มีเงิน 10 ล้านในบัญชี ถือว่ามากพอจนไม่ต้องกังวลอะไรแล้วจริงหรือ? หรือถ้าคิดว่านอกจากเงินในบัญชีแล้วทุกวันนี้ยังทำงานทำธุรกิจมีรายได้ หรือลูกหลานคอยดูแล เงิน 10 ล้านที่ว่าน่าจะเหลือกินเหลือใช้ไปทั้งชีวิต... อยากให้ลองมาอ่านบทความนี้แล้วชวนคิดไปพร้อมกันว่า มี 10 ล้านแล้ว ชีวิตนี้ไม่ต้องลงทุนแล้วจริงหรือ?
I: พอใจกับ 10 ล้าน แน่หรือ?
1) ทุกวันนี้ ใช้จ่ายเท่าไร
สำหรับคนที่มีเงิน 10 ล้าน อยากจะใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เคยลองคำนวณดูไหมว่า ถ้าถอนเงินไปใช้เรื่อยๆ โดยไม่เติมเงินใหม่เลย 10 ล้านที่ว่า จะหมดในไม่ถึง 17 ปี ดังนั้นถ้าตอนนี้อายุ 50 ปี เงินจะหมดตอนอายุไม่ถึง 67 ปี หรือถ้าตอนนี้อายุ 60 ปี เงินจะหมดลงตอนอายุไม่ถึง 77 ปี
แล้วจะรู้ว่าเงินที่มีพอใช้ในวันที่เราหยุดทำงานหรือไม่มีรายได้ใหม่เข้ามาหรือไม่ ลองดูอายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วไป โดยอ้างอิงข้อมูลจากสารประชากรมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับ ม.ค. 65 ซึ่งได้คาดอายุเฉลี่ยของคนไทยผู้ชายไว้ที่อายุ 78.3 ปี และผู้หญิงไว้ที่อายุ 83.7 ปี เห็นได้เลยว่า ถ้าใช้จ่ายแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่เติมเงินหรือลงทุนอะไรเลย เงินในบัญชีคงหมดลงในช่วงบั้นปลายชีวิตอย่างแน่นอน ส่วนใครที่มีเงินมากกว่านี้ เช่น 50 ล้านบาท แล้วคิดว่าแค่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำก็พอใข้จ่ายแล้ว ลองมาดูดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 36 เดือน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 0.65%ต่อปี (ประกาศดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารกสิกรไทย เริ่มใช้ 1 มิ.ย. 65) หลังหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้วเหลือดอกเบี้ยสุทธิ 0.55%ต่อปี ด้วยยอดเงินฝาก 50 ล้านบาท จะได้รับดอกเบี้ยปีละ 276,250 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 23,021 บาทเท่านั้น คำถามคือดอกเบี้ยที่ได้รับนี้ เพียงพอกับการใช้จ่ายจริงหรือไม่? และที่เคยคิดว่าแค่ดอกเบี้ยก็พอใช้ไม่กินเงินต้น ได้ลองเช็กเงินในบัญชีล่าสุดแล้วหรือยังว่าเหลือน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่ ถ้าใช่แสดงว่าหากไม่ทำอะไรเลยเงินเก็บที่มีจะค่อยๆ ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
2) ค่าใช้จ่าย แพงขึ้นทุกปี
อยากใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท ใช่ว่าจะจ่ายเท่านี้เสมอไป ทุกวันนี้เราต้องเผชิญกับเงินเฟ้อ ข้าวของแพงขึ้นทุกปี ทำให้เงินที่ต้องใช้จ่ายแต่ละปีสูงขึ้นตาม หากลองคิดที่เงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 3% ค่าใช้จ่ายวันนี้ที่เดือนละ 50,000 บาท ปีหน้าจะสูงขึ้นเป็น 51,500 บาท หากผ่านไปเป็น 5 ปี จะกลายเป็นเกือบเดือนละ 58,000 บาท เห็นแบบนี้แล้ว ยังมั่นใจอยู่อีกหรือว่า เงิน 10 ล้านที่มี จะอยู่ได้ด้วยแค่การฝากเงิน
อีกทั้งเงินเฟ้อประเทศไทยล่าสุด ณ พ.ค. 65 สูงถึง 7.1%เทียบกับ พ.ค. 64 ซึ่งหากสูงแบบนี้ต่อไป ย่อมส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในแต่ละปีเพิ่มมากกว่าที่ได้คำนวณให้ดูด้วย รวมถึงเมื่อคนเราอายุมากขึ้น ยังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเพิ่มขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทั้งกรณีเจ็บป่วยที่มีโอกาสเกิดได้สูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และกรณีตรวจสุขภาพที่โดยปกตินอกจากตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 3-4 ครั้งแล้ว ยังตามมาด้วยค่ายาที่ต้องทานเป็นประจำด้วย
