K WEALTH / บทความ / Wealth Management / เงินฝืด (Deflation) คืออะไร? เข้าใจสาเหตุพร้อมผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน
27 มีนาคม 2567
2 นาที

เงินฝืด (Deflation) คืออะไร? เข้าใจสาเหตุพร้อมผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน


​​​​​​​​​​​​​​​​“

• ภาวะเงินฝืด (Deflation) หมายถึงสภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการในระบบเศรษฐกิจลดลง ทำให้ผู้ขายต้องลดราคาเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้ามากขึ้น


• ภาวะเงินฝืดส่งผลให้รายได้ของประชาชนและธุรกิจลดลง ในระยะยาวอาจนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้ ได้แก่ เงินสด ตราสารหนี้ และทองคำ ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน




ในช่วงที่ผ่านมา เราอาจจะเคยอ่านข่าวหรือได้ยินเกี่ยวกับ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ เศรษฐกิจหดตัวในหลายประเทศ ซึ่งจะมาคู่กันกับ “ภาวะเงินฝืด” หลายคนอาจจะสงสัยและยังไม่เข้าใจคำว่า “ภาวะเงินฝึด” รวมถึงมีหลายคำถามที่ตามมา เช่น เงินฝืดจะส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง แล้วแตกต่างกับ “เงินเฟ้อ” อย่างไร K WEALTH จะมาอธิบายให้เข้าใจกัน



ภาวะเงินฝืด คืออะไร?

​ภาวะเงินฝืดคือ สภาวะการลดลงของ “ความต้องการด้านสินค้าและบริการ” เนื่องจากเกิดความกังวลทำให้คนไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อบุคคลทั่วไป โดยในระยะสั้น ภาวะเงินฝืดจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เนื่องจากสินค้าและบริการจะมีราคาลดลง ช่วยเพิ่มกําลังการซื้อและการใช้บริการได้มากขึ้น ด้วยเงินจํานวนเท่ากัน แต่ในระยะยาว ภาวะเงินฝืดอาจทําให้เกิดการผลิตที่ลดลง เนื่องจากบริษัทต่างๆ ขายสินค้าหรือบริการได้น้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการด้านแรงงานลดลงไปด้วย เนื่องจากการลดกำลังการผลิต และรายได้ของผู้บริโภคลดลง นอกจากนี้ ภาวะเงินฝืดอาจทําให้การลงทุนโดยทั่วไปลดลงได้ เนื่องจากนักลงทุนลังเลที่จะนำเงินมาลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจประสบกับภาวะเงินฝืด



เงินฝืด กับ เงินเฟ้อ คู่แตกต่างที่ห่างกันคนละด้าน

​ภาวะเงินฝืดและเงินเฟ้อเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตรงข้ามกัน เปรียบเหมือนน้ำ กับ ไฟ ซึ่งอาจแยกรายละเอียดต่างๆ ออกมาได้ดังนี้



​เงินเฟ้อ
​เงินฝืด
​นิยาม
​การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการทั่วไป 
โดยราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเงินที่เราเคยจ่ายไป (ใช้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ของเท่าเดิม)
​การลดลงของราคาสินค้าและบริการทั่วไป 
สาเหตุ
​• ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น และมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย 
ความต้องการสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้น
ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น
​• ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย 
ความต้องการสินค้าและบริการ ลดลง
ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ลดลง

ผลกระทบ
​• การลงทุนและการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น
การผลิตสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้น
ราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้น 
​• การลงทุนและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ลดลง
การผลิตสินค้าและบริการ ลดลง
อัตราการว่างงาน เพิ่มสูงขึ้น


สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินฝืด

สาเหตุหลักของเงินฝืดมาจากอุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจลดลง ทำให้ผู้ขายต้องลดราคาลงเพื่อจูงใจให้คนซื้อมากขึ้น โดยความต้องการที่ลดลงอาจเกิดจากคนไม่มีเงินใช้จ่าย หรือไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ จึงชะลอการใช้จ่ายออกไป


ภาวะเงินฝืดถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีสำหรับระบบเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้ธุรกิจขายสินค้าได้น้อยลง จนอาจต้องปิดกิจการ ทำให้คนงานตกงาน และส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมถดถอยหากเกิดเงินฝืดรุนแรงและยืดเยื้อ​


สรุป เงินฝืดคือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจลดลง ส่งผลให้รายได้ของประชาชนและธุรกิจลดลง และอาจนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้หากรุนแรง



ตัวอย่างภาวะเงินฝืดที่เคยเกิดขึ้นในไทย

ตัวอย่างของภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่หลายคนอาจจะพอนึกออก คือช่วงวิกฤตการเงินในไทยปี 2540 หรือเรียกกันอย่างติดปากว่า “ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยและอีกหลายประเทศในเอเชียประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ประชาชนทั่วไปมีความกังวล ไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย หลายบริษัทต้องลดการผลิต ส่งผลให้มีการว่างงานเพิ่มขึ้น ​


ภาครัฐต้องดําเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจหลายรูปแบบ รวมถึงการปรับนโยบายการคลังต่างๆ เช่น เพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนการปรับโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยควบคุมภาวะเงินฝืดและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ



การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงภาวะเงินฝืด

• เงินสด หรือกองทุนตลาดเงิน 

เพื่อรักษาสภาพคล่องและรอการลงทุนในโอกาสที่ดีขึ้น นักลงทุนอาจพิจารณาเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ อิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ดอกเบี้ยสูง อย่างบัญชีเงินฝาก K-eSavings หรือพักเงินไว้ในกองทุนตลาดเงิน อย่างกองทุน K-CASH 


• พันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนตราสารหนี้ 

ในภาวะเงินฝืด อัตราดอกเบี้ยมักจะลดลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ พันธบัตรรัฐบาลจึงให้ ผลตอบแทนที่ดีขึ้น เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย หรือการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ อย่าง กองทุน K-SF, K-SFPLUS, K-FIXED, K-FIXEDPLUS หรือกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก อย่างกองทุน K-GB ก็เป็นอีก ทางเลือกที่น่าสนใจและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น 


• ทองคำ 

สินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมในช่วงภาวะเงินฝืดคือ ทองคำ ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนมักเลือกลงทุนเพื่อ รักษาความมั่นคงซึ่งอาจทำให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นในภาวะเศรษฐกิจถดถอย



Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน” 




บทความโดย K WEALTH Trainer

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

เงินเฟ้อ (Inflation) คืออะไร? เข้าใจสาเหตุพร้อมผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน
กองทุนรวมคืออะไร ประเภทไหนที่เหมาะกับคุณ เรื่องต้องรู้ก่อนลงทุนกองทุนรวม
บริหารดีมีเงินใช้สบายทั้งชีวิต ด้วยเทคนิค "การวางแผนการเงินส่วนบุคคล"
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!