K WEALTH / บทความ / Market Update / เช็กเลย! สิทธิประกันสังคมใหม่ ได้อะไรบ้าง
27 พฤษภาคม 2565
3 นาที

เช็กเลย! สิทธิประกันสังคมใหม่ ได้อะไรบ้าง


​​​​

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“​

​• ครม. เห็นชอบร่าง พรบ. ปรับเกณฑ์เงินประกันสังคม​ ม.33 ในส่วนเงินชราภาพ 3 เรื่องหลักคือ 1) ผู้ประกันตนเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญได้ 2) สามารถนำเงินที่สมทบมาเป็นหลักประกันกู้เงิน 3) นำเงินออกมาใช้ก่อนเกษียณได้

• หากจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน เข้าข่ายเกณฑ์เดิมคือรับแบบบำเหน็จเท่านั้น หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป สามารถเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญได้ กรณีเลือกรับแบบบำเหน็จจะได้รับเงินขั้นต่ำ 162,000 บาท กรณีเลือกบำนาญจะได้รับเงินขั้นต่ำเดือนละ 3,000 บาท ​​


​​


จากการประชุม ครม. เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอปรับเกณฑ์ ม.33 ให้สามารถนำเงินชราภาพออกมาใช้บางส่วนได้ โดยที่ไม่ต้องรอเกษียณ วัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมยุคข้าวยากหมากแพง แบ่งเบาภาระและช่วยเหลือประชาชนที่ลำบาก สิ่งที่เปลี่ยนแปลงใน ม.33 มีอะไรบ้างนั้น มา​ดูกัน​


สิ่งที่เปลี่ยนแปลงใน ม.33 ในส่วนของเงินชราภาพ

ม.33 (เงินชราภาพ)
เดิม
ร่าง พรบ. ฉบับใหม่
​การรับเงินบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณ
​เลือกไม่ได้
​เลือกได้ว่าอยากรับแบบบำเหน็จหรือบำนาญ 
​ใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน
​ทำไม่ได้
​ทำได้ โดยเบื้องต้นเช็กว่ามีเงินชราภาพอยู่ในระบบเท่าไร จากนั้นยื่นเรื่องกู้กับสถาบันการเงิน
​นำเงินบางส่วน
ออกมาใช้ก่อน
​ทำไม่ได้
​สามารถทำได้ หากผู้ประกันตนอยู่ในภาวะวิกฤต เช่น สถานการณ์โควิด ถูกล็อกดาวน์ และเป็นวิกฤตของโลก ร่างกฎหมายข้อนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือ​
​​

นับว่าเป็นร่าง พรบ. ฉบับใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ประกันตนจะต้องผ่านเกณฑ์นำส่งเงินสมทบครบเงื่อนไขของการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว คือ จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) ผู้ประกันตนต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง สำหรับเงินสมทบที่เราถูกหักไป 5% ของรายได้ในแต่ละเดือน หรือ สูงสุด 750 บาท นั้น จะถูกแบ่งไปในเรื่องต่างๆ ตามสัดส่วนดังนี้ 

  • • 1.5% หรือ 225 บาท เป็นเงินในส่วนของการประกันการเจ็บป่วย ตาย 

  • • 0.5% หรือ 75 บาท เป็นเงินในส่วนของประกันการว่างงาน 

  • ​• 3% หรือ 450 บาท จะเป็นเงินประกันในส่วนของชราภาพ​​


ทางเลือกสำหรับผู้ประกันตน​​

การที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกรับเงินก้อนแบบบำเหน็จหรือรับเงินรายเดือนไปตลอดชีวิตแบบเงินบำนาญ หลายคนคงมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไปตามความจำเป็นในการใช้เงิน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ ณ ตอนนี้คือวางแผนล่วงหน้า ดูว่าทางเลือกไหนที่จะสามารถทำได้ เพราะถ้าถึงวันที่มีการประกาศใช้ พรบ. ฉบับนี้จริงจะสามารถเลือกได้ตรงตามวัตถุประสงค์ จึงขอแนะนำแนวทางดังนี้



1) พึงพอใจที่จะรับสวัสดิการจากประกันสังคม ให้สมัคร ม.39 ต่อ

เมื่ออายุครบ 55 ปี ถึงวัยเกษียณ หากอยากรักษาสิทธิประกันสังคม ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ ภายใน 6 เดือน เมื่อออกจากงาน สิ่งที่จะได้รับเมื่อเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น เงินสมทบที่ต้องจ่ายประกันสังคมคือเดือนละ 432 บาท ข้อมูลเพิ่มเติมคือเกณฑ์เดิม หากเลือกรับเงินบำเหน็จสามารถต่อสิทธิประกันสังคมด้วยมาตรา 39 ได้ แต่ไม่สามารถเลือกรับแบบบำนาญ ส่วนเกณฑ์ใหม่ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่า หากเลือกต่อความคุ้มครองด้วย ม.39 จะยังสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จได้เหมือนเดิมหรือไม่