II: ทำไม? บางคนถึงไม่ชอบลงทุน
1) มีแหล่งรายได้อื่น
แหล่งรายได้ที่ว่า หากมาจากการทำธุรกิจซึ่งเจ้าของธุรกิจรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ รายได้จะมากน้อยก็คิดว่าเกิดจากความตั้งใจในการทำธุรกิจของตนเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วยังขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจด้วย อย่างเช่น ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่แทบทุกธุรกิจมียอดขายลดลง จนมีธุรกิจหลายแห่งต้องปิดหรือเลิกกิจการไป หรือช่วงไหนที่อยากหยุดพักผ่อนเพื่อไปท่องเที่ยวหากยังต้องกังวลหรือปล่อยมือให้ทีมงานดูแลธุรกิจแทนไม่ได้ก็คงยังพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ หรือม้แต่คนที่มีลูกหลานคอยดูแลก็อย่าลืมว่านอกจากเราแล้วลูกหลานอาจยังมีภาระต้องดูแลคนอื่นหรือรายได้และหน้าที่การงานของลูกหลานเองก็ใช่ว่าจะมั่นคงเสมอไปในยุคที่เศรษฐกิจไม่ดีนัก แต่หากเรามีรายได้หลายทางนอกจากแค่ทำธุรกิจหรือเงินจากลูกหลาน เช่น การลงทุน ฯลฯ จะช่วยกระจายความเสี่ยง มีเงินไว้ใช้จ่ายได้สม่ำเสมอมากขึ้น และสามารถจัดสรรเวลาพักผ่อนให้กับชีวิตได้ดีขึ้น
2) ไม่รู้จักการลงทุน
การลงทุนอาจดูเป็นเรื่องยาก หากไม่เคยลงทุนมาก่อน แต่ทางเลือกการลงทุนก็มีหลายแบบ แบบที่เข้าใจง่ายพอจะรู้ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับก็มีให้เลือกลงทุนอยู่ เช่น
- หุ้นกู้ ที่ได้รับผลตอบแทนรูปแบบดอกเบี้ย ในจำนวนที่รู้ตั้งแต่ตอนนำเงินไปลงทุน เช่น หุ้นกู้ อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3%ต่อปี หากลงทุนด้วยเงิน 1,000,000 บาท ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยปีละ 30,000 บาท (ก่อนหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หรือ 4,500 บาท) ตลอด 3 ปี ตราบเท่าที่ผู้ออกหุ้นกู้ยังคงดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ
- กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ ที่มักแจ้งประมาณการผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนทราบ ตั้งแต่ตอนนำเงินไปลงทุน เช่น กองทุนอายุ 6 เดือน ประมาณการผลตอบแทน 0.5%ต่อปี หากลงทุนด้วยเงิน 1,000,000 บาท เมื่อกองทุนครบอายุโครงการ ผู้ลงทุนจะได้รับเงินรวม 1,002,500 บาท โดยผลตอบแทนอยู่ในรูปแบบส่วนต่างราคาประมาณ 2,500 บาท (ประมาณ 0.25%ต่อ 6 เดือน)
3) มีประสบการณ์ไม่ดี กับการลงทุน
คนที่เคยลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงหรือความผันผวน และไปลงทุนในช่วงที่ผลตอบแทนติดลบ เช่น หากลงทุนหุ้นไทย (อ้างอิงดัชนี SET TRI) ในต้นปี 2558 พอสิ้นปีอาจเห็นผลตอบแทนติดลบถึง -11.23% ทำให้รู้สึกไม่พอใจและกังวลทุกครั้งเมื่อจะตัดสินใจลงทุนในครั้งต่อๆ ไป
อย่างไรก็ตาม ด้วยการลงทุนในหุ้นไทยเหมือนกัน แต่หากลงทุนตอนต้นปี 2559 พอสิ้นปีอาจเห็นผลตอบแทนสูงถึง +23.85% ดังนั้นสำหรับใครที่มีประสบการณ์ไม่ดีกับการลงทุน อยากให้เข้าใจว่าผลตอบแทนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป หากลองทำความเข้าใจสิ่งที่ลงทุนและตัดสินใจลงทุนอีกครั้งอาจได้รับประสบการณ์ใหม่จนทำให้กลับมาสนใจการลงทุนอีกครั้งได้
4) คิดว่าฝากเงิน แล้วปลอดภัย
