K WEALTH / บทความ / Wealth Management / เจ็บป่วยยุคนี้ เตรียมค่ารักษาแค่ไหนถึงจะพอ
21 กุมภาพันธ์ 2566
3 นาที

เจ็บป่วยยุคนี้ เตรียมค่ารักษาแค่ไหนถึงจะพอ


​​


• เจ็บป่วยด้วยโรคเดียวกัน แต่รูปแบบการรักษานั้นมีหลากหลาย ที่นอกจากอยู่ที่อาการของโรค ยังขึ้นกับค่าใช้จ่ายที่ยอมรับได้ด้วย ว่าพร้อมจ่ายแค่ไหน


• สำหรับคนที่มีเงินเก็บอยู่แล้ว เช่น ผู้ชาย อายุ 40 ปี การกันเงิน 6.6 ล้านบาท ไว้ในเงินฝากประจำ ก็เพียงพอที่จะมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลปีละ 20 ล้านบาท ไปได้ตลอดชีพ ด้วยการนำไปจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกัน Elite Health Plus

"


เจ็บป่วยแต่ละครั้ง ต้องมีค่าใช้จ่ายมาเป็นเรื่องให้ต้องคิดและเป็นปัจจัยในการเลือกโรงพยาบาลและรูปแบบการรักษาทุกที แต่คนเราต้องเตรียมเงินแค่ไหน ถึงจะเพียงพอกับการรักษารูปแบบการต่างๆ ในปัจจุบัน K WEALTH มีคำตอบมาฝากกัน

I: เจ็บป่วยแต่ละที มีการรักษาแบบไหนบ้าง



เทคโนโลยีและรูปแบบการรักษาโรคต่างๆ ในปัจจุบันมีพัฒนาการและก้าวหน้าไปมาก ไม่จำกัดแต่เพียงการทานยาหรือผ่าตัดเท่านั้น อย่างเช่นโรคมะเร็ง ที่แต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่หลักแสนคน ซึ่งไม่มีทางรู้เลยว่าปีไหนที่เราจะโชคร้ายเป็น 1 ในผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่นั้นหรือไม่ ซึ่งหากโชคร้ายต้องรับการรักษา ก็ต้องเลือกรูปแบบที่เหมาะกับอาการและระดับของโรคด้วย

ตัวอย่างเช่น “การผ่าตัด (Surgery)” ที่เหมาะกับการรักษามะเร็งระยะเริ่มต้น เนื่องจากเซลล์มะเร็งยังอยู่บริเวณเดียวกัน การผ่าตัดจึงรักษาให้หายขาดได้ “การฉายรังสี (Radiotherapy)” เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งมะเร็งบางชนิดก็ตอบสนองไม่ดีจึงต้องรักษาร่วมกับการผ่าตัด และแม้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งชนิดใหม่ในบริเวณเดิมได้แต่ก็มีโอกาสเกิดได้ค่อนข้างน้อย “การใช้ยาเคมีบำบัด” หรือ คีโม (Chemotherapy) เป็นการออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ก็ทำลายเนื้อเยื่อดีด้วย ทำให้อาจเกิดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยด้วย ส่วน “การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)” ที่เน้นทำลายเซลล์มะเร็ง โดยไม่มีผลกับเซลล์ปกติหรือมีผลน้อย เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากและปลอดภัย แต่เนื่องจากเป็นยาที่ค่อนข้างใหม่ ใช้เทคโนโลยีในการศึกษาและผลิตระดับสูง จึงมีราคาแพง จากรูปแบบการรักษามะเร็งที่หลากหลายหากเลือกได้ เราคงอยากเลือกรูปแบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับ และมีผลข้างเคียงต่ำอย่างแน่นอน แต่การจะเลือกรูปแบบได้แค่ไหนค่าใช้จ่ายที่ยอมรับได้ก็มีผลต่อการตัดสินใจ


