ผ่านไปแล้ว 8 เดือนสำหรับตลาดหุ้นไทยที่เมื่อดูข้อมูล SET index ตั้งแต่ต้นปี จนถึงปลายเดือนสิงหาคม พบว่าตลาดหุ้นไทยเหมือนไม่ได้ขยับไปไหนเลย เมื่อเทียบกับต้นปี ที่อยู่ระดับประมาณ 1,670 จุด จนหลายคนเริ่มสงสัยต่อไปว่า 4 เดือนถัดจากนี้ไป ตลาดหุ้นไทยจะไปต่อได้หรือไม่ มีปัจจัยด้านบวก และปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่มากระทบการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
สถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นไทย
โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยรายว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอลงบ้าง จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง หลังเร่งตัวในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกปรับตัวลงตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า แต่ภาคบริการปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัว ส่วนผลประกอบการธุรกิจในตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ปัจจัยเสี่ยงตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลัง
1.ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง
จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ อยู่ในระดับสูงมาเป็นเวลานาน และมีความเสี่ยงที่ราคาพลังงานจะสูงขึ้นไปอีกในช่วงฤดูหนาวของทางยุโรป หากรัสเซียปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ซึ่งไม่เพียงยุโรปเท่านั้น แต่ทั่วโลกก็จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย รวมทั้งประเทศไทย
2.ถ้า FED คุมเงินเฟ้อไม่ได้
ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วธนาคารกลางสหรัฐฯจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงให้ค่อยๆปรับตัวลงมาได้หรือไม่ เพราะหากยังคุมไม่ได้ต่อไป ก็ต้องมีการใช้ยาแรงอย่างการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแรงๆกันต่อ เพื่อกดเงินเฟ้อให้ลงมา ซึ่งผลกระทบข้างเคียงจากการขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ และถี่ๆก็คือเศรษฐกิจมีความเสี่ยงเข้าสู่การถดถอย และอาจลามทำให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยมีการฟื้นตัวที่ช้าลงมากกว่าเดิม
3.นโยบาย Zero Covid ของจีน
ถือเป็นปัจจัยที่กระทบกับเศรษฐกิจไทยโดยตรง หากจีนยังไม่เลิกใช้นโยบายนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจจีนก็จะชะลอตัวลง คู่ค้าอย่างไทยก็ได้รับผลกระทบไปด้วย จะเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนกรกฎาคมที่แม้จะมีการขยายตัว 4% แต่การส่งออกไปจีนติดลบ 20.6% นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปจากประเทศไทย ก็ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย การบริโภคภายในประเทศ และเศรษฐกิจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลัง
1.อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำ
ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยถี่ๆ และแรงๆเพื่อแตะเบรกเศรษฐกิจจนเกินไป ต่างกับฝั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ตลาดหุ้นบ้านเรามีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นด้วย โดยช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นนักลทุนต่างชาติซื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปีหลักแสนล้านบาท และในเดือนสิงหาคม ธนาคารแห่งประเทศไทยพึ่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย0.25% ครั้งแรกในรอบหลายปี และส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเหมือนฝั่งประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย
2.จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น
โดยทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าช่วงครึ่งปีหลัง นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 7.5 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 4.03 แสนล้านบาท นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ มองว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ โดยคาดว่าGDP ไทยปีนี้เติบโตอยู่ระดับ 3-3.5% เช่นเดียวกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทำได้ค่อนข้างดี จากการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
3.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยรัฐบาลตั้งงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณเพื่อใช้จ่ายทั่วไป 5.9 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 6.88 แสนล้านบาทสำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาวน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่าภาครัฐเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี ทั้งการบริโภค และอื่นๆ เช่นมาตรการส่งเสริม Solar Rooftop มาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยมองว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย
4.Fund Flow ไหลเข้าหุ้นไทยต่อเนื่อง
โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 – 29 ส.ค. 2565 มูลค่า 169,356.54 ล้านบาท ในขณะที่ 1 ส.ค. – 29 ส.ค.2565 เดือนเดียว ต่างชาติซื้อสุทธิ 52,005.75 ล้านบาท จากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำไรสุทธิไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีกำไรสุทธิ 3.46 แสนล้านบาท เติบโต 22.4% จากไตรมาสก่อน และ 26.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นฐานกำไรสุทธิที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนำไปสู่การปรับเพิ่มประมาณการกำไรของปีนี้ นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจถดถอยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว กลายเป็นเป้าหมายของต่างชาติในการลงทุน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
สถานการณ์แบบนี้เลือกกองทุนไหนดี
ด้วยปัจจัยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากขึ้น การบริโภคภายในประเทศที่เติบโต รวมทั้งการกลับมาดำเนินกิจกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจอีกครั้งหลังจากการระบาดของ COVID-19 จะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัว ขยายตัวได้อีกครั้ง ดังนั้นการเลือกกองทุนหุ้นไทยที่เข้ากับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จึงมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงขอแนะนำกองทุน K-STAR กองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยพื้นฐานดี มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว รวมทั้งมีการจับจังหวะ ปรับสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากกองทุนหุ้นไทยอื่นๆของบลจ.กสิกรไทย ที่ไม่ได้เน้นการจับจังหวะการลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์มากนัก โดย K-STAR มีการจัดสรรการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดังนี้
ตัวอย่างหุ้นที่กองทุนลงทุน
1.บมจ.ท่าอากาศยานไทย
ประกอบธุรกิจให้บริการท่าอากาศยานในประเทศไทย โดยมี 6 ท่าอากาศยาน เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเดินทางผ่านท่าอากาศยานเหล่านี้ โดยในปี 2564 ในช่วงสถานการณ์ COVID -19 มีรายได้รวม 7,715.73 ล้านบาท
2.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์
บริษัทโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซและพลังงานหมุนเวียน โดยให้บริการทั้งภาครัฐ หรือการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งของผู้บริโภค ภาครัฐ และภาคการผลิต โดยในปี 2564 มีรายได้รวม 49,983.74 ล้านบาท
3.บมจ.ธนาคารกสิกรไทย
ผู้ให้บริการทางการเงิน โดยช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ธุรกิจต้องการหาแหล่งเงินทุน ก็สามารถกู้เงินจากธนาคาร เพื่อนำมาใช้เป็นทุนประกอบธุรกิจได้ รวมถึงช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ถือเป็น sentiment บวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคารด้วย โดยปี 2564 มีรายได้ทั้งหมด 258,001.38 ล้านบาท
4.บมจ.ซีพี ออลล์
บริษัทธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า “7-Eleven” ในประเทศไทย ในปี2564 มีรายได้รวม 587,189.76 ล้านบาท
กองทุน K-STAR มีหลายประเภท
1.K-STAR-A(R)
เป็นกองทุนรวมชนิดรับซื้อคืนอัตโนมัติ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการมีกระแสเงินสดรับระหว่างลงทุน คล้ายเงินปันผล แต่จะเป็นการขายคืนหน่วยลงทุนบางส่วนอัตโนมัติ ตามรอบที่กองทุนรวมประกาศ โดยกองทุน K-STAR-A(R) จะขายคืนหน่วยลงทุนออกมาเมื่อราคาแตะระดับที่กองทุนตั้งเป้าไว้ และผู้ถือหน่วยลงทุนมีกำไรตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป กองทุนจะทำการขายคืนอัตโนมัติหน่วยลงทุน ตามมูลค่าครึ่งหนึ่งของกำไรทั้งหมดออกมา ซึ่งข้อดีของการขายคืนอัตโนมัติคือเหมือนได้เงินปันผล โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินปันผล
2.K-STAR-A(A)
เป็นกองทุนรวมชนิดสะสมมูลค่า ไม่มีการจ่ายปันผล ไม่มีการขายคืนอัตโนมัติ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการกระแสเงินสดรับระหว่างการลงทุน ต้องการให้ผลตอบแทนทบต้น งอกเงยมากยิ่งขึ้นไปในอนาคต
3.K-STAR-SSF
กองทุนรวมชนิดเพื่อการออม ไม่มีการจ่ายปันผล หรือขายคืนอัตโนมัติ เน้นสะสมมูลค่า เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อซื้อแล้วต้องถือลงทุนอย่างน้อย 10 ปี นับวันชนวัน
แม้ทั้ง 3 กองทุนมีจุดต่างกันอยู่บ้าง แต่ส่วนที่เหมือนกันคือทั้ง 3 กองทุนลงทุนเหมือนกัน โดย K-STAR-A(R) เปิดมานานที่สุด ในบทความนี้จึงอ้างอิงผลตอบแทนของกองทุน K-STAR-A(R) เป็นหลักเพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานย้อนหลัง
ผลการดำเนินงาน K-STAR-A(R)
กองทุนรวม K-STAR-A(R) ทำผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน 29 พ.ค. 2549 จนถึงวันที่ 27 ก.ค. 2565 ได้เฉลี่ย 9.29% ต่อปี และขณะที่ Maximum Drawdown กองทุน K-STAR-A(R) อยู่ที่ -37.32 % โดยมี Recovering Period 1 ปี 7.76 เดือน และได้รับอันดับกองทุน Morning Star 5 ดาว
แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะมีปัจจัยสนับสนุน แต่ก็มีปัจจัยกดดันจากต่างประเทศด้วย อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับความผันผวนได้ในบางช่วงเวลา ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้นไทย ผ่านกองทุนรวม K-STAR แนะนำทยอยสะสมเมื่อตลาดย่อตัวลง เพื่อถัวเฉลี่ยให้ต้นทุนไม่สูงจนเกินไปหากเผชิญกับสภาวะความผันผวนของตลาดการลงทุน
ขอบคุณข้อมูลจาก : KS, ธนาคารแห่งประเทศไทย ,กรุงเทพธุรกิจ , SET