จึงทำให้ธุรกิจยังเดินหน้าได้ต่อ

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บ้านไร่ ไออรุณ ต้องเผชิญความยากลำบาก หากย้อนไปช่วงเริ่มต้นที่ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ เพราะกฎของการทำธุรกิจที่พัก ต้องพึ่งพาทำเลเป็นปัจจัยสำคัญ แต่บ้านไร่ ไออรุณ กลับฉีกกฎข้อนี้ ด้วยการสร้างจุดขายและจุดแข็งใหม่ เพื่อปิดจุดด้อยที่ว่า “โลเกชันตรงนี้ไม่สามารถเป็นรีสอร์ตได้”

จุดขายและจุดแข็งที่ว่านี้ คืออะไร? มาเปิดเผยให้รู้กัน จากงานสัมมนา Live Concern : เพลย์ลิสต์ พลิกเกมธุรกิจ ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้น ในหัวข้อ “คืนที่ดาวเต็มฟ้า สร้างสรรค์เรื่องราว ปั้นดินให้เป็นดาว”


สร้างจุดขายให้ต่างด้วย Creative

เมื่อสถาปนิกเมืองกรุง คิดจะทำความฝันในวัยเยาว์ให้เป็นจริง ที่อยากมีบ้านสวยๆ จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด เพื่อเริ่มต้นธุรกิจฟาร์มสเตย์ ณ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง แต่ต้องเจออุปสรรคใหญ่ เพราะทำเลของบ้านที่ตั้งใจจะเปลี่ยนให้เป็นฟาร์มสเตย์นั้น ไม่ตอบโจทย์ เพราะทั้งลึกทั้งไกล จนมีหลายเสียงคัดค้าน เพราะมองไม่เห็นหนทางความสำเร็จ

ดังนั้น บนโลเกชันที่ใครๆ บอกว่าเป็นไปไม่ได้ วิโรจน์จำเป็นต้องสร้างจุดขายใหม่ให้กับที่พักของตัวเอง โดยใช้ความ Creative เพื่อสร้างสิ่งที่แตกต่าง ในการจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวยอมเดินทางไกลมาถึงบ้านไร่ ไออรุณ

  • สร้างในสิ่งที่บ้านเขาไม่มี ด้วยกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนเมือง ดังนั้น โจทย์ในการทำให้บ้านไร่ ไออรุณแตกต่าง จึงต้องเป็นสิ่งที่เขาหาไม่ได้ในเมืองหรือที่บ้านเขาไม่มี เช่น ห้องใต้หลังคา บ้านบนต้นไม้ มีแปลงผักหน้าบ้าน มีลำธารไหลผ่าน เป็นต้น ดังนั้น การออกแบบที่พัก 15 หลังบนพื้นที่กว่า 40 ไร่ แต่ละหลังจะแตกต่างกันไป เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในเมือง

“ความฝันในตอนเด็ก เป็นจุดที่คนส่วนใหญ่โหยหา สามารถสร้างพลังดึงดูดให้คนได้ ผู้ประกอบการสามารถเอาตรงนี้ไปปรับใช้ได้ ดูว่าความฝันในวัยเด็กของแต่ละคนมีอะไรบ้าง อาจจะสร้างเป็นกิมมิกเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อดึงดูดใจลูกค้า”

เสริมจุดแข็งให้แบรนด์ดังด้วย Content

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังเสริมจุดแข็งให้กับแบรนด์บ้านไร่ ไออรุณ ด้วยการทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง จนมีผู้ติดตามเพจมากเกือบ 800,000 คน ทำให้ชื่อเสียงของบ้านไร่ ไออรุณ เป็นที่รู้จักและเกิดการบอกต่อ โดยไม่เคยเสียเงินค่าโฆษณา หรือใช้บล็อกเกอร์ หรือ Influencer มาช่วยโปรโมตแต่อย่างใด

  • การเล่าเรื่อง (Storytelling) เป็นกลยุทธ์ที่บ้านไร่ ไออรุณ ใช้ในการทำคอนเทนต์ โดยใช้การเล่าเรื่องราวด้วยภาษาที่เป็นกันเองผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็น ตั้งแต่ช่วงเริ่มปรับปรุงที่พัก เล่าให้เห็นว่าบ้านไร่ ไออรุณทำอะไร อย่างไรบ้าง หรือเล่าเรื่องราวของคนในชุมชน ที่มีส่วนช่วยให้บ้านไร่ ไออรุณเดินมาถึงวันนี้ได้ การเล่าเรื่อง สามารถทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น “การทำคอนเทนต์แบบ Storytelling ให้ได้ใจลูกค้า ต้องเป็นการเล่าจากเรื่องจริง และเล่าจากความรู้สึกข้างใน เพื่อส่งต่อให้คนบนโลกออนไลน์ได้รับรู้”

ปรับเกมบุก สู้วิกฤตรอบใหม่

ในสถานการณ์ COVID-19 บ้านไร่ ไออรุณเองก็ต้องปรับตัวอยู่ตลอด อย่างรอบแรกที่ต้องหยุดกิจการไป ก็ปรับเปลี่ยนไปขายน้ำพริกออนไลน์แทน โดยใช้วัตถุดิบที่มีและพนักงานที่มีอยู่กว่า 50 ชีวิต มาช่วยกันฝ่าวิกฤต ถึงแม้ยอดขายน้ำพริกจะได้มาเป็นหลักล้าน แต่สำหรับ COVID-19 รอบใหม่นี้ กลับไม่เลือกใช้วิธีเดิม เพราะรู้แล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถนัด

โดยครั้งนี้เลือกเอาสิ่งที่ตัวเองมี คือ บ้านพัก และรถ มาครีเอตใหม่เพื่อสู้กับวิกฤต โดยใช้กลยุทธ์เจาะตลาดคนในพื้นที่ระนอง ด้วยการลดราคา 50% เพื่อกระตุ้นให้คนระนองเข้ามาพัก พร้อมปรับรถให้กลายเป็น “รถพุ่มพวง” วิ่งขายพืชผลต่างๆ ของทางบ้านไร่ ไออรุณ ให้กับคนในพื้นที่เช่นกัน

นอกจากนี้ แม้ช่วงเวลาที่ยังไม่มีลูกค้าเข้าพัก ยังให้พนักงานช่วยกันทำความสะอาด ปรับปรุงซ่อมเเซมให้บ้านไร่ ไออรุณสะอาด สวยงามอยู่เสมอ รวมถึงช่วยกันทำอาหารวันละ 50 ชุด เพื่อนำไปให้กับเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการเเพทย์ โรงพยาบาลสนาม ในหมู่บ้านของอำเภอกะเปอร์

เห็นพลังของการไม่ยอมแพ้แบบนี้ เชื่อว่าบ้านไร่ ไออรุณจะสามารถพลิกวิกฤตมาเป็นโอกาสได้อย่างแน่นอน