II: ทางเลือก รับมือกับค่ารักษา



การเตรียมเงินให้พร้อมและเพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย มีอยู่ 2 ทางเลือก ที่ไม่ว่าใครก็รู้ดี ได้แก่

1) เตรียมและเก็บเงินไว้เอง


เป็นทางเลือกแรกๆ ที่ใครๆ ก็ทำกัน เพราะโดยปกติหากเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ค่ารักษาหลักพันหลักหมื่น การดึงเงินเก็บที่มีมาจ่ายก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนา แต่หากจะเตรียมเงินเผื่อการเจ็บป่วยรุนแรงค่าใช้จ่ายหลักแสนหลักล้าน ก็ควรแยกเงินก้อนนี้ออกจากเงินเก็บส่วนอื่น เพราะถ้าแบ่งเงินไม่ดีต่อให้มีเงินเพียงพอไปจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่ก็อาจทำให้เป้าหมายอื่นในชีวิตต้องสะดุดลง เพราะหมดเงินก้อนใหญ่ไปกับค่ารักษาพยาบาลนั้น

ทางเลือกในการเก็บเงินก้อนใหญ่ไว้เป็นค่ารักษากรณีเจ็บป่วยรุนแรง นอกจากต้องมีจำนวนเงินให้เพียงพอกับค่ารักษาแต่ละโรคที่อาจเกิดซ้ำหลายครั้งด้วยโรคเดิม หรืออาจต้องเจอกับหลายโรคที่ผลัดกันเข้ามาในชีวิต ยังควรเก็บไว้ในทางเลือกที่เหมาะสม เช่น (1) “สภาพคล่องสูง” ที่ต้องพร้อมนำออกมาได้อยู่เสมอ โดยใช้เวลาหลักวันหรือหลักสัปดาห์ก็ได้ เพราะปัจจุบันเราสามารถใช้บัตรเครดิตจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนได้ จึงยังมีเวลาในการดึงเงินเก็บส่วนนี้ออกมาได้ (2) “ความเสี่ยงต่ำ” ที่มีโอกาสสูญเสียเงินต้นน้อยเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินเพียงพอมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งทางเลือกที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น กองทุนตราสารหนี้แบบซื้อขายได้ทุกวันทำการ (เช่น K-SFPLUS) เงินฝากประจำ 3-36 เดือน หรือเงินฝากออมทรัพย์ K-eSavings ที่ให้ดอกเบี้ยสูง เป็นต้น


2) เตรียมรับมือด้วยประกัน​


ตลอดชีวิตของคนเรา ไม่มีทางรู้เลยว่าจะเจ็บป่วยสักกี่ครั้ง แต่ละครั้งต้องใช้เงินสักเท่าไร ใครที่มีเงินเก็บหลัก 10 ล้านบาท ก็อย่าเพิ่งสบายใจ เพราะค่ารักษาโรคร้ายแรงในปัจจุบัน จะรักษาให้หายได้อาจใช้เงิน 1-5 ล้านบาท ถ้าโชคร้ายเป็นมากกว่า 1 ครั้ง เงินเก็บที่มีคงไม่เพียงพอ แต่หากลองเลือกประกันสุขภาพ​แบบให้วงเงินสูงปีละหลักสิบล้านบาทขึ้นไป ที่น่าจะครอบคลุมค่ารักษาที่เกิดขึ้นในแต่ละปีได้อย่างสบายใจ และเป็นแบบประกันที่สามารถต่ออายุได้ตลอดชีพหรือถึงอายุ 99 ปี ก็จะทำให้หมดห่วงเรื่องค่ารักษาไปได้เลย เพียงแต่ต้องลองเช็กค่าเบี้ยประกันตลอดสัญญาที่ต้องจ่าย ว่าคุ้มกับวงเงินค่ารักษาที่ได้รับตลอดสัญญาหรือไม่