ปัจจุบันเงินที่ฝากในธนาคาร จะได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมทุกบัญชีไม่เกินธนาคารละ 1 ล้านบาท สำหรับส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท หากธนาคารที่ฝากเงินไว้ปิดกิจการลง ผู้ฝากเงินต้องเรียกร้องจากธนาคารในฐานะเจ้าหนี้คนหนึ่ง เหมือนกับผู้ที่ถือหุ้นกู้ที่ออกโดยธนาคารนั้น
จากข้อมูลของ ธปท. ณ 2 มิ.ย. 65 พบว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุดของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ อยู่ที่ 2%ต่อปี ในขณะที่หุ้นกู้เอกชนที่มีความน่าเชื่อในระดับน่าลงทุน ล้วนให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า 2%ต่อปี เช่น หุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2565 ที่เสนอขายผู้ลงทุนทั่วไปเมื่อ 24-26 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา อายุ 7 ปี อันดับความน่าเชื่อถือ AAA(tha) ให้ดอกเบี้ย 3.25%ต่อปี ฯลฯ
เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว ผู้ที่มีเงินฝากธนาคารเกินกว่า 1 ล้านบาท คงต้องกลับมาตั้งคำถามกับตนเองแล้วว่า ทำไมถึงยังยินดีที่จะนำเงินฝากส่วนเกินไปเก็บไว้ในที่ได้รับผลตอบแทนต่ำ ทั้งมีความเสี่ยงที่จะสูญเงินต้นไม่ต่างจากหุ้นกู้ของธนาคารมากนัก แต่หากเริ่มต้นนำเงินส่วนเกิน 1 ล้านบาทนั้น ไปลงทุนในทางเลือกอื่น เช่น หุ้นกู้เอกชน ฯลฯ จะส่งผลดีต่อเงินเก็บส่วนนั้นมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่
III: เริ่มต้นลงทุนง่ายๆ แบบไม่ต้องกังวล
ด้วยการแบ่งเงินบางส่วนในเงินฝากที่มี ประมาณ 1-5 แสนบาท จากที่มีอยู่ 10 ล้าน ไปเริ่มต้นลงทุนในทางเลือกที่เข้าใจง่าย ความเสี่ยงต่ำ หรือพอจะรู้ผลตอบแทนที่น่าจะได้รับนับตั้งแต่วันที่นำเงินไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยรับอย่างหุ้นกู้เอกชน หรือส่วนต่างราคาอย่างกองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ เป็นต้น
แบ่งเงินอีกส่วนหนึ่ง ประมาณ 1-5 แสนบาท ไปลองลงทุนในทางเลือกที่ความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ก็มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่มากขึ้นได้ และหากจำเป็นก็สามารถขายคืนเพื่อรับเงินคืน โดยมูลค่าที่ได้รับจะเปลี่ยนแปลงตามผลการดำเนินงานของสิ่งที่ลงทุนไป เช่น
- K-FIXED-A (กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป) ที่เน้นลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ ที่ส่วนใหญ่ออกโดยภาครัฐและเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ AAA, AA และ A สามารถลงทุนได้ทุกวันทำการ เหมาะกับระยะเวลาการลงทุน 1 ปีขึ้นไป และเมื่อขายคืนจะได้รับเงินภายใน 2 วันทำการ ถัดจากวันที่ทำรายการขายคืน
- K-GINCOME-A(A) (กองทุนเปิดเค โกลบอล อินคัม–A ชนิดสะสมมูลค่า) ที่ลงทุนหลากหลายทั่วโลกทั้งตราสารหนี้ หุ้น และ REITs สามารถลงทุนได้ทุกวันทำการ เหมาะกับระยะเวลาการลงทุน 5 ปีขึ้นไป และเมื่อขายคืนจะได้รับเงินภายใน 4 วันทำการ ถัดจากวันที่ทำรายการขายคืน
เงินส่วนที่เหลืออีกประมาณ 9 ล้าน ก็เก็บไว้ในเงินฝากประจำเหมือนเดิมเพื่อให้ความรู้สึกที่ปลอดภัย และเมื่อเริ่มคุ้นเคยกับการลงทุน ค่อยทยอยนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนเพิ่มเติมภายหลังหรือจะยังคงไว้ที่เดิมก็ได้
การลงทุน ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยเงินเยอะหรือทางเลือกที่เข้าใจยากเสมอไป แต่หากไม่ลองเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ เลย เงินเก็บที่มีอยู่ก็อาจโตตามโลกที่หมุนไปไม่ทัน จนรู้ตัวอีกที 10 ล้านที่เคยมี อาจไม่ได้มีค่ามากมายอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"