K WEALTH / บทความ / Market Update / ตลาดรถมือสองบูม ทำสินเชื่อรถกลับมาคึกคัก สวนทางเศรษฐกิจ
16 สิงหาคม 2565
4 นาที

ตลาดรถมือสองบูม ทำสินเชื่อรถกลับมาคึกคัก สวนทางเศรษฐกิจ


​​“

• ปี 2565 ตลาดรถมือสองตัวเลขดีขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสองกลับมาคึกคักด้วยเช่นกัน เหตุผลหลักมาจากคนยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้รถ และด้วยเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตัวเลือกที่เป็นรถมือสองราคาจะจับต้องได้มากกว่า


• ปัจจัยที่ต้องติดตามคือเรื่องเพดานดอกเบี้ยที่ในอดีตไม่ได้มีการควบคุม แต่ปัจจุบันมีการเสนอร่างปรับใหม่แยกตามประเภทรถ (รถยนต์ใหม่ 15% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้ว 20% ต่อปีและรถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ 30% ต่อปี) ซึ่งยังคงต้องติดตามว่าจะผ่านมติในที่ประชุมของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือไม่



ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ยอดขายรถยนต์มือสองในปีนี้อาจเติบโตประมาณ 3-5% หรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 6-7 แสนคัน และจะทำให้แนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองในระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2565 มีโอกาสขยายตัวเป็นบวกที่ 5-7% จากฐานสินเชื่อประมาณ 3 แสนล้านบาทอีกด้วย มาดู 2 เหตุผลกันว่าทำไมตลาดรถมือสองถึงกลับมาคึกคัก



I: การกลับมาของรถมือสอง


1) ความจำเป็นในการใช้รถ

จากการแพร่ระบาดของโควิดที่สถานการณ์ในประเทศไทยเริ่มลดน้อยลง ทำให้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตกันตามปกติมากขึ้น หลายบริษัทเริ่มให้กลับมาทำงานตามปกติเหมือนเดิม ทางกลับกันอีกหลายคนที่อาจกำลังเปลี่ยนงานหรือตกงานแล้วได้งานใหม่ ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้รถเพื่อประกอบอาชีพ หารายได้มาจุนเจือเลี้ยงครอบครัว และด้วยสภาวะแบบนี้ที่ต้องเจอกับเงินเฟ้อ ข้าวของขึ้นราคา อาจมีบางส่วนตัดสินใจหันไปซื้อรถยนต์มือสองเพื่อทดแทนการซื้อรถยนต์ป้ายแดงมากขึ้น จนทำให้ตลาดรถมือสองกลับมาคึกคัก


2) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับการหาข้อมูล และซื้อรถมือสองได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตเป็นอย่างมาก ผู้บริโภคมีความมั่นใจสูงขึ้นมากในการเลือกซื้อรถยนต์มือสองผ่านช่องทางออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งในอดีตการที่จะหาซื้อรถมือสองต้องไปตามเต็นท์รถหรือจากการแนะนำบอกต่อ ดังนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์มือสองจึงต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคให้มากที่สุด


3) ตลาดรถมือสองน่าเชื่อถือขึ้น

ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดทำโครงการรถมือสองคุณภาพผ่านการตรวจสอบ เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมรถยนต์มือสอง มีการสุ่มตรวจกิจการรถใช้แล้ว และการกำหนดมาตรฐานสัญญาซื้อขายรถ รวมถึงการควบคุมสัญญาของธุรกิจให้เช่าซื้อรถ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค



II: การควบคุมเพดานดอกเบี้ย

ในอดีตการคิดอัตราดอกเบี้ยในธุรกิจลีสซิ่งไม่เคยมีเพดานมาก่อน ทำให้คิดดอกเบี้ยกันตามต้นทุนบวกกับความเสี่ยงส่งผลให้ดอกเบี้ยสูง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงออกประกาศมาคุม โดยได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันคือ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว (รถมือสอง) และสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย ซึ่่ง 3 สมาคมได้เสนออัตราดอกเบี้ยสำหรับรถยนต์ใหม่ 15% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้ว 20% ต่อปี และรถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ 30% ต่อปี ซึ่งถ้ามีการประกาศใช้ตามนี้ผู้ที่อาจเสียประโยชน์จะเป็นผู้ให้บริการเช่าซื้อมอไซค์ เพราะปัจจุบันคิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 30-35 % ส่วนเพดานดอกเบี้ยเพดานใหม่กำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 30% ส่วนผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่งและมือสองอาจไม่ได้รับผลกระทบนัก เพราะเพดานดอกเบี้ยใหม่นี้กำหนดให้ผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่งคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 15% ต่อปี ซึ่งปัจจุบันตลาดคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานใหม่อยู่แล้ว หรืออยู่แค่ 4-5% ต่อปี ส่วนเพดานผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์มือสองกำหนดไม่เกิน 20% ต่อปี ซึ่งปัจจุบันตลาดคิดดอกเบี้ย 8% ต่อปี เพิ่มเติมในส่วนอัตราดอกเบี้ยหากเป็นลักษณะการเช่าซื้อจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้แบบเงินต้นคงที่ (Flat Rate) แต่ถ้ามีการใช้วงเงินสินเชื่อและผ่อนปรนการผ่อนชำระตามความสามารถ จะคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก Effective Rate