ที่สำคัญ สำหรับใครที่คิดจะใช้ประกันสุขภาพมารับมือกับค่ารักษาพยาบาล ต้องยังไม่เคยมีประวัติเจ็บป่วยรุนแรงหรือมีโรคประจำตัวมาก่อน เพราะหากเคยเป็นบริษัทประกันก็อาจจะไม่รับประกันได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ฯลฯ หรือรับประกันแต่ยกเว้นโรคที่เคยเป็นมา เช่น เนื้องอก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้คนที่มีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้สูงขึ้น ดังนั้นใครที่คิดจะรับมือค่ารักษาด้วยประกันสุขภาพ ควรตัดสินใจซื้อประกันตั้งแต่อายุยังน้อย ที่แม้เป็นช่วงอายุที่มีโอกาสเจ็บป่วยน้อย แต่ค่าเบี้ยรายปีที่จ่ายในช่วงแรกนี้ก็ต่ำเช่นเดียวกัน


III: สิ่งที่ต้องดู เมื่อคิดเลือกซื้อประกันสุขภาพ


ประกันสุขภาพแต่ละแบบมีรายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครองที่แตกต่างกัน ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อจึงมีอย่างน้อย 3 สิ่ง ที่ต้องดู ได้แก่

1) วงเงินคุ้มครอง ต้องเพียงพอ


วงเงินคุ้มครองที่ว่า ไม่ควรดูแค่จำนวนเงินแต่ควรดูด้วยว่าเป็นวงเงิน “ต่อครั้ง” หรือ “ต่อปี” เพราะด้วยจำนวนวงเงินที่เท่ากัน หากในแต่ละปีมีการเจ็บป่วยหลายครั้งความคุ้มครองที่ได้รับก็จะต่างกัน โดยแบบประกันที่เป็นวงเงิน “ต่อปี” ควรเลือกวงเงินที่สูงสักหน่อย เช่น 20 ล้านบาทต่อปี ส่วนแบบประกันที่เป็นวงเงิน “ต่อครั้ง” วงเงินก็อาจต่ำลงมาได้ แต่ต้องมั่นใจว่าจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายสำหรับแต่ละโรค เช่น 5 ล้านบาทต่อครั้ง เป็นต้น

2) รูปแบบการรักษา ที่คุ้มครอง​


อย่างที่เล่าไว้ตอนต้นว่า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปการรักษาโรคต่างๆ ก็พัฒนาขึ้นและมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น การรักษาบางรูปแบบประกันสุขภาพทั่วไปอาจยังไม่ให้ความคุ้มครอง เช่น การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธี Targeted Therapy (การรักษาแบบจำเพาะเจาะจง) ที่ผู้ป่วยมีโอกาสตอบสนองต่อการรักษาสูงกว่าการรักษาแบบอื่น และปัจจุบันมีเพียงไม่กี่โรงพยาบาลเท่านั้นที่มีการรักษาแบบนี้ หรือการล้างไตที่ใช้เวลาครั้งละ 3-5 ชั่วโมง จึงไม่ถือว่าเป็นการรักษาในฐานะผู้ป่วยใน ประกันสุขภาพทั่วไปหากไม่ได้ระบุอะไรไว้เป็นพิเศษจึงไม่คุ้มครองการรักษา Targeted Therapy และล้างไต


3) เบี้ยประกัน ที่คุ้มค่า


สำหรับคนอายุน้อย เช่น อายุ 40 ปี ที่มีโอกาสน้อยที่จะเจ็บป่วยหนักได้ ซึ่งหากถือสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ Elite Health Plus (แผน 20 ล้านบาท คุ้มครองเฉพาะประเทศไทย) อยู่ อาจรู้สึกเสียดายค่าเบี้ยที่ต้องจ่ายในปีนี้ที่ 36,618 บาท แต่หากเปรียบเทียบกับการเจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง ที่ใครๆ ก็มีโอกาสเป็นได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ที่นอนโรงพยาบาลเอกชนแต่ละครั้งค่ารักษาก็อยู่ที่ประมาณ 70,000 บาท หรือ ผ่าตัดไส้ติ่ง เป็นแผลในโรคกระเพาะอาหาร ค่ารักษาก็อาจสูงถึงเกือบ 150,000 บาท การจ่ายค่าเบี้ยก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องเสียดายเลย

