K WEALTH / บทความ / Wealth Management / สคบ. ควบคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อรถ กระทบใครบ้าง
29 พฤศจิกายน 2565
4 นาที

สคบ. ควบคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อรถ กระทบใครบ้าง





● เกณฑ์ใหม่ สคบ. เกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อรถ โดยกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุด เงื่อนไขส่วนลดดอกเบี้ยเมื่อปิดบัญชีก่อนกำหนด ลดเบี้ยปรับเมื่อผิดนัดชำระ และการคิดส่วนต่างที่เหลือหลังจากขายทอดตลาดแล้ว ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนขึ้น


● ผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ คือ กลุ่มบริษัทเช่าซื้อ’จักรยานยนต์ และกลุ่มบริษัทเช่าซื้อรถมือสอง ที่มีอายุรถมากกว่า 15 ปี 


● บล.กสิกรไทย มองว่า หุ้นสถาบันการเงินใหญ่น่าสนใจกว่า หุ้นสถาบันการเงินที่มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถ ที่จะได้รับผลกระทบจากเกณฑ์ใหม่ และหุ้นสินเชื่อเช่าซื้อ (Non-Bank) กลุ่มรถบรรทุก ได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มรถยนต์ และรถจักรยานยนต์


“​



เมื่อการพาดหัวข่าวว่า สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คุ้มเพดานดอกเบี้ย กระทบไฟแนนซ์ หลายคนที่อ่านไวไว ก็เข้าใจว่า ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง (เนื่องจากใครจะซื้อรถ คงผ่อนกันด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง) และผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ จะรายได้หายไปจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง จนกระทบกับธุรกิจหรือไม่ แล้วคนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ จะทำให้ได้รับผลกระทบเชิงลบ แล้วจริงๆ มีผลกระทบมากหรือน้อยเพียงใด ทั้งในมุมผู้บริโภค ในมุมของผู้ลงทุนในหุ้น บทความนี้มีข้อสรุปมาให้


เกิดอะไรขึ้น กับการควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถ 


มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้ว (12 ต.ค. 65) เรื่องข้อความในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้กับสัญญาเช่าซื้อรถที่ทำตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 เป็นต้นไป โดยทุกสัญญาต้องมีเงื่อนไขต่างๆ ตามประกาศฉบับใหม่ ซึ่งมีรายละเอียดในเรื่องใหญ่ๆ ดังนี้

1) การกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ย(แท้จริง) สูงสุด โดยกำหนดแบบอัตราดอกเบี้ยแท้จริง 

- รถยนต์ใหม่ ไม่เกิน 10% ต่อปี (คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ประมาณ 5.5%) 

- รถยนต์มือสอง ไม่เกิน 15% ต่อปี (คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ประมาณ 8.5% ต่อปี) 

- รถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 23% ต่อปี (คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ประมาณ 12.5% ต่อปี) 

2) เมื่อมีการปิดบัญชีก่อนกำหนด ได้ส่วนลดดอกเบี้ย อิงตามระยะเวลาที่ชำระหนี้มาแล้ว

การลดดอกเบี้ย เมื่อมีการปิดบัญชี มีความชัดเจนขึ้น แบ่งเป็น 3 ช่วงระยะเวลา คือ

- ชำระหนี้มาแล้ว ไม่เกิน 1 ใน 3 แล้วปิดบัญชี ได้ส่วนลดดอกเบี้ย ไม่น้อยกว่า 60% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนด

- ชำระหนี้มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 แล้วปิดบัญชี ได้ส่วนลดดอกเบี้ย ไม่น้อยกว่า 70% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนด

- ชำระหนี้มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แล้วปิดบัญชี ได้ส่วนลดดอกเบี้ยทั้งหมดของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนด

3) ลดเบี้ยปรับผิดนัดชำระค่างวด จากเดิมคิดเบี้ยปรับผิดนัดชำระค่างวดได้เท่ากับ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามสัญญา+3% แต่สูงสุดไม่เกิน 15% โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสัญญาเช่าซื้อที่มีอัตราดอกเบี้ยแท้จริง (EIR) ต่ำประมาณ 2% ต่อปี หากผิดนัดชำระ จะเสียค่าปรับ 5% เท่ากับเกณฑ์ใหม่ และกลุ่มสัญญาเช่าซื้อที่มีอัตราดอกเบี้ย EIR สูง และเดิมเก็บค่าปรับได้สูงสุด 15% ทำให้เกณฑ์ใหม่ปรับได้สูงสุดไม่เกิน 5% ลดลงทันที 10% ดังนั้น จากประกาศใหม่ของ สคบ. ทำให้เบี้ยปรับผิดนัดชำระปรับลดลง อยู่ระหว่าง 0-10% 

4) การคิดส่วนต่างหนี้ที่เหลือหลังขายทอดตลาดแล้ว ของเดิม จะมีการคำนวณทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยค้างชำระ/ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่เกณฑ์ใหม่ จะให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เฉพาะยอดที่ค้างชำระ ส่วนยอดที่ยังไม่ถึงกำหนด จะชำระเฉพาะเงินต้น รวมถึงค่าธรรมเนียม และค่าทวงหนี้ก่อนบอกเลิกสัญญา ทำให้ผู้บริโภคลดภาระในการชำระลงได้


ผลกระทบต่อผู้บริโภค 


ในมุมผู้บริโภค ถือว่าได้ประโยชน์จากความชัดเจนในหลักเกณฑ์ที่มีการคิด และแจกแจงว่ามีวิธีคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมอย่างไรได้บ้าง หากแบ่งตามประเภทลูกค้า 3 กลุ่ม จะได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้มากน้อยแตกต่างกันคือ 