จะซื้อรถยนต์มือสองต้องดูอะไรบ้าง

อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงเริ่มสนใจที่อยากจะมีรถมือสองสักคัน จากปัจจัยบวกที่ทำให้รถมือสองน่าสนใจ และราคาก็ไม่ตกซึ่งต่างจากรถยนต์มือหนึ่งที่ซื้อมาเป็นเจ้าของได้ไม่เท่าไหร่ราคาก็ตกทันที ทีนี้ลองมาดูกันว่าในยุคนี้หากอยากจะซื้อรถยนต์มือสองสักคันต้องดูอะไรบ้าง


1) ข้อมูลทั่วไป

1.1 ตรวจสอบประวัติ : ควรตรวจสอบประวัติของรถก่อนตัดสินใจเลือก ว่ารถคันที่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุใหญ่ๆ มีการซ่อมยกเครื่องยนต์ หรือเคยถูกน้ำท่วมหรือไม่ และเคยเปลี่ยนเจ้าของมาแล้วกี่ครั้ง ฯลฯ เพราะทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อการบำรุงรักษารถในระยะยาว เบื้องต้นดูได้จากเล่มทะเบียนรถ ส่วนการชนหรือร่องรอยต่างๆ อาจต้องให้ศูนย์รถหรือผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบให้ 


1.2 ตรวจสอบไมล์สะสมรถยนต์ : โดยทั่วไปรถยนต์คันหนึ่งถ้าวิ่งใช้งานปกติทุกๆ วันโดยเฉลี่ยจะตกอยู่ที่ปีละประมาณ 10,000-20,000 กิโลเมตร หากไมล์สะสมของรถที่ใช้มีค่าสูงจะส่งผลต่อมูลค่าของรถ และในปัจจุบันอาจมีการกรอเลขไมล์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเพื่อให้ผู้บริโภคคิดว่ารถเลขไมล์น้อยวิ่งมาไม่เยอะคุณภาพดี วิธีเช็คเบื้องต้นที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง คือ เช็คจากประวัติการเข้าศูนย์บริการรถยนต์ของยี่ห้อนั้นๆ แล้วนำข้อมูลวันที่กับเลขไมล์ที่รับบริการครั้งล่าสุดมาตรวจสอบกับเลขไมล์ปัจจุบัน เช่น ณ วันที่เข้าศูนย์บริการมีการระบุเลขไมล์ที่ 100,000 กิโลเมตร แต่เลขไมล์วันที่ซื้อรถคือ 70,000 กิโลเมตร แสดงว่าไม่ตรงกัน 


1.3 พ.ร.บ. และ ภาษีรถยนต์ : อย่าลืมสอบถามกับทางเต็นท์รถหรือเจ้าของเก่าว่า ภาษีรถยนต์ กับ พ.ร.บ. จะหมดอายุเมื่อไหร่ แน่นอนว่าเมื่อต้องการขายรถคนขายก็ไม่อยากจะเสียเงินจึงอยากยกให้เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อแทน ซึ่งค่าต่อ พ.ร.บ. และ ภาษีรถยนต์อยู่ระหว่างหลักร้อยถึงหลักพัน แต่หากขาดต่อหรือหมดอายุแล้วนำรถยนต์ไปขับขี่จะมีค่าปรับตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นบาท


2) ประกันรถยนต์​

2.1 ใช้ประกันเดิม : อาจใช้ประกันจากกรมธรรม์เดิมได้ หรือจะยกเลิกก่อนกำหนดสัญญา ทั้งนี้ต้องอ่านรายละเอียดใน กรมธรรม์ ราคาที่ต้องจ่ายต่อปี และความคุ้มครองต่างๆ อย่างละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจเพื่อดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ 