สำหรับผู้ที่อายุมากขึ้น เช่น อายุ 70 ปี แม้ค่าเบี้ยประกัน Elite Health Plus (แผน 20 ล้านบาท คุ้มครองเฉพาะประเทศไทย) ในปีนั้นจะสูงขึ้นเป็น 143,020 บาท แต่ก็เป็นวัยที่เจ็บป่วยง่าย มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุ โดยค่ารักษาแต่ละครั้งก็อาจสูงเกินกว่าค่าเบี้ยที่จ่ายในปีนั้นแล้ว

ความคุ้มค่าของค่าเบี้ยที่ว่ายังไม่รวมถึงกรณีเจ็บป่วยหนัก อย่างโรคมะเร็ง ที่การรักษาด้วยเคมีบำบัดค่าใช้จ่ายก็อยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนบาท แต่หากต้องการรักษาแบบ Targeted Therapy ที่มีโอกาสหายมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นถึง 1.7-5.8 ล้านบาทเลย ในขณะที่ค่าเบี้ยประกัน Elite Health Plus (แผน 20 ล้านบาท คุ้มครองเฉพาะประเทศไทย) ที่จ่ายตลอดช่วงอายุ 40-70 ปี สะสมรวมอยู่ที่ 2.2 ล้านบาทนั้น ยังครอบคลุมค่ารักษาอื่นๆ ไม่เพียงแค่ Targeted Therapy หรือการล้างไต เท่านั้น

 

IV: ประกันสุขภาพ ซื้อแต่ไม่ได้ใช้ vs อยากใช้แต่ไม่ได้ซื้อ


“ซื้อประกันแล้วไม่ได้ใช้ ก็เหมือนกับทิ้งเงินค่าเบี้ยประกันไปฟรีๆ“ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หลายคนคิด และสับสนใจว่าจะยอมลุ้นแบบไหนดี ระหว่าง ซื้อประกันสุขภาพไปแต่ไม่ได้ใช้ vs อยากใช้ประกันสุขภาพแต่ไม่ได้ซื้อไว้ ทีมงาน K WEALTH เข้าใจความกังวลเรื่องนี้ของทุกคนดี เพราะเป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปคิดกัน บทความนี้จะได้ลองนำ สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ Elite Health Plus (แผน 20 ล้านบาท คุ้มครองเฉพาะประเทศไทย) มาเป็นตัวอย่าง เพื่อจำลองให้ทุกคนได้เห็นต้นทุนค่าเบี้ยที่จ่ายไป

• สำหรับคนที่เริ่มซื้อประกัน Elite Health Plus ตอนอายุ 40 ปี และจ่ายเบี้ยปีต่ออายุไปจนถึงอายุ 98 ปี (คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี) ค่าเบี้ยรวมที่จ่ายตลอด 59 ปี อยู่ที่ 11,042,449 บาท หรือคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของความคุ้มครองสูงสุดในแต่ละปี ซึ่งหากจินตนาการว่าในช่วงวัยหลังเกษียณ 60-99 ปี หากมีการเจ็บป่วยบ่อยๆ หรือเจ็บป่วยหนักสักครั้งหนึ่ง ค่ารักษาที่เกิดขึ้นรวมๆ แล้ว ก็อาจมากกว่า 11 ล้านบาทได้ อีกทั้งการจ่ายค่าเบี้ยประกันก็เป็นการทยอยจ่ายเป็นรายปี ปีละหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท ซึ่งการเจ็บป่วยแต่ละครั้ง อาจครอบคลุมค่าเบี้ยในปีนั้นหรือค่าเบี้ยทั้งหมดที่ได้เคยจ่ายไปแล้วก็ได้

