K WEALTH / บทความ / Wealth Management / 3 วิธี ทำเงินงอกเงย รับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
01 กุมภาพันธ์ 2566
2 นาที

3 วิธี ทำเงินงอกเงย รับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น


​"

• ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยธนาคารแต่ละครั้ง เงินฝากที่ถืออยู่อาจได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไม่พร้อมกัน ขึ้นกับว่าเป็นเงินฝากออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำ และเงินฝากประจำเดิมนั้นครบระยะเวลาเมื่อไร


• เลือกเงินฝากประจำ 3 เดือน เพื่อให้ระยะเวลาการครบรอบ สอดคล้องกับการประชุม กนง. ช่วยเพิ่มโอกาสได้รับประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น


• ลองขยับเงินสักนิดไปไว้ในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้นอย่าง พันธบัตร หุ้นกู้ Term Fund และกองทุนผสม เงินเก็บที่มีก็สามารถเติบโตได้มากกว่าที่เคยเป็น


"​


ดอกเบี้ยขาขึ้น หลายคนคงได้ยินกันบ่อยตั้งแต่ปลายปี 2565 แล้วเคยสงสัยไหมว่า ดอกเบี้ยขึ้นเกี่ยวกับเราอย่างไร เงินที่ฝากธนาคารไว้จะได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามเสมอไปสำหรับทุกบัญชีหรือไม่ และควรเลือกเงินฝากแบบไหนในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น K WEALTH มีคำตอบให้กับทุกคน


มีข่าวดอกเบี้ยขึ้น! ดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นตามหรือไม่?


ดอกเบี้ยเงินฝาก จะขึ้นกับประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของแต่ละธนาคาร โดยเงินฝากแต่ละประเภทที่เราถืออยู่จะเริ่มใช้ดอกเบี้ยใหม่ไม่พร้อมกัน เช่น ประกาศดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารกสิกรไทย ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ 18 ก.ค. 54 (ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยในอดีต)ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 0.87%ต่อปี และเงินฝากประจำอยู่ที่ 3 เดือน 1.70%ต่อปี

เงินฝากออมทรัพย์ ดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นทันทีตั้งแต่วันที่ประกาศมีผล ดังนั้นยอดคงเหลือแต่ละวันในเงินฝากออมทรัพย์ก่อนวันที่ 18 ก.ค. 54 จะถูกคำนวณด้วยดอกเบี้ย 0.75%ต่อปี (ประกาศเริ่มใช้ 21 มิ.ย. 54) ส่วนยอดคงเหลือแต่ละวันตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 54 จะถูกคำนวณด้วยดอกเบี้ย 0.87%ต่อปี โดยดอกเบี้ยที่คำนวณไว้แต่ละวันจะสะสมเพื่อรอจ่ายเข้าบัญชีช่วงปลายเดือน มิ.ย. และ ธ.ค. ของแต่ละปี

เงินฝากประจำ เช่น ฝากประจำ 3 เดือน

     o ดอกเบี้ยที่ได้รับจะคงที่ตลอดเวลาการฝาก ตามประกาศดอกเบี้ยที่มีผล ณ วันเปิดบัญชี หรือการเริ่มฝากใหม่แต่ละรอบ ตัวอย่างเช่น เริ่มฝากประจำ 3 เดือน วันที่ 20 เม.ย. 54 จะได้รับดอกเบี้ย 1.25%ต่อปี (ตามประกาศที่เริ่มใช้ 9 เม.ย. 54) ตลอดระยะเวลา 3 เดือน หรือ 20 เม.ย. – 20 ก.ค. 54 แม้ในช่วงดังกล่าวธนาคารจะมีประกาศดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงก็ตาม

     o เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ตอน 20 ก.ค. 54 เงินต้นและดอกเบี้ยจะถูกฝากใหม่ ในเงินฝากประจำระยะเวลาเท่าเดิม แต่ได้ดอกเบี้ยตามประกาศที่มีผล ณ 20 ก.ค. 54 ซึ่งในที่นี้คือ เงินฝากประจำ 3 เดือน ดอกเบี้ย 1.70%ต่อปี (ประกาศเริ่มใช้ 18 ก.ค. 54) โดยจะได้รับดอกเบี้ยนี้คงที่ตลอดระยะเวลา 20 ก.ค. – 20 ต.ค. 54 เป็นต้น

การประกาศเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยของธนาคารแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่หนึ่งในปัจจัยหลัก คือ มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่โดยปกติมีการจัดประชุมปีละ 6 ครั้ง ซึ่งหาก กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ย ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มักปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม เช่น การประชุม กนง. 3 ครั้งล่าสุด ที่มีมติขึ้นดอกเบี้ยเมื่อ 28 ก.ย. 30 พ.ย. 65 และ 25 ม.ค. 66 หลังจากนั้น 5 - 8 วัน ธนาคารกสิกรไทยก็มีประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 - 24 เดือนตาม โดยมีเพียงบางครั้งเท่านั้นที่ธนาคารอาจไม่มีประกาศขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง. เช่น การประชุม กนง. เมื่อ 10 ส.ค. 65 ที่เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของ กนง. นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ COVID-19 แต่หลายๆ ธนาคารได้ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยสินเชื่อออกไป

การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. นอกจากส่งผลต่อดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารแล้ว ยังมักส่งผลต่อดอกเบี้ยตราสารหนี้ต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน ทำให้ตราสารหนี้ที่ออกใหม่หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย มักให้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ ระยะเวลา อันดับความน่าเชื่อถือ และมีลักษณะอื่นใกล้เคียงกัน ที่เคยออกก่อนหน้า รวมถึงส่งผลให้กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ หรือ Term Fund ที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ไทย อาจมีประมาณการผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน


ทางเลือกฝากเงิน รับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น


ปี 2566 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีกำหนดการประชุมทั้งหมด 6 ครั้ง แต่ละครั้งจะห่างกันประมาณ 2 เดือน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ามีโอกาสสูงที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ภายในไตรมาส 1/2566 และจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ถึงสิ้นปี ซึ่ง กนง. จะมีการประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 29 มี.ค. 66 ซึ่งธนาคารก็อาจขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากตามเช่นกัน ดังนั้นทางเลือกของการฝากเงิน สำหรับคนที่มีเงินก้อนสามารถฝากหรือเก็บได้ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีโอกาสได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่

เงินฝากประจำระยะสั้น: โดยการเลือกเก็บไว้ในเงินฝากประจำ 3 เดือนก่อน และเมื่อครบกำหนดเปลี่ยนไปเก็บในเงินฝากประจำ 12-36 เดือน เพื่อให้ได้รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หากธนาคารมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากหลัง มี.ค. 66

เงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได: โดยเลือกเก็บไว้ในเงินฝากประจำดอกเบี้ยขั้นบันได ที่ดอกเบี้ยทยอยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนครบระยะเวลา สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น เงินฝากประจำ 20 เดือน ของธนาคารแห่งหนึ่ง เดือนที่ 1-5 ให้ดอกเบี้ย 1.00%ต่อปี เดือนที่ 6-10 ให้ดอกเบี้ย 1.20%ต่อปี เดือนที่ 11-15 ให้ดอกเบี้ย 1.70%ต่อปี และเดือนที่ 16-20 ให้ดอกเบี้ย 2.70%ต่อปี อย่างไรสำหรับเงินฝากประจำดอกเบี้ยขั้นบันได ควรพิจาณาดอกเบี้ยเฉลี่ยต่อปีด้วย เช่น จากตัวอย่างนี้ดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.65%ต่อปี ซึ่งหากดอกเบี้ยนี้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือน ของธนาคารต่างๆ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ความน่าสนใจกว่าเงินฝากประจำทั่วไป แต่หากไม่ใช่ ความน่าสนใจก็อาจไม่ต่างไปจากเงินฝากประจำทั่วไป


ทำเงินงอกเงย รับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น


I: เงินฝาก


เงินฝากมักเป็นทางเลือกที่ให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นหลัง กนง. ประกาศขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงเงินฝากระยะยาว เช่น 36 เดือน ก็ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำระยะสั้นด้วย แต่ก็อาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่สูงเสมอไปเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่น ยกตัวอย่างเช่น วันที่ 15 มิ.ย. 49  ซึ่งอยู่ในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. อยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 หากนำเงิน 1 ล้านบาท ไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำ 36 เดือน ของธนาคารกสิกรไทย โดยประกาศดอกเบี้ยที่มีผล ณ วันดังกล่าวอยู่ที่ 4.75%ต่อปี หลังหักภาษี ณ ที่จ่าย เหลือดอกเบี้ยสุทธิที่ 4.04%ต่อปี ซึ่งหากถือยาว 9 ปี ซึ่งเงินฝากประจำก้อนนี้จะครบและฝากใหม่จำนวน 3 รอบ แต่ละรอบจะได้รับดอกเบี้ยไม่เท่ากัน ดอกเบี้ยรวมตลอด 9 ปี อยู่ที่ประมาณ 275,770 บาท คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเฉลี่ย 2.74%ต่อปี

อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ว่า จะได้ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยในช่วง 9 ปี ซึ่งรวมถึงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่น อีกทั้งดอกเบี้ยเงินฝาก ณ ปัจจุบัน ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อปี 2549 ด้วย เช่น เงินฝากประจำ 36 เดือน ธนาคารกสิกรไทย อยู่ที่เพียง 1.50%ต่อปี (ประกาศเริ่มใช้ 30 ม.ค. 66) ซึ่งทางเลือกการฝากเงินในปัจจุบัน คงไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้สูงเท่ากับการฝากเงินในปี 2549 ดังนั้นการลองแบ่งเงินบางส่วนจากที่อยู่ในเงินฝากประจำ ไปเก็บหรือลงทุนในทางเลือกอื่น อย่างพันธบัตรหรือหุ้นกู้ ซึ่งระบุดอกเบี้ยที่จะจ่ายให้ไว้ล่วงหน้าตลอดการถือพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้น จะช่วยให้เงินเก็บที่มีได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ หรือเป็นการล็อคดอกเบี้ยที่จะได้รับในระยะยาว ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางดอกเบี้ยที่อาจเปลี่ยนไป


II: พันธบัตรและหุ้นกู้


พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนของบริษัทขนาดใหญ่ อายุระยะยาว อาจเป็นทางเลือกที่ให้ดอกเบี้ย สุทธิหลังหักภาษี ณ ที่จ่าย ใกล้เคียงหรือสูงกว่า 2.74%ต่อปี (เทียบกับการฝากประจำ ตามตัวอย่างก่อนหน้า) เช่น

พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นสุขใจให้ออม ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่เสนอขายไปแล้วช่วง ธ.ค. 65 รุ่นอายุ 7 ปี ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3%ต่อปี หักภาษี ณ ที่จ่าย เหลือดอกเบี้ยสุทธิ 2.55%ต่อปี

หุ้นกู้ของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2566 มีอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้และบริษัท (credit rating) ระดับ A+ ซึ่งนอกจากเป็นระดับที่น่าลงทุนแล้ว ยังออกโดยบริษัทที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก มีความมั่นคง และมีโอกาสเติบโต ที่เสนอขายไปแล้วช่วง ม.ค. 66  รุ่นอายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 4%ต่อปี หักภาษี ณ ที่จ่าย เหลือดอกเบี้ยสุทธิ 3.40%ต่อปี

จากตัวอย่างพันธบัตรและหุ้นกู้ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเป็นทางเลือกที่ให้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่เพียง 1.50%ต่อปี (เงินฝากประจำ 36 เดือน ธนาคารกสิกรไทย ณ 30 ม.ค. 66) อีกทั้งยังมั่นใจได้ว่าดอกเบี้ยที่ได้รับตลอดการถือพันธบัตรและหุ้นกู้ เช่น 7-10 ปี จะไม่เปลี่ยนแปลงเหมือนกับการนำเงินไปฝากประจำ ที่ดอกเบี้ยจะเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่เงินฝากครบกำหนดทุก 3-36 เดือน แต่หากกังวลว่าจะไม่สามารถเก็บเงินหรือถือเงินลงทุนได้นาน 7-10 ปี ตามอายุพันธบัตรและหุ้นกู้ การเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้เงินเก็บที่มีได้รับผลตอบแทน โดยมีความคล่องตัวในการนำเงินออกมาใช้จ่ายได้


III: กองทุนรวม


พันธบัตรและหุ้นกู้ แม้เป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอนและสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ แต่ไม่สามารถขายหรือแปลงเป็นเงินสดได้ก่อนครบอายุ สำหรับผู้ที่กังวลว่าอาจจำเป็นต้องใช้เงินก่อนระยะเวลาที่ตั้งใจไว้ ลองพิจารณาทางเลือกกองทุนรวมที่สามารถขายคืนได้ทุกวันทำการ แม้มูลค่าหรือราคามีความผันผวนหรือขึ้นลงได้ทุกวันทำการระหว่างที่ถือลงทุน ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่าและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย เช่น กองทุนรวมผสม อย่างกองทุน K-PLAN2 และกองทุน K-PLAN3 ที่จากข้อมูล ณ 26 ม.ค. 66 มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่ 2.73% และ 3.51%ต่อปี ตามลำดับ และได้รับเงินค่าขายคืนหลังทำรายการขายคืน 3 วันทำการ (T+3)


เงินฝากประจำทางเลือกเก็บเงิน​ที่ให้ดอกเบี้ยสูงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นและอาจรู้สึกปลอดภัยเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่น แต่หากลองขยับเงินสักนิดไปไว้ในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้นอย่าง พันธบัตร หุ้นกู้ หรือกองทุนรวม Term Fund และกองทุนผสม เงินเก็บที่มีก็สามารถเติบโตได้มากกว่าที่เคยเป็น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก KResearch



บทความโดย K WEALTH TRAINER ราชันย์ ตันติจินดา CFP®

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

กองทุนผสม ทางเลือกลงทุนลดความเสี่ยง สร้างผลตอบแทนได้ทุกสภาวะ
วิธีแบ่งเงินลงทุน กองทุนหุ้น-กองทุนผสม โอกาสเพิ่มผลตอบแทน แบบคนไม่ชอบเสี่ยง
FED ขึ้นดอกเบี้ยชะลอตัว เลือกลงทุนกองทุนตราสารหนี้อย่างไรดี
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!