เช็กให้ดี ประกันที่มีอยู่ ควรเพิ่ม หรือลด

หมดปัญหาคนมีกรมธรรม์เยอะ แนะนำ 3 ขั้นตอนรีวิวกรมธรรม์ เช็กให้ชัวร์ก่อนเวนคืนหรือซื้อประกันเพิ่ม เพื่อให้มั่นใจว่าประกันที่มีคุ้มครองได้ครบถ้วนและคุ้มค่า

• คนที่เคยซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพไว้ เมื่อสถานภาพหรือความต้องการในชีวิตเปลี่ยนไป แนะนำให้ทบทวนความคุ้มครองต่างๆ ที่มีว่ายังเพียงพอหรือไม่ เพื่อปรับแผนเพิ่มหรือลดความคุ้มครองให้เหมาะสม


• หากต้องการปรับเพิ่มกรมธรรม์ สามารถทำประกันฉบับใหม่ แต่หากต้องการปรับลดกรมธรรม์เพราะจ่ายเบี้ยไม่ไหวมี 3 ทางเลือกคือ แปลงเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ขยายระยะเวลา หรือเวนคืนกรมธรรม์



คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิด 19 ทำให้เราหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น คนที่ยังไม่มีความคุ้มครองก็เริ่มให้ความสนใจ ส่วนคนที่มีความคุ้มครองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความคุ้มครองชีวิตหรือสุขภาพ เชื่อว่าหลายคนทำไว้นานแล้วและอาจลืมนำมาทบทวนหรือรีวิวดูอีกทีว่ากรมธรรม์ที่มีอยู่ยังเพียงพอและตอบโจทย์ความต้องการอยู่หรือไม่ ทำไมต้องรีวิวกรมธรรม์ แนวทางในการรีวิวง่ายๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเองเป็นอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้



ทำไมต้องรีวิวกรมธรรม์

การรีวิวกรมธรรม์เปรียบเหมือนการอัปเดตซอฟต์แวร์หรือเวอร์ชั่นระบบปฏิบัติการบนมือถือที่ต้องหมั่นอัปเดตเป็นระยะๆ หรืออย่างน้อยปีละครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าความคุ้มครองที่มีอยู่ยังเพียงพอและตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบันได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป หลายสิ่งหลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลง เช่น สถานภาพเปลี่ยน แต่งงาน มีลูก สถานะทางการเงินเปลี่ยน มีรายได้มากขึ้น หรือมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ความต้องการเปลี่ยน ต้องการความคุ้มครองที่สูงขึ้น หรือครอบคลุมมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่สถานการณ์เปลี่ยน อย่างวิกฤตโควิดที่ทำให้บางบริษัทประกันต้องปิดกิจการไป นี่จึงเป็นเหตุผลให้เราต้องกลับมานั่งรีวิวกรมธรรม์กันใหม่นั่นเอง



วิธีรีวิวกรมธรรม์

สำหรับแนวทางในการรีวิวกรมธรรม์ง่ายๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองมี 3 ขั้นตอน ดังนี้


1. ทบทวนกรมธรรม์ทุกฉบับที่มีอย่างน้อยปีละครั้ง

ประกันชีวิต สิ่งที่ควรดู ได้แก่

แบบประกันชีวิต ดูว่าเป็นแบบใดจากชื่อแบบการประกันภัย เช่น ตลอดชีพ สะสมทรัพย์ บำนาญ ชั่วระยะเวลา ควบการลงทุน เนื่องจากประกันแต่ละแบบจะมีผลประโยชน์ความคุ้มครอง และรายละเอียดเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น ประกันสะสมทรัพย์ เน้นการออมทรัพย์มากกว่าความคุ้มครอง กำหนดระยะเวลาคุ้มครองและระยะเวลาจ่ายเบี้ยชัดเจน มีเงินคืนระหว่างทาง และค่าเบี้ยสูง เนื่องจากได้ประโยชน์ทั้งกรณีมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา และกรณีจากไประหว่างสัญญา

ทุนประกันชีวิต ดูว่าเรามีทุนประกันชีวิตเท่าไหร่จากจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ทำไว้