2.2 เลือกซื้อประกันใหม่ : โดยเลือกซื้อตามอายุการใช้งานของรถที่ผ่านมา 

     • รถมือสองอายุ 1-5 ปี : เป็นรถที่ยังถือว่ามีสภาพที่ดี ส่วนใหญ่เจ้าของขายเอง แนะนำทำประกันชั้น 1 เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของการเกิดอุบัติเหตุ คุ้มครองบุคคลภายนอก การเกิดโจรกรรม หรือเกิดภัยธรรมชาติ

     • รถมือสองอายุ 5-7 ปี : เป็นรถที่ผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่ง แนะนำประกันชั้น 2 หรือ 2+ ค่าเบี้ยจะถูกลงเมื่อเทียบกับประกันชั้น 1 ความคุ้มครองครอบคลุมทั้งในส่วนของความเสียหายของตัวรถยนต์ ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ความเสียหายต่อบุคคลภายนอก 

     • รถมือสองอายุมากกว่า 7 ปี : ถือว่าเป็นรถเก่า แนะนำประกันชั้น 3 หรือ 3+ ที่ยังมีความคุ้มครองในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ แม้จะไม่ได้คุ้มครองรถตนเอง แต่ก็คุ้มครองรถคันอื่นหรือคู่กรณี


3) สินเชื่อ

3.1 ดอกเบี้ยรถมือสอง : จะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ต่อปี (Flat Rate) หากไม่ต้องการให้มีเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยหรือเสียค่าปรับเพิ่มเติมควรหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระ และควรมีการเช็กหรือสอบถามยอดผ่อนรถต่อเดือนให้ดี เพื่อเตรียมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้เพียงพอ 


3.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% : รถยนต์มือสองจะมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มไปอีก 7% แต่ถ้าเป็นการซื้อจากบุคคลทั่วไปหรือซื้อจากเจ้าของโดยตรงก็จะไม่ต้องเสียภาษีตรงส่วนนี้ (แต่จะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์) หากซื้อจากเต็นท์รถมือสอง ส่วนมากราคาจะยังไม่รวมภาษี ดังนั้นไม่ว่าจะซื้อรถมือสองด้วยเงินสด หรือผ่อนสินเชื่อ ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นเอง ภาระการผ่อนที่ต้องจ่ายในแต่ละงวดจะมากขึ้น ดังนั้นอย่าลืมเตรียมเงินเผื่อเอาไว้ในส่วนของ Vat 7% นี้ด้วย วิธีคิดเบื้องต้นคือใช้ยอดรวมสินเชื่อกับดอกเบี้ย + 7% ก็จะออกมาเป็นราคารถ รวม VAT ที่ต้องจ่าย เช่น ซื้อรถยนต์มือสอง Isuzu MU-X ปี 2017 ราคาขาย 800,000 บาท ผ่อน 48 งวด วางเงินดาวน์ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 7% เบื้องต้นคิดจาก (700,000 x 7%) x 4 เท่ากับ 196,000 บาท เป็นดอกเบี้ยรวมตลอดอายุสัญญา ดังนั้นที่ราคารถรวม VAT ที่ต้องจ่ายคือ 958,720 บาท [ 800,000 +198,000) + VAT 7% ] ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อสามารถสอบถามได้จากคนขาย เพื่อดูว่ากำลังความสามารถของเรานั้นจ่ายไหวหรือไม่


ยังมีอีกหลายประเด็นที่คนซื้อรถยนต์มือสองควรรู้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตามต้องไม่เอาความอยากได้มาเป็นตัวตั้งนำความจำเป็นในการใช้ ในวันนี้เราอาจผ่านการคิดมาแล้วว่าผ่อนไหวแต่ในอนาคตอาจมีตัวแปรหรือปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้ผ่อนต่อไม่ไหว และในเรื่องของเพดานดอกเบี้ยที่แม้จะไม่ได้กระทบกับรถยนต์มือสองมากนัก แต่ก็ควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพราะก็ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนออกมาว่าจะควบคุมอยู่ที่เท่าไร


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: 

• แนวโน้มสินเชื่อเช่ารถมือสอง : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/financial/Pages/used-car-y3975.aspx




บทความโดย K WEALTH TRAINER พธพร รัตนสิโรจน์กุล
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

อย่าเพิ่งซื้อประกันรถ ถ้ายังไม่ได้อ่านสิ่งนี้
โอกาสทำเงินจากตลาดรถ EV
​​​​4 เรื่องที่ต้องเช็กก่อนซื้อประกันรถยนต์

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

​สินเชื่อรถ (รถใช้แล้ว)

ดูเพิ่มเติม

ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1

ดูเพิ่มเติม