18/3/2565

รู้ทัน 10 กลโกงมิจฉาชีพ ช่วยธุรกิจไม่สูญเงินในพริบตา

content1

ปัญหาการถูกหลอกจาก “มิจฉาชีพ” ได้สร้างความเสียหายปีหนึ่งๆ คิดเป็นมูลค่าแล้วมหาศาล โดยข้อมูลจาก “ตำรวจสอบสวนกลาง” บอกไว้ว่า จากสถิติในปี 2564 มีผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เข้าแจ้งความกว่า 1,600 ราย รวมมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1,000 ล้านบาท

แน่นอนว่า ทุกคนย่อมมีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ มาดูสิว่า กลโกงจากมิจฉาชีพจะมาในรูปแบบไหนได้บ้าง และธุรกิจจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไร

มิจฉาชีพทาง “ออนไลน์”

content3
  • ใช้สลิปปลอม โพสต์ตามสินค้า
  • เป็นอีกภัยใกล้ตัวของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เมื่อต้องเจอมิจฉาชีพสวมรอยเป็นลูกค้า โดยอ้างว่า ไม่ได้รับสินค้า แล้วโพสต์สลิปปลอมเพื่อตามสินค้า กรณีนี้มักเกิดกับธุรกิจออนไลน์ที่มีออร์เดอร์จำนวนมาก จึงคิดว่ามีบางออร์เดอร์ตกหล่น จึงได้ส่งสินค้าไปให้กับลูกค้าตัวปลอม

  • แอปฯ เงินกู้ออนไลน์
  • เงินกู้ออนไลน์ กลายเป็นทางเลือกสำหรับเจ้าของธุรกิจจำนวนไม่น้อย ทำให้มิจฉาชีพใช้โอกาสตรงนี้หลอกล่อผู้คน โดยคำเชิญชวนประเภท “กู้เงินด่วน อนุมัติไวใน 15 นาที” จากนั้นจะหลอกให้ผู้กู้จ่ายค่าธรรมเนียม หรือดอกเบี้ยงวดแรก หรือเงินมัดจำสำหรับการกู้ยืม หากหลงเชื่อโอนเงินให้ มิจฉาชีพก็จะหายตัวไปทันที

  • ลิงก์ปลอม (Phishing) ขโมยข้อมูลส่วนตัว
  • ลิงก์ที่ส่งมาให้ ไม่ว่าจะเป็นทาง SMS หรืออีเมล รวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ อาจเป็นหนึ่งในรูปแบบการโจรกรรมข้อมูลออนไลน์ที่เรียกว่า Phishing หรือการล้วงข้อมูลสำคัญของผู้ใช้งาน หากใครหลงเชื่อคลิกเข้าไปแล้วกรอกข้อมูลสำคัญ คุณอาจจะกลายเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพทันที

tip icon

Tip :

กรณีสลิปปลอม เจ้าของธุรกิจสามารถพึ่งพาระบบการชำระเงินของธนาคารเพื่อป้องกันปัญหาสลิปปลอมได้

กรณีกู้เงินออนไลน์ สามารถเช็กรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อ ได้จากเว็บไซต์ ธปท.

กรณีลิงก์ปลอม (Phishing) อย่ากรอกข้อมูลส่วนตัวเด็ดขาด โดยเฉพาะเลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขหน้า/หลังบัตรเครดิต รหัสผ่าน รวมถึงรหัส OTP 6 หลัก

มิจฉาชีพสวมรอยเป็น “คู่ค้า”

content4
  • บริษัททิพย์ ไม่มีอยู่จริง
  • ในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำการค้ากันโดยไม่เคยเจอหน้า มิจฉาชีพจึงอาศัยช่องว่างนี้ ด้วยการเปิดเว็บไซต์ขึ้นมา โดยที่ไม่มีบริษัทจริงและอาจจะทำการปลอมใบสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นมากขึ้น จากนั้นก็จะทำหลอกขายสินค้าให้กับคู่ค้าที่หลงเชื่อ

  • เจาะข้อมูลคู่ค้า สวมรอยรับเงิน
  • บ้างครั้งมิจฉาชีพอาจจะมาในรูปแบบของแฮกเกอร์ คุณอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า คู่ค้าที่ติดต่ออยู่นั้นใช่ตัวจริงหรือไม่ เพราะคุณอาจจะถูกเจาะข้อมูลแล้วทำการเปลี่ยนแปลงชื่ออีเมลให้แตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย จนแทบสังเกตไม่เห็น หรืออาจมีการเปลี่ยนเลขที่บัญชีธนาคารและข้อมูลอื่นๆ ทำให้เงินที่โอนไป ไม่ถึงคู่ค้าตัวจริง