ระยะเวลาคุ้มครอง ดูว่าให้ความคุ้มครองทั้งหมดกี่ปี คุ้มครองจนถึงอายุเท่าไหร่ และปัจจุบันใกล้จะหมดความคุ้มครองแล้วหรือยัง ซึ่งจะมีผลต่อสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายที่จะให้ความคุ้มครองไม่เกินความคุ้มครองของกรมธรรม์หลัก

ระยะเวลาจ่ายเบี้ย ดูว่าต้องจ่ายเบี้ยประกันทั้งหมดกี่ปี ปัจจุบันจ่ายเบี้ยครบแล้วหรือยัง หากยังไม่ครบเหลืออีกกี่ปี แล้วต้องจ่ายเบี้ยปีละเท่าไหร่ เพื่อประเมินกระแสเงินสดในปัจจุบันว่าเพียงพอในการจ่ายเบี้ยหรือไม่

สัญญาเพิ่มเติมแนบท้าย ดูว่ามีสัญญาเพิ่มเติมต่างๆ แนบท้ายหรือไม่ เป็นสัญญาเพิ่มเติมแบบใด


ประกันสุขภาพ สิ่งที่ควรดู ได้แก่

• แบบประกันสุขภาพ ดูว่าเป็นแบบใด เช่น เหมาจ่าย แยกค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีผลต่อค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่าย

วงเงินคุ้มครอง ดูว่าวงเงินคุ้มครองต่อครั้งหรือต่อปีอยู่ที่เท่าไหร่จากตารางผลประโยชน์ ซึ่งจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายที่สามารถเบิกเคลมได้เมื่อเจ็บป่วย

ค่าห้อง ดูว่าค่าห้องต่อคืนอยู่ที่เท่าไหร่ จ่ายตามจริงหรือจำกัดวงเงินไว้

ค่ารักษาพยาบาล ดูว่าค่ารักษาพยาบาลต่อครั้งหรือต่อปีอยู่ที่เท่าไหร่


เมื่อทบทวนกรมธรรม์ทั้งหมดแล้ว ให้สรุปประเด็นสำคัญออกมาทีละเล่ม ใครจะใช้วิธีจดใส่กระดาษหรือบันทึกเป็นไฟล์ไว้ก็ทำได้เช่นกัน


2. ประเมินความต้องการในปัจจุบัน

ประกันชีวิต

ให้พิจารณาจากค่าใช้จ่ายของครอบครัว ค่าใช้จ่ายในการส่งลูกเรียนจนจบ และภาระหนี้สินที่มีอยู่ เพื่อคำนวณเป็นทุนประกันชีวิตที่ควรมี ซึ่งควรมีความคุ้มครองชีวิตที่ครอบคลุมหนี้สิน ภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด และระยะเวลาที่ต้องการความคุ้มครอง หรือคิดง่ายๆ จากรายได้ก็ได้ว่า เราควรมีทุนประกันชีวิตอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี เพื่อให้ครอบครัวอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก


ประกันสุขภาพ

ให้พิจารณาจากค่าห้อง ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลที่คาดว่าจะใช้บริการเมื่อเจ็บป่วย เพื่อให้รู้ว่าเราควรมีวงเงินความคุ้มครอง ค่าห้อง ค่ารักษาต่อปีอยู่ที่เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ


นอกจากนี้ อยากให้พิจารณาด้วยว่า เรายังขาดความคุ้มครองในเรื่องใดไป ซึ่งควรมีทั้งความคุ้มครองชีวิต สุขภาพ โรคร้ายแรง อุบัติเหตุ และชดเชยรายได้ (กรณีอาชีพอิสระ) หากยังไม่มีความคุ้มครองเรื่องใด แล้วยังสามารถจ่ายเบี้ยไหวก็ควรทำเพิ่ม


