K WEALTH / บทความ / Product Review / เทรนด์ลงทุนอย่างยั่งยืน มาแรงทั่วโลก เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง
07 ธันวาคม 2565
2 นาที

เทรนด์ลงทุนอย่างยั่งยืน มาแรงทั่วโลก เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง


​​​



• ธุรกิจแบบยั่งยืน ที่กำลังถูกขับเคลื่อนให้มาแทนที่ธุรกิจแบบเดิมๆ ในไม่ช้า ส่วนธุรกิจที่ไม่ปรับตัวจะเริ่มเผชิญกับอุปสรรคมาขึ้นทั้งจากกฎเกณฑ์ภาครัฐ พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงการระดมทุนในอนาคต


• การลงทุนแบบยั่งยืนไม่ใช่การเลือกลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหรือนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายความถึงธุรกิจทั่วไป ที่ปรับวิธีการทำงานและดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ให้เป็นมิตรต่อโลกด้วย


• การลงทุนแบบยั่งยืน ไม่ใช่คำสวยหรูหรือการลงทุนแบบเสียสละให้โลกเสมอไป ดูได้จากผลตอบแทนแทนที่ผ่านมาของดัชนี MSCI World Climate Change นั้นได้ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนที่สูงกว่าการลงทุนหุ้นโลกทั่วไป



ในภาวะการลงทุนที่มีความผันผวนอย่างในปัจจุบัน ผู้ลงทุนจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การลงทุน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainable Investment) ซึ่งถือยุทธศาสตร์การลงทุนที่สำคัญ ที่ไม่เป็นเพียงแค่ทางรอดให้กับเงินลงทุนของผู้ลงทุน ยังเป็นทางรอดให้กับองค์กรและประเทศต่างๆ ในระดับโลกด้วย

การลงทุนในธุรกิจแบบยั่งยืน คือ การเลือกลงทุนในกิจการที่เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องมีครบ 2 องค์ประกอบ นั่นคือ (1) กิจการที่ทำเดินธุรกิจโดยเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่เป็นพิษ (WILD) สู่ธุรกิจที่เป็นมิตร (CLIC) ต่อสิ่งแวดล้อมและโลก และ (2) ยังเป็นธุรกิจที่มีกำไร และอยู่รอดได้


I: ความแตกต่างของธุรกิจที่ เป็นพิษ vs เป็นมิตร 

​​​ระบบเศรษฐกิจที่เป็นพิษ (W.I.L.D.)
​​ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตร (C.L.I.C.)
​W: wasteful
​สิ้นเปลือง
​C: circular
​หมุนเวียน
​I: idle
​เหลือเกินเหลือใช้
​L: lean
​เท่าที่จำเป็น
​L: lopsided
​ไม่เท่าเทียมกัน
​I: inclusive
​เข้าถึงได้
​D: dirty
​สกปรก
​C: clean
​สะอาด

จากตารางเห็นได้ว่า ธุรกิจที่เป็นมิตร (C.L.I.C.) คือ ธุรกิจที่เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่าน โดยการ

Circular >> ลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง โดยเปลี่ยนไปใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนมากขึ้น เช่น ธุรกิจการผลิตที่นำวัสดุ Recycle มาเป็นวัตถุดิบในการใช้การผลิตมากขึ้น หรือธุรกิจทั่วไปที่ Reuse วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ เช่น การใช้กระดาษ reuse หรือการนำกระดาษที่ใช้หน้าเดียวกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยปัจจุบันมีทรัพยากรเพียง 8%-9% เท่านั้น ที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่

Lean >> การใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ลดต้นทุนการเสียโอกาสหรือการถือครองทรัพย์สินโดยไม่จำเป็น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน คือ Sharing Economy เช่น Co-working space, Car Sharing เป็นต้น ที่ไม่ได้หมายความเพียงแค่ธุรกิจที่ให้บริการนั้น แต่หมายความรวมถึงองค์กรต่างๆ ที่เริ่มหันมาจัดสรรพื้นทำงานในออฟฟิศแบบไม่มีโต๊ะประจำ เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ทำงานแบบ Co-working space หรือการสนับสนุนให้พนักงานที่ต้องเดินทางออกจากสถานที่เป็นครั้งคราวเดินทางด้วย Car Sharing แทนการใช้รถยนต์ของบริษัท เป็นต้น

Inclusive >> ณ ปัจจุบัน มลภาวะประมาณ 90%ของโลก มาจากประชากรเพียง 50% เท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีฐานะการเงินที่มีโอกาสในการเข้าทรัพยากรต่างๆ จึงเป็นหนึ่งสิ่งที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญว่า จะทำอย่างไรให้ประชากรส่วนใหญ่เข้าถึงสินค้าและบริการของตนได้มากยิ่งขึ้น

Clean >> แนวทางหนึ่งที่หลายองค์กรให้ความสำคัญในปัจจุบัน คือ Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่ไม่เพียงแต่ภาคการผลิตที่ต้องควบคุมการปล่อยก๊าซ แต่ภาคธุรกิจอื่นก็ต้องร่วมลดการปล่อยก๊าซด้วย เช่น ลดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรแบบ Reuse เพื่อลดโอกาสในการปล่อยก๊าซจากภาคการผลิตลง เป็นต้น