รถยนต์ใหม่ การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยของ สคบ. จะไม่ได้รับประโยชน์จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อยู่ ยังไม่เกินเพดานที่กำหนด 

รถยนต์มือสอง จะประโยชน์บางกลุ่มเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อยู่ บางส่วนสูงกว่าเพดานที่กำหนด โดยจะกระทบกับผู้บริโภคที่มีรถยนต์มือสองที่มีอายุการใช้งานมากๆ ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ทำให้ต้องปรับตัวในเรื่องเงินดาวน์เพิ่มขึ้น หรือ อาจถูกจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อได้ 

รถจักรยานยนต์ จะได้ประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากในตลาดอัตราดอกเบี้ยที่คิด สูงกว่า 23% ผู้บริโภคจึงจะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ต้องเป็นผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ดังนั้น ในฐานะผู้บริโภคที่จะต้องซื้อจักรยานยนต์ บางส่วนอาจจะช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการเตรียมตัวด้านการเงิน เช่น ออมเงินดาวน์ก่อนซื้อจักรยานยนต์ หรือ เตรียมตัวจากพฤติกรรมในการผ่อนชำระหนี้ที่ดี


ผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อรถ


สำหรับผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อรถขอแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ มีทั้งที่เป็นบริษัทในเครือกับสถาบันการเงิน และกลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั่วไปทั้งมือใหม่ และมือสอง จะไม่ได้รับผลกระทบจากรายได้ดอกเบี้ย ยกเว้นกลุ่มบริษัทเช่าซื้อรถยนต์มือสอง ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป จากเกณฑ์ใหม่ของ สคบ. จะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ย ส่วนบริษัทเช่าซื้อจักรยานยนต์ จะได้รับผลกระทบจากเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 23% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยแท้จริงโดยเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ 30% ต่อปี ทำให้บริษัทเช่าซื้อจักรยานยนต์ ต้องปรับตัวทั้งกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง และต้นทุนที่จำเป็นต้องควบคุม

โดยสรุป กลุ่มบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ แทบไม่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์ใหม่ที่ออกโดย สคบ. เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ไม่เกินเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ สคบ. ออกเกณฑ์ใหม่มา ส่วนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก คือ กลุ่มบริษัทเช่าซื้อจักรยานยนต์ ที่ถูกเพดานอัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ สคบ. ที่ออกมาใหม่ ควบคุมให้ไม่เกิน 23% ส่งผลให้รายได้ลดลง และอาจจะกระทบกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะมีจำกัด อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ของ สคบ. ที่ออกมาใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะมีการส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้ว ประมาณ 1 ปี ดังนั้น หลังจากนี้ เป็นเรื่องของการปรับตัวของบริษัทเช่าซื้อทั้งหลาย และอาจจะกระทบแบบจำกัดต่อผลประกอบการบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ หรือกลุ่มธุรกิจการเงิน 


ข้อแนะนำการลงทุน


หากเป็นการลงทุนในหุ้น กลุ่มที่น่าสนใจ บล.กสิกรไทย มองว่า กฎเกณฑ์ใหม่จะกระทบกับ หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินใหญ๋น้อยกว่าหุ้นสถาบันการเงินที่มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ ที่อาจได้รับผลกระทบจากเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถในครั้งนี้ ซึ่งจะเริ่มมีผลกับสัญญาที่ทำตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 เป็นต้นไป ส่วนหุ้นกลุ่ม Non-Bank แนะนำหุ้นที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก เพราะจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์ใหม่นี้

นอกจากนี้ สำหรับการลงทุนในกองทุนรวม แนะนำ กองทุนรวม K-BANKING ที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากเกณฑ์ใหม่ของ สคบ. น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ในกลุ่มการเงิน และยังได้รับประโยชน์จากการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ที่จะเป็นบวกต่อผลประกอบการของหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน ยกเว้นสถาบันการเงินที่มีพอร์ตสินเชื่อเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์เป็นหลัก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก บทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มการเงิน จาก บล.โนมูระ พัฒนสิน

บทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มการเงิน / สถาบันการเงิน จาก บล.กสิกรไทย
หนี้ครัวเรือนปรับลดลงมา 88.% หนี้ครัวเรือนชะลอลงมาที่ 88.2% ต่อจีดีพี ในไตรมาส 2/2565...ครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ก้อนใหญ่ แต่ยังใช้สินเชื่อไม่มีหลักประกันเสริมสภาพคล่องระยะสั้น

The Big Issue 2022 : คุมสัญญาเช่าซื้อ ลิสซิ่ง สะเทือน | THE BIG ISSUE | 02/11/65

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



บทความโดย K WEALTH TRAINER สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

​กองทุน K-BANKING

ซื้อเลย

​เปิดบัญชีหุ้นกับ บล.กสิกรไทย

ดูเพิ่มเติม
วิเคราะห์ตลาดหุ้นไทย กองทุนไหนน่าเก็บ
วิธีแบ่งเงินลงทุน กองทุนหุ้น-กองทุนผสม โอกาสเพิ่มผลตอบแทน แบบคนไม่ชอบเสี่ยง
ตลาดรถมือสองบูม ทำสินเชื่อรถกลับมาคึกคัก สวนทางเศรษฐกิจ
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!