16/10/2558

6 เทคนิคบริหารเงินสู้เศรษฐกิจ

      สภาวะเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องคิดหนักเนื่องจากขายของไม่ได้ เพราะผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ บางรายที่ยังพอขายได้ ก็ต้องเจอกับการขอยืดเวลาการจ่ายเงินของคู่ค้า หรือแย่สุดคือเก็บเงินไม่ได้เลย ซึ่งทำให้เงินที่ใช้หมุนเวียนในธุรกิจสะดุดตามไปด้วย 6 เทคนิคบริหารเงินที่แนะนำนี้ จะสามารถช่วยให้คุณประคองตัวผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้

1. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
จัดลำดับความสำคัญให้ได้ สิ่งไหนยังไม่จำเป็นก็ลดการใช้จ่าย อะไรที่ประหยัดได้ก็ควรประหยัด เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง หรือการสต๊อกวัตถุดิบ เป็นต้น การมีสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นมาก นอกจากนี้การบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตที่ดี ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายลงได้ 

2. ดูกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด
ด้วยการเดินบัญชี (Statement) อย่างสม่ำเสมอ หรือการการทำบัญชีรายรับรายจ่าย จะทำให้ผู้ประกอบการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในธุรกิจ รวมถึงสถานการณ์ทางการเงินของธุรกิจ ว่ามีเงินหมุนเวียนเพียงพอหรือไม่ จะได้วางแผนการเงินไว้รองรับ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่าย

3. ชะลอการลงทุน
ประเมินความจำเป็นให้รอบด้าน เพราะช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ไม่ควรเสี่ยงที่จะลงทุน แต่หากพิจารณาแล้วว่าเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจที่ควรคว้าไว้ ก็ควรกลั่นกรองวางแผนอย่างรอบคอบ ที่สำคัญอย่านำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ บางคนอาจมองว่าการนำเงินตรงนี้นิดไปโปะตรงนั้นหน่อยเป็นเรื่องไม่เสียหายอะไร แต่หารู้ไม่ว่ามันส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้อย่างมหาศาล เพราะลืมคิดไปว่า เงินที่ว่านี้ก็คือสภาพคล่องของธุรกิจ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นก็มีโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจชะงักงันได้เลยทีเดียว

4. รักษาคุณภาพของลูกหนี้
นาทีนี้การขายของไปแล้วได้เงินสดมาถือไว้ในมือนั้นอุ่นใจที่สุด เพราะมีความไม่แน่นอนจากการขายเชื่อสูง ว่าขายไปแล้วจะเก็บเงินได้หรือไม่ เนื่องจากเอสเอ็มอีไม่สามารถเลือกได้ว่าจะขายเงินสดแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นก็ต้องจัดสรรความเสี่ยงตรงนี้ให้สมดุล นอกจากนี้ต้องรู้จักเลือกลูกค้า หรือลูกหนี้ โดยเลือกลูกค้าเก่าที่ค้าขายคุ้นเคยกันอยู่แล้ว หรือหากเป็นลูกค้าใหม่ ก็พิจารณาที่มีความน่าเชื่อถือ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประวัติดี ซึ่งข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้สามารถสอบถามจากคนในท้องที่ได้ หรือหากเป็นคู่ค้าใหม่ในต่างประเทศ ก็ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้จากหน่วยงานราชการ

5. ยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ตามจำเป็น
หากมีความจำเป็นจริงๆ ควรเจรจากับคู่ค้า เพื่อต่อรองขอยืดระยะเวลาการจ่ายเงินออกไปก่อน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในกิจการ นอกจากนี้หากเอสเอ็มอีมีภาระผ่อนเงินกู้กับสถาบันการเงิน แต่เงินหมุนเวียนไม่ทันจริงๆ ในกรณีนี้เอสเอ็มอีควรเข้าไปปรึกษาสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ไปตามตรง เพื่อร่วมกันแก้ไขหาทางออกก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป พึงระลึกไว้เสมอว่า การรักษาเครดิตเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำธุรกิจอย่างมาก

6. หมั่นติดตามข่าวสาร
​ในภาวะเช่นนี้ การติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้ธุรกิจเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ทันการณ์ ไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหน หากมีการเตรียมความพร้อม ปัญหาก็จะบรรเทาลงได้ รวมถึงข้อมูลข่าวสารความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน

      จะเห็นว่าในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ หัวใจสำคัญในการทำธุรกิจก็คือการบริหารเงินหรือสภาพคล่องอย่างมีสติ และเตรียมตัวให้พร้อมกับทุกสถานการณ์ แล้วธุรกิจของคุณจะยืนหยัดผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างภาคภูมิ