II: ลงทุนธุรกิจที่เป็นมิตร ความจำเป็นหรือตามกระแส


ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่มองว่าการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรหรือการลงทุนแบบยั่งยืน เป็นเพียงการลงทุนตามกระแสหรือไม่ก็เป็นการลงทุนที่ต้องเสียสละ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ ดำเนินกิจการที่เป็นมิตร โดยได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าการลงทุนในธุรกิจทั่วไป

แต่หากพิจารณา 4 แรงขับเคลื่อนหลัก ที่หากสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ในทุกแรงขับเคลื่อนแล้ว กระบวนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจนอกจากไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ยังส่งกระทบเชิงลบต่อธุรกิจที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงด้วย ได้แก่

     (1) ผู้กำหนดกฎเกณฑ์ >> ปัจจุบันภาครัฐของหลายประเทศ เริ่มมีการกำหนดกฎเกณฑ์หรือบทลงโทษ ธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่เกินกำหนด ตามแนวทางของ Net Zero เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือบทลงโทษที่อาจรุนแรงถึงขั้นยึดยึดใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เป็นต้น 

     (2) นวัตกรรม >> เช่น รถยนต์ EV ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมสูงขึ้น จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของผู้บริโภคที่ต่ำลง ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ EV มีแนวโน้มเติบโต ในขณะที่ธุรกิจรถยนต์สันดาบเริ่มได้รับผลกระทบ สังเกตได้จากผู้ผลิตรถยนต์สันดาบหลายรายเริ่มหันมาเตรียมผลิตรถยนต์ EV มากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่า ปี 2568 ต้นทุนการผลิตและราคาขายรถยนต์ EV จะต่ำกว่ารถยนต์สันดาบ

     (3) ผู้บริโภค >> การเลือกหรือปฏิเสธการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ย่อมส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจธุรกิจต่างๆ จนจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น ผู้บริโภคในยุโรปที่มีการรวมตัวกันและเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าจากผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ไม่ดำเนินการเรื่อง Net Zero หรืออย่างประเทศไทยปัจจุบันก็มีการลดการใช้ถุงพลาสติกลงเป็นจำนวนมาก จากความร่วมมือของภาคธุรกิจและผู้บริโภคจนการงดใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

     (4) นักลงทุน >> เหล่านักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน ได้มีแนวคิดร่วมกัน หรือ Investment community ว่าจะมีการนำ ESG หรือการลงทุนแบบยั่งยืนมาเป็นเกณฑ์มาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน โดยมีเป้าหมายว่าจะมีการลงทุน หรือ AUM (Asset under management) ที่เกี่ยวข้องกับ Net Zero ให้ได้ USD 120 trillion คิดเป็นมูลค่าที่สูงเท่ากับ 250 เท่าของ GDP ประเทศไทย ซึ่งหากบริษัทไหนไม่เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นธุรกิจที่เป็นมิตร (C.L.I.C.) หลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทดังกล่าวก็จะไม่ถูกเลือกลงทุน ทำให้ระดมทุนได้ยากขึ้น เช่น ออกหุ้นเพิ่มทุน ออกหุ้นกู้ ฯลฯ มีข้อจำกัดหรือขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ไม่ง่ายเหมือนในอดีต รวมถึงหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดก็จะไม่มีนักลงทุนต้องการและถูกเทขายออกไป

สำหรับผลตอบแทนย้อนหลัง ณ ต.ค. 65 ของการลงทุนแบบยั่งยืน ได้ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนหุ้นทั่วไป พิจารณาได้จาก ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปี และ 5 ปี ของดัชนี MSCI World Climate Change อยู่ที่ 6.41%ต่อปี และ 6.79%ต่อปี ตามลำดับ โดยสูงกว่าผลตอบแทนย้อนหลังของดัชนี MSCI World ซึ่งอยู่ที่ 6.11%ต่อปี และ 6.37%ต่อปี ตามลำดับ


III: ตัวอย่างแรงขับเคลื่อน จากธุรกิจที่เป็นพิษสู่ธุรกิจที่เป็นมิต


จากหุ้นทั่วโลกที่มีมากถึง 45,000 หุ้น Lombard Odier หนึ่งในผู้ให้บริการไพรเวทแบงค์ระดับสากล ที่ในอดีตได้มีการกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกหุ้นไว้จนเหลือ 10,000 หุ้น เพื่อเป็นตัวเลือกที่จะนำเงินของลูกค้าไปลงทุนในหุ้นเหล่านั้น แต่เมื่อมีการนำเกณฑ์การลงทุนแบบยั่งยืนมาใช้คัดเลือกหุ้นแล้ว พบว่าเหลือเพียง 3,500 หุ้นเท่านั้น ที่ Lombard Odier จะนำมาเป็นตัวเลือกการลงทุนให้กับเงินลงทุนภายใต้การดูแลของ Lombard Odier ต่อจากนี้ไป จึงไม่แปลกที่ 6,500 หุ้น ที่ถูกคัดออกไป จะมีสภาพคล่องที่ลดลงรวมถึงอาจมีอุปสรรคต่อการระดมในอนาคตด้วย