2) เลือกรับเงินบำเหน็จ/บำนาญ

เบื้องต้นให้ดูอายุงานหรือระยะเวลาที่ได้จ่ายเงินสมทบว่าครบตามกำหนดเงื่อนไขหรือไม่ โดยหากจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน หรือน้อยกว่า 15 ปี จะเข้าเกณฑ์เดิมคือรับเงินเกษียณแบบบำเหน็จเท่านั้น แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้วถึงเกณฑ์ 180 เดือน หรือ 15 ปี ก็สามารถเลือกรับแบบบำเหน็จหรือบำนาญก็ได้ ดังนี้


2.1 เลือกรับเงินก้อนแบบบำเหน็จ

หากเลือกรับวิธีนี้จะได้รับเงินเริ่มต้นที่ 162,000 บาท [ (450+450) x 180 ] คิดจากเงิน 3% ในส่วนของเงินชราภาพหรือ 450 บาทต่อเดือน เงินสมทบจากนายจ้าง 450 บาท และระยะเวลาที่ถึงเกณฑ์ได้รับเงินอยู่ที่ 180 เดือน (ยังไม่รวมดอกเบี้ยและเงินสมทบจากภาครัฐ) แต่วิธีนี้จะทำให้สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ไม่ได้รับสวัสดิการจากประกันสังคมต่อ เท่ากับว่าหลังเกษียณ จะไม่มีสวัสดิการช่วยจ่ายในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลหากเกิดเจ็บป่วย แนะนำมองหาตัวช่วยรองรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น อาจจะเป็นในรูปแบบของประกันชีวิตและสุขภาพ


2.2 เลือกรับเงินรายเดือนแบบบำนาญ

หากเลือกรับวิธีนี้จะได้รับเงินขั้นต่ำเดือนละ 3,000 บาท [ (20 x 15,000) ÷ 100 ] คำนวณจากฐานค่าจ้างเฉลี่ย 5 ปีสุดท้ายก่อนสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ สมมติฐานคาดว่าจะมีอายุถึง 85 ปี โดยเกษียณตอนอายุ 55 ปี เบื้องต้นจะได้รับเงินประมาณ 1,080,000 บาท ( 3,000 x 360 เดือน) โดยเงินที่ได้รับในส่วนนี้สามารถช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นหลังเกษียณ สามารถทำให้งอกเงยด้วยการนำไปลงทุนตามความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ หรือนำมาจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตหรือสุขภาพที่ได้ทำไว้ก่อนเกษียณได้เช่นกัน


3) เพิ่มค่ารักษาพยาบาลและเงินเก็บเพื่อใช้หลังเกษียณ ถ้าประกันสังคมยังไม่พอ

3.1 หากมองว่าหลังเกษียณสวัสดิการจากภาครัฐ สิทธิในการรักษาบัตรทอง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินชดเชยกฏหมายแรงงาน ฯลฯ อาจไม่เพียงพอ แนะนำให้วางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น ทำประกันชีวิต​และสุขภาพ หรือประกันสำหรับคนวัยเกษียณ รองรับไว้ ซึ่งถ้าทำตอนอายุยังน้อยแน่นอนว่าค่าเบี้ยจะถูกกว่าทำตอนอายุมาก


​3.2 หากอยากกันเงินไว้ใช้หลังเกษียณเพิ่มเติมจากเงิน บำเหน็จ/บำนาญ แนะนำเป็น RMF ซึ่ง RMF มีหลายประเภท หลายระดับความเสี่ยงให้เลือก โดยหากเหลือเวลาลงทุนอีก 2-3 ปีก่อนจะเกษียณ ไม่อยากขาดทุนในส่วนของเงินต้น แนะนำ RM​F ที่เสี่ยงต่ำ ลงทุนในตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล แต่ถ้ามีเวลาเตรียมตัวเหลืออีก 5-10 ปีจะเกษียณสามารถเลือก RMF ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนที่ลงทุนในหุ้น หรือหุ้นต่างประเทศได้ (กองทุน SSF/RMF แนะนำ ---->https://www.kasikornasset.com/Pages/ssf-rmf.html​)


หมายเหตุ :​


1) ตัวอย่างการคำนวณเงินบำนาญแบบละเอียด -----> Click​ 

2) รายละเอียดมาตรา 39 ----> Click ​

​ ​

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

• สำนักงานประกันสังคม​


บทความโดย K WEALTH TRAINER พธพร รัตนสิโรจน์กุล
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