K WEALTH / บทความ / Wealth Management / ไปไงต่อ เมื่อถูก “เลิกจ้าง” แบบไม่ทันตั้งตัว
03 สิงหาคม 2565
3 นาที

ไปไงต่อ เมื่อถูก “เลิกจ้าง” แบบไม่ทันตั้งตัว


​“

ข่าวการปิดกิจการและเลิกจ้างของภาคธุรกิจหลายแห่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ สำนักข่าวดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ นี่ยังไม่รวมธุรกิจอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นข่าวที่จำเป็นต้องลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานออกบางส่วน จนหลายคนเริ่มมีคำถามมากมายว่า หากสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับตนเอง จะเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหน มีสิ่งใดที่ควรรู้และต้องรีบจัดการบ้าง จึงเป็นที่มาของบทความ K WEALTH นี้ ที่จะมาช่วยหาคำตอบมาให้ทุกคน โดยเฉพาะคนที่เพิ่งได้รับข่าวร้ายนั้นมา




I: บริษัทปลดพนักงาน ได้เร็วแค่ไหน

บริษัทสามารถเลิกจ้างพนักงานได้ แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือล่วงหน้า 1-2 เดือน เพื่อให้พนักงานมีเวลาตั้งตัว ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 17 กำหนดไว้ว่า การแจ้งที่ว่าต้องแจ้งภายในวันจ่ายค่าจ้างครั้งใดครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีผลเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป โดยบริษัทอาจจะให้พนักงานปฏิบัติงานจนสิ้นสุดการจ้าง หรือจะจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ต้องจ่ายจนสิ้นสุดสัญญาจ้างและให้ออกจากงานทันทีก็ได้


เช่น บริษัทมีการจ่ายค่าจ้างพนักงานทุกวันสิ้นเดือน เมื่อบริษัทแจ้งเลิกจ้างวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 1-31 ส.ค. จะมีผลให้พนักงานถูกเลิกจ้างได้เร็วที่สุดในวันที่ 30 ก.ย. และแม้ว่าบริษัทจะต้องการให้สิ้นสุดสัญญาจ้างเร็วกว่านั้น เช่น ต้องการให้มีผลทันทีที่ประกาศ ซึ่งสามารถทำได้ แต่บริษัทก็ยังมีพันธะที่ต้องจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนตามจำนวนที่ต้องจ่าย ณ สิ้นเดือน ส.ค. และ ก.ย. อยู่ดี



II: สิทธิของพนักงาน เมื่อถูกเลิกจ้าง


1) ค่าชดเชย ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

เมื่อบริษัทเลิกจ้างพนักงานที่ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง บริษัทต้องจ่ายเงินก้อนเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างของพนักงาน 1 - 13.3 เดือนก่อนถูกเลิกจ้าง ขึ้นอยู่กับอายุงานที่ได้ทำงานมากับบริษัท ซึ่งเรียกว่า “ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน” ดังนี้ 


     ● อายุงาน 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี >> รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือนสุดท้าย (30 วันสุดท้าย) 

     ● อายุงาน 1 ปี แต่ยังไม่ครบ 3 ปี >> รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 3 เดือนสุดท้าย (90 วันสุดท้าย) 

     ● อายุงาน 3 ปี แต่ยังไม่ครบ 6 ปี >> รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 6 เดือนสุดท้าย (180 วันสุดท้าย) 

     ● อายุงาน 6 ปี แต่ยังไม่ครบ 10 ปี >> รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 8 เดือนสุดท้าย (240 วันสุดท้าย) 

     ● อายุงาน 10 ปี แต่ยังไม่ครบ 20 ปี >> รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 10 เดือนสุดท้าย (300 วันสุดท้าย) 

     ● อายุงาน 20 ปีขึ้นไป >> รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 13.3 เดือนสุดท้าย (400 วันสุดท้าย) 


ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเงินก้อนอื่นๆ ที่ได้รับจากบริษัทเพราะถูกเลิกจ้าง หากพนักงานมีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป เงินก้อนที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวนหนึ่ง โดยถูกแยกคำนวณภาษีจากรายได้อื่นๆ (เช่น เงินเดือน โบนัส ฯลฯ) ซึ่งเสียภาษีในจำนวนที่ค่อนข้างต่ำ และจะได้รับเอกสาร 50 ทวิ สำหรับเงินก้อนนี้ เพื่อนำไปกรอกภาษีสิ้นด้วย “ใบแนบ ภ.ง.ด. 91/90” พร้อมกับรายได้อื่น ซึ่งภาษีส่วนนี้ที่คำนวณได้ตอนกรอกภาษี มักเท่ากับภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไป ทำให้มักไม่ต้องมีการจ่ายภาษีเพิ่มสำหรับเงินก้อนนี้