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนักลงทุนสถาบันต่างชาติถือหุ้นอยู่ มักถูกนักลงทุนสถาบันสอบถามอยู่เสมอว่าบริษัทมีแผนหรือกิจกรรมที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ตามยุทธศาสตร์ Net Zero อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางตรงอย่างภาคการผลิต หรือกิจกรรมทางอ้อมอย่างภาคการเงิน เช่น สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนที่ต้องการซื้อหรือติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อโลกด้วย

ผู้ส่งออกไปยังต่างประเทศ ที่ปัจจุบันอาจเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว เช่น การส่งออกสินค้าไปยุโรป หากเป็นสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจถูกปรับราคาสินค้าก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ตามมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เป็นต้น


IV: ทำไม? การลงทุนแบบยั่งยืน ไม่ใช่แค่ทางเลือก


“ทางเลือก” คือ การไม่เลือกนั้นไม่เสียหาย เพียงแค่หากเลือกแล้วอาจได้ประโยชน์มากขึ้น แต่ “ทางรอด” คือ หากไม่ทำแล้ว จะเกิดความเสียหายขึ้น อย่างที่ได้อธิบายก่อนหน้านี้ว่า โลกต่อจากนี้ไป ธุรกิจไหนที่ยังคงเป็นพิษต่อโลก ไม่เปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน นอกจากส่งผลกระทบเชิงลบต่อยอดขายสินค้า/บริการจากความต้องการของลูกค้าและคู่แข่งที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่เปลี่ยนไป รวมถึงกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เข้ามาควบคุมมากขึ้นด้วย

ต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงมีได้อยู่เสมอ หลายครั้งที่เรามักรู้สึกถึงผลเสียในช่วงแรกที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลดีกว่าที่เคยคิด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่ในช่วงแรกอาจรู้สึกว่าราคาสูง แต่ปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าแทบทุกชิ้นก็ติดฉลากเบอร์ 5 กันทั้งนั้น หรือการอ่านหนังสือหรือข่าวสารต่างๆ ที่เปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์เเป็นสื่อออนไลน์บนมือถือและแท็บเล็ตกันหมด รวมไปถึงการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดไปสู่สังคมไร้เงินสด ที่แม้แต่การจ่ายค่าอาหารหรือค่าขนมสักถุงก็จ่ายผ่านมือถือกันหมดแล้ว ไม่เพียงแต่สะดวกแต่หากเลือกผูกบัตรหรือวอลเล็ตดีๆ ก็อาจมีโปรโมชันตามมา

ปัจจุบัน มีธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งที่เริ่มปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน เช่น 

Cummins บริษัทออกแบบและผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์พลังงานก๊าซธรรมชาติและไฮโดรเจน ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตรถไฟพลังงานไฮโดรเจนปราศจากมลพิษ 

NextEra Energy ผู้นำการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานลม แสงอาทิตย์ ไฮโดรเจนในสหรัฐฯ และแคนาดา โดยตั้งเป้ายกเลิกการผลิตกระแสไฟฟ้าจากฟอสซิลภายในปี 2565 

Darling Ingredients จากเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ผู้พัฒนาและผู้ผลิตส่วนผสมจากธรรมชาติที่ยั่งยืนจากสารอาหารชีวภาพทั้งที่กินได้และกินไม่ได้ โดยสร้างส่วนผสมและโซลูชันพิเศษเฉพาะสำหรับลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ เชื้อเพลิง พลังงานชีวภาพ และปุ๋ย

Carrier บริษัทพัฒนาน้ำยาแอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


เมื่อธุรกิจใหญ่ระดับโลก ปรับตัวกันมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ธุรกิจอื่นหากไม่ปรับตัว คงยากที่ธุรกิจจะอยู่รอดต่อไปได้ โลกของการลงทุนก็เช่นกัน ที่ต้องหันมาลงทุนแบบยั่งยืนโดยไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นการลงทุนที่ได้รับความนิยมก่อน เพราะหากเชื่อว่าการลงทุนแบบยั่งยืนคือทางรอด การเริ่มต้นตั้งแต่ตอนราคายังไม่แพง ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ปัจจุบันการลงทุนแบบยั่งยืน สามารถเลือกลงทุนได้ทั้งจากนโยบายการลงทุนของกองทุนรวม เช่น K-CLIMATE เลือกจากกองทุนที่ได้ Morningstar Sustainability Rating™ หรือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไทยที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี THSI (Thailand Sustainability Investment) ก็ได้เช่นกัน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก KBank Private Banking

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



บทความโดย K WEALTH TRAINER ราชันย์ ตันติจินดา CFP®

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

กองทุนรักษ์โลก ทางเลือกลงทุน ให้โลกยั่งยืน
ทำความรู้จัก Private Asset ทางเลือกลงทุน สู้เงินเฟ้อ
วิธีแบ่งเงินลงทุน กองทุนหุ้น-กองทุนผสม โอกาสเพิ่มผลตอบแทน แบบคนไม่ชอบเสี่ยง
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!