K WEALTH / บทความ / Wealth Management / แนะการลงทุน ผ่านกองทุนผสม ให้สร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน
07 กุมภาพันธ์ 2566
10 นาที

แนะการลงทุน ผ่านกองทุนผสม ให้สร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน


​​​​

"


• การลงทุนในกองทุนผสมนอกจากกำไรขาดทุนแล้ว ควรเทียบผลการดำเนินงานย้อนหลังกับดัชนีชี้วัดของกองทุนผสม และเทียบค่าเฉลี่ยกลุ่ม ว่าดีกว่า หรือแย่กว่า รวมถึงหากเห็นกองทุนอื่นๆทำผลตอบแทนได้ดีกว่า ก็ควรตรวจสอบด้วยว่าเป็นกองทุนประเภทเดียวกันที่สามารถนำมาเทียบกันได้หรือไม่ 


• กองทุนผสมมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหาร เหมาะกับการถือยาว และไม่เหมาะกับการเก็งกำไร หากต้องการเก็งกำไรแนะนำลงทุนกองทุนประเภทอื่น


• แม้เราจะเข้าลงทุนกองทุนผสม เช่น K-PLAN2ที่จุดที่ดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง หรือจุดที่แย่ที่สุดอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทน 10 ปีย้อนหลังก็จะอยู่ที่ประมาณ 9.42-16.74%


​"


หลายคนที่พึ่งเริ่มลงทุนกองทุนผสม โดยคาดหวังผลตอบมากกว่ากองทุนตราสารหนี้ และสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวด้วย ก็อาจสงสัยว่าลงเงินไปแล้ว ต้องเข้ามาดูแล ต้องเข้ามาซื้อๆขายๆกองทุนผสมบ่อยไหม หรือทำอะไรกับกองทุนอีกบ้าง วันนี้เราจะมาลงรายละเอียดเรื่องนี้กัน


ลงทุนไปแล้วต้องเข้ามาดูบ่อยๆหรือไม่?


หลายคนอาจติดภาพการลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้นไม่ว่าจะไทย หรือต่างประเทศที่มีความผันผวนสูงมาก ซึ่งมักเกิดเหตุการณ์ 3 วันดี 4 วันแดงเถือกติดลบ จนทำให้คนที่เคยถือสินทรัพย์ประเภทนี้ ใจตุ้มๆต่อมๆ จิตใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว จนต้องเข้ามาดูพอร์ตตัวเองบ่อยๆ

แต่หากเป็นการลงทุนในกองทุนผสมที่มีการกระจายความเสี่ยงในทั้งหุ้น และตราสารหนี้ ทำให้ความผันผวนของกองทุนผสมไม่มากเท่าหุ้น ดังนั้นการเข้ามาดูบ่อยๆอาจจะไม่ได้จำเป็น แต่อาจกำหนดระยะเวลาเข้ามาดูบ้างเช่น ปีละ 1-2 ครั้ง หรือมีเหตุการณ์พิเศษที่กระทบกับตลาดการลงทุน เช่น ตลาดหุ้นปรับตัวลงหนัก ก็อาจเข้ามาดูบ้าง

หลายคนอาจสงสัยต่อไปอีก แล้วเข้ามาดูแล้วควรจะดูราคา NAV ว่าเป็นกำไร หรือขาดทุนอย่างเดียวหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามีหลายอย่างที่ต้องดูนอกจากกำไรขาดทุน เช่น ผลการดำเนินงานย้อนหลังเทียบดัชนีชี้วัดเป็นอย่างไร ผลการดำเนินงานย้อนหลังเทียบค่าเฉลี่ยกลุ่ม ซึ่งกลุ่มหมายถึงกองทุนผสมประเภทเดียวกันของที่อื่น บลจ.อื่นๆ ถ้าเทียบแล้วผลตอบเป็นอย่างไร ดีกว่า หรือแย่กว่า รวมถึงควรดูหลายๆช่วงเวลา ซึ่งสามารถดูรายละเอียดข้อมูลเหล่านี้ได้ผ่านหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet) ของกองทุนต่างๆผ่านเว็บไซต์บลจ.กสิกรไทย (KAsset) รวมถึงช่วงที่ตลาดปรับตัวลงแรง ก็อย่าลืมเทียบผลตอบแทนของกองทุนผสมกับดัชนีหุ้นด้วย เช่น กองทุนผสมที่มีสัดส่วนลงทุนหุ้นไทย ก็เปรียบเทียบกับดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET TRI) เป็นต้น  

ผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบปักหมุด กองทุน K-PLAN 2
ภาพ:ตารางผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบปักหมุดกองทุน K-PLAN2 ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2565


กำไร/ขาดทุน เอายังไงต่อดี?