2) เงินทดแทนการว่างงาน จากประกันสังคม

พนักงานที่ส่งเงินสมทบประกันสังคมในฐานะพนักงานประจำ หรือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาเป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป หากถูกเลิกจ้างหรือเซ็นชื่อลาออกเอง จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการว่างงานจากประกันสังคม ในช่วงที่ว่างงานเป็นรายเดือนตามสัดส่วนของเงินเดือน (คำนวณที่ฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท) ดังนี้ 


     ● กรณีถูกเลิกจ้าง >> รับเงินทดแทนเดือนละ 50%ของเงินเดือน หรือสูงสุดเดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน 

     ● กรณีลาออก >> รับเงินทดแทนเดือนละ 30%ของเงินเดือน หรือสูงสุดเดือนละ 4,500 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน 


โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้าหรือลาออก ต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของสำนักงานจัดหางานของรัฐที่ https://empui.doe.go.th ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก และต้องรายงานตัวผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนี้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้งด้วย


3) สิทธิรักษาพยาบาล จากประกันสังคม

พนักงานแม้ถูกเลิกจ้างหรือลาออกและไม่ได้มีการส่งเงินสมทบประกันสังคมต่อ ก็ไม่ใช่ว่าจะหมดสิทธิรับสวัสดิการต่างๆ จากประกันสังคมเสมอไป อย่างเช่น สิทธิรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลที่แจ้งไว้กับประกันสังคม หากก่อนหน้านี้ได้มีการส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้ว 3 เดือนขึ้นไป จะยังคงใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้อีก 6 เดือน ถัดจากเดือนที่ถูกเลิกจ้างหรือสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนประกันสังคม แต่หากจำสถานพยาบาลไม่ได้สามารถเช็กข้อมูลได้จากแอปพลิเคชัน SSO Connect หรือโทรสอบถาม 1506



III: สิ่งต้องรู้ เมื่อผิดเงื่อนไขเพราะร้อนเงิน

สำหรับใครที่มีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน SSF กองทุน RMF หรือประกันชีวิต แม้โดยปกติจะต้องสะสมเงินและถือไว้ให้ครบเงื่อนไข แต่หากจำเป็นต้องใช้เงินหรือต้องหยุดสะสมเงินเพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอกับการใช้จ่ายเฉพาะหน้า ก็อาจจำเป็นต้องเลือกที่จะยอมผิดเงื่อนไข แต่ควรเลือกผิดเงื่อนในทางเลือกที่ได้รับผลกระทบหรือบทลงโทษน้อยที่สุด ดังนั้นคนที่ถูกเลิกจ้าง จึงควรรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นหากผิดเงื่อนไขในแต่ละทางเลือก ดังนี้ 


     ● กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) 

               ▪ หากนำเงินออก โดยอายุงานไม่ถึง 5 ปี >> เงินที่ได้รับต้องนำไปรวมกับรายได้อื่น เช่น เงินเดือน โบนัส ฯลฯ เพื่อคำนวณภาษี ดังนั้นหากก่อนถูกเลิกจ้างเป็นพนักงานที่มีฐานรายได้สูง ภาษีที่ต้องชำระก็จะสูงตาม 

               ▪ หากนำเงินออก โดยมีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป และอายุตัวไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ >> สามารถเลือกนำเงินที่ได้ไปกรอกภาษีสิ้นปีด้วย “ใบแนบ ภ.ง.ด. 91/90” พร้อมกับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเงินก้อนอื่นๆ ที่ได้รับครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน 

               ▪ หากนำเงินออก โดยมีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป และอายุตัว 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป >> เงินก้อนที่ได้ จะได้รับการยกเว้นภาษี 

          o สำหรับคนที่ไม่ได้ร้อนเงิน ก็สามารถติดต่อฝ่ายบุคคลของบริษัท (หรือ บลจ. ที่ดูแลกองทุน) เพื่อ 

               ▪ เลือกโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุน RMF ภายใต้ บลจ. เดียวกัน และถือลงทุนต่อจนอายุตัวครบ 55 ปีบริบูรณ์ ก็จะไม่มีภาระภาษี 