  • ของถูก ล่อใจให้รีบโอน
  • ของถูก ของลดราคา ใครๆ ก็อยากได้ มิจฉาชีพจึงใช้ตรงจุดนี้เป็นตัวหลอกล่อ โดยจะโน้มน้าวให้คุณต้องรีบตัดสินใจซื้อ โดยใช้เวลาเป็นตัวกระตุ้น เช่น โอนเงินมัดจำภายในเวลานี้ จะได้ส่วนลดเท่านี้ เมื่อหลงเชื่อโอนมัดจำก้อนแรกไปให้ คนร้ายก็จะหายตัวไปในทันที

tip icon

Tip :

กรณีคู่ค้าใหม่ ควรเช็กให้แน่ใจว่า คู่ค้ามีตัวตนอยู่จริง เช่น ตรวจสอบรายชื่อจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือใช้การขอหนังสือค้ำประกันจากคู่ค้า (K Connect LG) เพื่อช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มความน่าเชื่อถือของคู่ค้าได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้อย่างสะดวก รวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องไปสาขาธนาคาร และที่สำคัญอย่าเห็นแก่ของถูก จนลืมระมัดระวังตัวเอง

กรณีคู่ค้าเก่า ต้องคอยหมั่นอัปเดต เช็กข้อมูลอยู่เสมอๆ ว่าข้อมูลนั้นๆ เป็นของคู่ค้าตัวจริง

content5

มิจฉาชีพในคราบ “เจ้าหน้าที่”

  • เจ้าหน้าที่สรรพากร
  • ทำการค้าย่อมมาพร้อมกับภาษี มิจฉาชีพจึงแฝงตัวมาในคราบเจ้าหน้าที่สรรพากร เพื่อเรียกเก็บเงินภาษีจากร้านค้า โดยการโทรศัพท์มาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ พร้อมกับแจ้งว่าสามารถผ่อนจ่ายภาษีได้ แล้วจัดการช่วยทำรายการให้ทุกอย่าง แต่ท้ายที่สุดเงินไม่ได้ถูกนำเข้าในระบบของกรมสรรพากร

  • เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
  • เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ถูกมิจฉาชีพนำไปแอบอ้าง โดยจะโทรศัพท์หาผู้เสียหายและบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สังกัด ส่วนคดีฟอกเงินทางอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ จากนั้นจะแจ้งเลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของผู้เสียหาย พร้อมกับบอกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการฟอกเงิน จึงขอให้มาให้ปากคำและยืนยันตัวตนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มิฉะนั้นจะมีความผิด และถ้าไม่อยากถูกดำเนินคดีให้โอนเงินไปให้นั่นเอง

  • พนักงานจากบริษัทขนส่ง
  • ช่วงนี้หากใครได้รับโทรศัพท์จากขนส่งชื่อดัง พร้อมแจ้งว่ามีพัสดุจากต่างประเทศติดศุลกากร ต้องโอนเงินเพื่อเคลียร์ของ หรือกล่าวหาว่าส่งของผิดกฎหมาย ต้องให้โอนเงินเพื่อเคลียร์คดี ฯลฯ คุณอาจจะกำลังตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ

  • เจ้าหน้าที่ธนาคาร
  • อีกหนึ่งกลโกงสุดฮิตของมิจฉาชีพ คือการแอบอ้างว่าติดต่อมาจากธนาคาร พร้อมกับแจ้งว่า บัญชีของคุณนั้นมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หรือเข้าข่ายเกี่ยวกับการฟอกเงิน เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวในการตรวจสอบบัญชี ซึ่งหากคุณหลงกลให้ข้อมูล อาจทำให้ต้องสูญเสียเงินในบัญชีได้อย่างง่ายๆ

tip icon

Tip :

การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ มักจะทำด้วยการโทรศัพท์เข้าไปหาผู้เสียหาย ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ช่วยป้องกันเบอร์แปลก เบอร์มิจฉาชีพ หรือเบอร์ที่ไม่พึงประสงค์ที่จะรับสายได้ เช่น Whoscall แอปฯ ยอดนิยมที่ช่วยให้รู้ว่าใครโทร.มาทันที

content6