• สำหรับใครที่มีเงินก้อน พร้อมนำมาสร้างเป็นหลักประกันสุขภาพตลอดชีพ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนสูงถึง 11 ล้านบาท เพียงกันเงินส่วนที่คิดว่าจะนำมาใช้ทยอยจ่ายเป็นค่าเบี้ย ไปเก็บไว้ในทางเลือกที่มั่นคงและปลอดภัย เช่น เงินฝากประจำ 36 เดือน ที่ปัจจุบันให้ดอกเบี้ย 1.5%ต่อปี (ประกาศธนาคารกสิกรไทย เริ่มใช้ 30 ม.ค. 66) ซึ่งหากคำนวณโดยคิดดอกเบี้ยหลังหักภาษี 15% แล้ว สมมติว่าดอกเบี้ยอยู่ระดับนี้ไปตลอด และมีการแยกบัญชีเพื่อจัดสรรให้สามารถนำมาเป็นค่าเบี้ยประกันโดยไม่สะดุด การมีเงินเก็บไว้ในเงินฝากประจำ 36 เดือน จำนวน 6,623,794 บาท โดยแบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อทยอยถอนเงินฝากที่ครบกำหนดมาเป็นค่าเบี้ยประกันทุกๆ ปี ส่วนเงินที่เหลือก็ยังคงฝากต่อเพื่อรับดอกเบี้ย เงินก้อนจำนวนดังกล่าวก็จะเพียงพอกับค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายตลอดช่วงอายุ 40-98 ปี

หมดห่วงกับค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยไปตลอดชีพ ด้วยการกันเงิน 6.6 ล้านบาทมาเตรียมเป็นค่าเบี้ย ส่วนเงินเก็บที่เหลือก็สามารถนำไปใช้ตามฝันที่มีหรือเตรียมส่งต่อให้ลูกหลานที่รักก็ได้ ยิ่งถ้าใครคุ้นชินกับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นด้วยความเสี่ยงที่เหมาะสม เช่น กองทุนตราสารหนี้ เงินทุนที่ต้องกันไว้ก็จะน้อยลงไปอีก สำหรับใครที่อยากสร้างหลักประกันแต่มีเงินทุนน้อยกว่านี้ และมีความกังวลหลักๆ กับการเจ็บป่วยรุนแรงค่ารักษาหลักล้าน อาจเลือกสร้างหลักประกันด้วยสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ D Health Plus ที่มีวงเงินคุ้มครองสูงสุด 5 ล้านบาทต่อครั้ง โดยเลือกแผนที่คุ้มครองเฉพาะค่าใช้จ่ายส่วนเกิน 1 แสนบาทได้ ก็จะทำให้การเตรียมเงินก้อนไว้ในทางเลือกที่เป็นเงินฝากประจำนั้นลดลงมาอยู่ที่ 2 ล้านบาท (เพศชาย อายุ 40 ปี แผน Plus1) เพื่อเป็นค่าเบี้ยตลอดช่วงอายุ 40-98 ปี

ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกประกันสุขภาพแบบไหน ก็สามารถเป็นหลักประกันความคุ้มครองสุขภาพให้กับเราได้ตลอดชีพทั้งสิ้น อยู่ที่เงินทุนหรือรายได้ในปัจจุบันว่าเพียงพอที่จะเลือกประกันสุขภาพแบบไหน และที่สำคัญต้องตัดสินใจในวันที่ยังไม่มีประวัติเจ็บป่วยรุนแรงหรือโรคประจำตัวมาก่อนเท่านั้น ซึ่งหากยิ่งปล่อยเวลาให้นานไป ด้วยอายุที่มากขึ้นก็เสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ เหล่านั้นมากขึ้นตามมา




บทความโดย K WEALTH TRAINER ราชันย์ ตันติจินดา CFP®

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

​สัญญาเพิ่มเติม อีลิท เฮลท์ พลัส

ดูเพิ่มเติม

​ประกันชีวิตและสุขภาพ D Health Plus

ดูเพิ่มเติม

​ดอกเบี้ยเงินฝาก​

ดูเพิ่มเติม
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!