               ▪ หรือ ขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม โดยมักมีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 500 บาท เพื่อรอโอนย้ายเงินไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่อื่น หลังได้งานใหม่และผ่านช่วงทดลองงานแล้ว 


     ● กองทุน SSF หากมีการขายคืนหน่วยลงทุนที่ถือไว้ไม่ถึง 10 ปีเต็ม 

          o ต้องคืนเงินภาษี ในปีที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนไป พร้อมเงินเพิ่ม 1.5%ต่อเดือน นับตั้งแต่ เม.ย. ถัดจากปีที่ใช้สิทธิจนถึงเดือนที่นำเงินภาษีไปคืน 

          o และกำไรที่ได้จากการขายคืน ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ 


     ● กองทุน RMF เช่น 

          o หากมีการขายคืนโดยลงทุนมาไม่ถึง 5 ปี (ไม่ว่าอายุตัวจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ก็ตาม) 

               ▪ ต้องคืนเงินภาษีทั้งหมดที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนไป ภายในเดือน มี.ค. ถัดจากปีที่ขายคืน 

               ▪ และกำไรที่ได้จากการขายคืน ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ 

          o หากมีการขายคืนก่อนอายุตัว 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม 

               ▪ ต้องคืนเงินภาษีที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนไป ย้อนหลัง 5 ปี ภายในเดือน มี.ค. ถัดจากปีที่ขายคืน ส่วนกำไรที่ได้จากการขายคืนจะได้รับการยกเว้นภาษี 


     ● ประกันชีวิต สามารถติดต่อบริษัทประกันชีวิต เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ 

               ▪ หยุดชำระเบี้ยประกัน โดย (1) ขอลดทุนประกันลง ซึ่งเรียกว่า “ใช้เงินสำเร็จ” หรือ (2) ขอลดระยะเวลาคุ้มครองลง ซึ่งเรียกว่า “ขยายเวลา” 

               ▪ กู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต เพื่อให้ได้รับเงินก้อนมาใช้จ่ายด้วยต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ โดยยังคงได้รับความคุ้มครองชีวิตเช่นเดิม หากภายหลังมีการชำระหนี้คืนแล้ว 

               ▪ เวนคืนกรมธรรม์ ซึ่งเป็นการขอยกเลิกกรมธรรม์โดยจะได้รับเงินตาม “มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์” ซึ่งระบุอยู่ในกรมธรรม์ 

          o อย่างไรก็ตาม หากประกันชีวิตนี้ได้เคยนำเบี้ยประกันไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมาก่อน หากการดำเนินการต่างๆ ที่ว่า ทำให้กรมธรรม์สิ้นสุดลงก่อนครบระยะเวลา 10 ปี ต้องดำเนินการคืนเงินภาษี ในปีที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนไป พร้อมเงินเพิ่ม 1.5%ต่อเดือน นับตั้งแต่ เม.ย. ถัดจากปีที่ใช้สิทธิจนถึงเดือนที่ได้นำเงินภาษีไปคืน 


นอกจากกองทุนต่างๆ และประกันชีวิตแล้ว หลายคนน่าจะพอได้ยินข่าวว่าในอนาคตผู้ที่เคยส่งเงินสมทบประกันสังคมอาจสามารถใช้เงินในกองทุนมาเป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้ แต่ต้องรอให้มีการประกาศเปลี่ยนแปลงกฎหมายและเงื่อนไขต่างๆ อย่างเป็นทางการจากประกันสังคมก่อน จึงจะสามารถเลือกใช้ทางเลือกนี้ได้ 


“เลิกจ้าง” ฝันร้ายที่ใครๆ ก็ไม่อยากเจอ แต่เมื่อเจอแล้วต้องตั้งสติ เช็กสิทธิต่างๆ ที่มี ทั้งที่ต้องได้จากบริษัท หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเงินของตนเองที่กระจายอยู่ในกองทุน ประกัน และสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อให้เลือกนำเงินออกมาใช้จ่ายเฉพาะหน้า แบบได้รับผลกระทบและเสียเงินแต่ละบาทไปให้น้อยที่สุด เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าอีกนานแค่ไหนจะสามารถหางานใหม่และมีรายได้เท่าเดิมได้



บทความโดย K WEALTH TRAINER ราชันย์ ตันติจินดา CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ทำไมมีเงิน 10 ล้าน แล้วยังไม่พอในยุคนี้
เช็กให้ดี ประกันที่มีอยู่ ควรเพิ่ม หรือลด
เช็กเลย! สิทธิประกันสังคมใหม่ ได้อะไรบ้าง

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