3. เปรียบเทียบความแตกต่าง

นำสิ่งที่สรุปได้จากการทบทวนกรมธรรม์มาเปรียบเทียบกับความต้องการในปัจจุบัน และสวัสดิการที่มีก็จะทำให้เห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นว่าเรามีความคุ้มครองมากหรือน้อยกว่าที่ต้องการ และควรปรับเพิ่มหรือลดความคุ้มครองเรื่องใดให้เหมาะสม เช่น ตอนทบทวนกรมธรรม์พบว่าเราเคยทำประกันตลอดชีพไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งมีทุนประกันชีวิตอยู่ที่ 500,000 บาท ปัจจุบันแต่งงาน มีลูก 1 คน และเป็นหัวหน้าครอบครัว มีรายได้ 1 ล้านบาทต่อปี จึงต้องการทุนประกันชีวิตที่มากขึ้นเพื่อให้คนข้างหลังอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก โดยทุนประกันชีวิตที่ควรมีอยู่ที่ 3 ล้านบาท แสดงว่ายังขาดทุนประกันชีวิตอยู่อีก 2.5 ล้านบาท ที่ควรทำเพิ่ม



ทางเลือกในการปรับกรมธรรม์

สำหรับทางเลือกในการปรับเพิ่มหรือลดกรมธรรม์ให้เหมาะสม ทำได้ดังนี้

- กรณีต้องการปรับเพิ่ม ได้แก่ การทำประกันฉบับใหม่ในส่วนของความคุ้มครองที่ยังขาดอยู่ เพื่อให้มีความคุ้มครองที่เพียงพอและครอบคลุมความต้องการหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หรือขอเพิ่มทุนประกันฉบับเดิมในกรณีที่ทำประกันชีวิตควบการลงทุนไว้

- กรณีต้องการปรับลด การมีความคุ้มครองสูงๆ เผื่อไว้ โดยที่ยังจ่ายเบี้ยไหวก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่หากคิดว่ามีความคุ้มครองมากเกินไป ไม่รู้จะทำทุนประกันเยอะๆ ไว้ให้ใคร และเริ่มจะจ่ายเบี้ยไม่ไหวแล้ว มี 3 ทางเลือกในการจัดการกรมธรรม์ดังนี้

1. แปลงเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ เป็นการหยุดจ่ายเบี้ยประกัน โดยที่จำนวนเงินเอาประกันภัยลดลง แต่ยังคงได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาในสัญญา

2. ปลงเป็นกรมธรรม์ขยายระยะเวลา เป็นการหยุดจ่ายเบี้ยประกัน โดยที่จำนวนเงินเอาประกันภัยยังคงเท่าเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองตามสัญญาลดลง

3. เวนคืนกรมธรรม์ เป็นการยกเลิกกรมธรรม์ เพื่อขอรับเงินสด ซึ่งจะทำให้สัญญาสิ้นสุดลง โดยจำนวนเงินที่จะได้รับสามารถดูได้จากตารางมูลค่ากรมธรรม์ในเล่มกรมธรรม์ ซึ่งจะแสดงเงินค่าเวนคืนต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท แต่ก่อนตัดสินใจเวนคืนกรมธรรม์ อยากให้ดูก่อนว่าจำนวนเงินที่จะได้รับมากกว่าค่าเบี้ยที่จ่ายไปหรือไม่ ซึ่งการเวนคืนในช่วงแรกๆ มักจะไม่คุ้มค่า และไม่แนะนำให้เวนคืนก่อนครบ 10 ปี เพราะจะต้องคืนเงินภาษีที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนจากค่าเบี้ยประกันไปแล้ว


การรีวิวกรมธรรม์จะช่วยให้เราเห็นรอยรั่วที่มีอยู่ และจัดการอุดรอยรั่วนั้นให้เรียบร้อย เพื่อให้มั่นใจว่าความคุ้มครองที่มีอยู่เพียงพอ และสามารถใช้ประโยชน์จากกรมธรรม์ที่มีได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเจอกับสถานการณ์ใดในอนาคตก็ตาม เรียกว่ามีไว้ให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ ดีกว่าอยากมี แต่ทำไม่ได้ หรือไม่อยู่ในสถานะที่บริษัทประกันจะรับทำ


คำเตือน : โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง


ขอบคุณข้อมูลจาก :

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ผู้เขียน

K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®
Back to top