กรณีกองทุนผสมกำไร 

แนะนำให้ถือต่อ เพราะกองทุนผสมเน้นสร้างผลตอบแทนระยะยาว เหมาะกับคนที่มีเงินเย็นต้องการพักเงินยาวๆ และสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางการเงินระยะยาวได้ด้วย หากต้องการซื้อขายเก็งกำไร แนะนำลงทุนกองทุนประเภทอื่น เช่น กองทุนหุ้นที่มีผู้จัดการกองทุนคอยดูแล ด้วยความผันผวนของสินทรัพย์ประเภทหุ้น เวลาขึ้นก็จะขึ้นแรง แต่เวลาลงก็ลงแรงได้เช่นกัน

กรณีกองทุนผสมขาดทุน 

แนะนำให้ถือต่อ เพราะโดยธรรมชาติของกองทุนผสม แม้จะติดลบก็ติดลบไม่เยอะ เนื่องจากกองทุนผสมมีการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ความผันผวนน้อยเมื่อเทียบกับหุ้น ทำให้กองทุนผสมผันผวนน้อยไปด้วย การถือต่อทำให้มีโอกาสที่กองทุนผสมจะกลับมาฟื้นตัวได้ หรือใครที่ถือกองทุนผสมแล้วติดลบ อยากให้ดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนผสมนั้นๆ ในหนังสือชี้ชวนฯ(Fund Fact Sheet) ว่าหลายปีที่ผ่านมาผลตอบแทนเป็นอย่างไร เทียบกับกลุ่มแล้วแย่เหมือนกันหรือไม่ และถ้าเทียบกับหุ้นด้วยแล้ว แย่กว่าหุ้นหรือเปล่า รวมถึงต้องถามตัวเองซ้ำอีกครั้งว่า เราสามารถลงทุนเพื่อรอผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้จริงๆหรือเปล่า ทั้งนี้ถ้าลองดูสิ่งต่างๆที่เล่ามาทั้งหมดแล้ว ก็น่าจะพอมีกำลังใจในการถือกองทุนผสมต่อไปได้


กองทุนผสมมีปีที่แย่เยอะไหม?


ผลตอบแทนย้อนหลังแต่ละสินทรัพย์

ภาพ:ตารางผลตอบแทนย้อนหลังแบบปักมุดของแต่ละสินทรัพย์

จากตารางผลตอบแทนย้อนหลังแบบปักหมุดช่วงปี 2556 – 2565 ของแต่ละสินทรัพย์ จะเห็นว่าทุกปีจะมีสินทรัพย์ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุด สับเปลี่ยนกันไปแต่ละปี โดยไม่มีสินทรัพย์ใดดีทุกปี ขณะที่สินทรัพย์ที่ทำผลตอบแทนได้แย่ก็สับเปลี่ยนกันไปเหมือนกัน แต่หากสังเกตที่การลงทุนแบบผสม(สีดำ) จะทำผลตอบแทนได้อยู่ระดับกลางๆ ใน 10 ปี ติดลบอยู่ 5 ครั้ง แต่หากพิจารณาผลตอบแทนกองทุนผสมของบลจ.กสิกรไทย(KAsset) 3 กองทุน ได้แก่กองทุน K-PLAN2 ,K-PLAN3,K-GINCOME-A(A) จะพบผลตอบแทนย้อนหลังแบบปักหมุดที่ไม่ได้ติดลบบ่อยเท่าตารางด้านบน อย่างใน 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าลงทุนกองทุนผสม K-PLAN2 ต้นเดือนมกราคม เมื่อถึงปลายเดือนธันวาคม จะติดลบเพียง 2 ปี กองทุนผสม K-PLAN3 ติดลบเพียง 3 ปี ส่วนกองทุน K-GINCOME-A(A) ที่เปิดมา 6 ปี ผลตอบแทนติดลบเพียง 2 ปีเท่านั้น

ผลตอบแทนย้อนหลังกองทุน


ลงทุนกองทุนผสมต้องหาจังหวะเข้าหรือไม่


กราฟผลตอบแทนย้อนหลัง

กราฟราคาNAVกองทุนK-PLAN2

สำหรับการเข้าลงทุนกองทุนผสมเพิ่มเติม ไม่จำเป็นต้องจับจังหวะการลงทุนเลย ตัวอย่างเช่นการเข้าลงทุนกองทุน K-PLAN2 ณ เวลาที่ราคา NAV ทำจุดสูงสุด หรือจุดที่แพงที่สุดของปีปฏิทิน 2 ครั้ง ด้วยจำนวนเงินเท่ากันทุกครั้ง ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2556 – ปลายเดือนธันวาคม 2565  เป็นระยะเวลา 10 ปี จะพบว่าราคา NAV เฉลี่ยของต้นทุนที่เราซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 15.4769 บาทต่อหน่วย ขณะที่ราคา NAV ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 อยู่ที่ 16.9351 บาทต่อหน่วย ซึ่งเราจะมีกำไรอยู่ที่ 9.42% แสดงให้เห็นว่าแม้เราจะโชคร้ายเข้าจุดที่แพงที่สุดตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราก็ยังมีกำไรได้

ราคาเข้าซื้อหน่วยลงทุน 1

หากเราสามารถเข้าลงทุนกองทุนผสม K-PLAN2 ณ จุดที่ราคา NAV ย่อลงมาต่ำสุดของปีปฏิทิน 2 ครั้งด้วยเงินที่เท่ากันก็พบว่า ณ เวลาช่วงเดียวกัน 10 ปีที่ผ่านมา จะมีราคา NAV เฉลี่ยของต้นทุนที่เราซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 14.5063 บาทต่อหน่วย จะทำให้เรามีกำไรอยู่ที่ 16.74% 

ราคาเข้าซื้อหน่วยลงทุน 2

จากข้อมูลการลงทุนกองทุนผสมด้านบน จึงทำให้สรุปได้ว่าแม้เราจะเข้าลงทุนกองทุนผสม เช่น K-PLAN2ที่จุดที่ดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง หรือจุดที่แย่ที่สุดอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนก็มีแนวโน้มเป็นบวก อาจจะมีความแตกต่างของผลตอบแทนกันอยู่บ้าง แต่เวลาลงทุนจริงเราก็คงไม่ได้โชคร้ายเข้าซื้อ ณ จุดที่แพงที่สุดทุกครั้ง ดังนั้นหากต้องการลงทุนกองทุนผสมเพิ่มเติม เราสามารถทำได้ทันทีเมื่อมีความพร้อมทางการเงิน




แนวโน้มการลงทุน


การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อชะลอเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไปเป็นสิ่งที่เราเห็นตามข่าวในช่วงปีที่ผ่านมา และอาจบอกได้ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้เช่นกัน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะกดดันธนาคารกลางทั่วโลกให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และส่งผลดีต่อราคาตราสารนี้ให้ปรับตัวสูงขึ้นได้

ความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะยุโรป และสหรัฐฯที่ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาอ่อนแอลง ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทต่างๆสูงขึ้น กระทบต่อประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มจะถูกปรับลดลงด้วย และแน่นอนว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นจริง ตลาดหุ้นก็มีโอกาสเกิดความผันผวนสูง แต่หากหันกลับมามองที่ประเทศไทยที่หากเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวขึ้นจริง หลายฝ่ายก็มองว่าไทยแม้จะได้รับผลกระทบ แต่ก็อาจจะได้รับผลกระทบไม่มากเท่าฝั่งตะวันตก เพราะเศรษฐกิจภายในประเทศค่อยๆฟื้นตัวจากทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเปิดประเทศของจีนที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว และการบริโภคในไทยให้สูงขึ้น

สำหรับใครที่ลงทุนใน K-PLAN 2 ,K-PLAN3 อยู่แล้ว ต้องบอกว่ากองทุนมีการกระจายการลงทุนทั้งในหุ้น และตราสารหนี้ โดยเฉพาะหุ้นที่เน้นลงทุนในประเทศเป็นหลัก และลงทุนต่างประเทศไม่เกิน 30% ของเงินทั้งหมด ทำให้มีโอกาสที่กองทุนจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนไม่มาก เนื่องจากปีนี้คาดว่าตราสารหนี้จะดี และหุ้นไทยได้รับผลกระทบไม่เยอะ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

สำหรับใครที่ลงทุน K-GINCOME-A(A) ที่มีการกระจายการลงทุนกว่า 3,000 สินทรัพย์ทั่วโลก ปีนี้มีโอกาสได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยตรง แต่หากเปรียบเทียบกับการลงทุนหุ้น 100% แล้ว กองทุน K-GINCOME-A(A) ก็มีความผันผวนน้อยกว่า เพราะมีการลงทุนกระจายความเสี่ยงไว้แล้ว





บทความโดย K WEALTH TRAINER มนัสวี เด็ดอนันต์กุล AFPT™

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

กองทุนผสม ทางเลือกลงทุนลดความเสี่ยง สร้างผลตอบแทนได้ทุกสภาวะ
วิธีแบ่งเงินลงทุน กองทุนหุ้น-กองทุนผสม โอกาสเพิ่มผลตอบแทน แบบคนไม่ชอบเสี่ยง
"กองทุนผสม" ทางเลือกลงทุนในภาวะโลกผันผวน
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!