หลายคนน่าจะได้เห็นข่าวค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 4 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าต่อเดือนของเราแพงขึ้นไปอีก หลายคนจึงเริ่มสนใจเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ อย่างแผงโซลาร์ที่ติดบนหลังคาบ้าน โดยนำพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอย่างไม่จำกัด มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยให้ประหยัดค่าไฟ หรืออาจไม่ต้องเสียค่าไฟเลยก็ได้ โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายการติดตั้งก็ถูกลง แต่หลายคนที่อยากติดตั้งไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร รวมถึงไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ที่จะติด วันนี้เราจะมาชวนคุยเรื่องนี้กัน
ระบบโซลาร์แบบไหนที่เหมาะกับเรา
1.ระบบออนกริด (On Grid)
เป็นระบบที่ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ และจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าร่วมด้วย เหมาะกับบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเยอะๆ ตอนกลางวัน เช่น มีคนทำงานที่บ้าน หรือคนที่เปิดร้านกาแฟเล็กๆ เพราะเมื่อแผงโซลาร์ผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดแล้ว จะต้องใช้ทันทีเนื่องจากไม่มีแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้า จึงไม่สามารถใช้งานได้ตอนกลางคืน ซึ่งแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลงมากเมื่อเทียบกับการมีแบตเตอรี่ แต่มีข้อสังเกตอีกประการคือเมื่อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าดับ จะไม่สามารถใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์ได้
2.ระบบออฟกริด (Off Grid)
เป็นระบบที่ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์อย่างเดียว ไม่ต้องเชื่อมต่อกับการไฟฟ้า แต่ต้องมีแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้าด้วย เหมาะกับพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้า
3.ระบบไฮบริด (Hybrid Grid)
เป็นระบบที่คล้ายกับระบบออนกริด แต่เพิ่มแบตเตอรี่เข้ามาช่วยกักเก็บไฟฟ้า ทำให้สามารถดึงไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ผลิตจากโซลาร์ มาใช้ได้ทั้งตอนกลางวัน และกลางคืน ซึ่งแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายแบตเตอรี่ที่มีราคาสูงมากในปัจจุบัน จึงทำให้ปัจจุบันระบบออนกริดเป็นระบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
ติดตั้งแผงโซลาร์แบบออนกริด กำลังการผลิตไฟฟ้าเท่าไหร่ดี?
แต่ละบ้านมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเรื่องของจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และเวลาการใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นตัวกำหนดความต้องการการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ หากติดตั้งกำลังการผลิตน้อยเกินไป ก็อาจช่วยประหยัดไฟฟ้าได้น้อย หรือถ้าติดตั้งกำลังการผลิตมากเกินไปในระยะยาวก็อาจไม่คุ้มค่า ดังนั้นก่อนติดตั้งจึงควรประเมินการใช้ไฟฟ้าของเรา เพื่อที่จะได้เลือกแผงโซลาร์ที่มีกำลังการผลิตเหมาะสมกับบ้านของเรา โดยแบ่งวิธประเมินเป็น 2 วิธี
1.ประเมินจากบิลค่าไฟฟ้า
เช่น เดือนล่าสุดใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 1,500 หน่วย ประมาณการใช้ไฟฟ้าตอนกลางวัน 70% กลางคืน 30% ดังนั้น ตอนกลางวันมีการใช้ไฟฟ้าต่อเดือนอยู่ที่ 1,050 หน่วย (1,500 X 70%) โดยกลางวันใช้ไฟวันละ 9 ชั่วโมง สามารถคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าของแผงโซลาร์ที่เหมาะสมกับบ้านได้จากสูตร
จึงควรติดตั้งแผงโซลาร์กำลังการผลิตเท่ากับ 3.8 กิโลวัตต์ จึงจะเหมาะสมกับบ้านของเราที่สุด
2.อ่านตัวเลขมิเตอร์ไฟฟ้า
โดยเป็นการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขหน่วยไฟฟ้าในตอนเช้า และตอนเย็นอย่างน้อย3วัน เพื่อหาปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อวัน แล้วหารด้วยระยะเวลาที่ใช้ไฟต่อวันอีกที เช่น
วันที่ 1 อ่านมิเตอร์ ตอนเช้า 0623 ตอนเย็น 0668 ใช้ไฟฟ้าไป 45 หน่วย
วันที่ 2 อ่านมิเตอร์ ตอนเช้า 0675 ตอนเย็น 0716 ใช้ไฟฟ้าไป 41 หน่วย
วันที่ 3 อ่านมิเตอร์ ตอนเช้า 0726 ตอนเย็น 0772 ใช้ไฟฟ้าไป 46 หน่วย
นำตัวเลขใช้ไฟทั้ง 3 วันมารวมกันแล้วหารเฉลี่ย จะได้การใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ [(45+41+46) ÷3] = 44 หน่วยต่อวัน แล้วนำการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อวัน หารด้วยระยะเวลาการใช้ไฟฟ้าต่อวัน จะได้ 44 ÷9(ชม.) = 4.8 กิโลวัตต์ ดังนั้นบ้านหลังนี้ควรติดแผงโซลาร์กำลังการผลิตไฟฟ้า 4.8 กิโลวัตต์
ถ้าติดตั้งแล้ว กี่ปีถึงคืนทุน?
เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยมากเกี่ยวกับการติดตั้งแผงโซลาร์ระบบออนกริด ว่ากี่ปีถึงจะคืนทุน ถึงจะได้ใช้ไฟฟ้าแบบไม่มีค่าใช้จ่ายอีกต่อไป เราสามารถคำนวณแบบคร่าวๆ ได้จากสูตร
ซึ่งตัวแปรในสมการของแต่ละบ้านก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ทำให้ระยะเวลาคืนทุนของแต่ละบ้านก็แตกต่างกันออกไปด้วย เช่น โดยปกติจ่ายค่าไฟประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน สัดส่วนการใช้ไฟตอนกลางวัน อยู่ที่ 70% กลางคืน 30% โดยติดตั้งโซลาร์ 4.95 กิโลวัตต์ ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 246,100 บาท โดยทุกวันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์มักออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน รวมทั้งหมดประมาณ 72 วัน จะได้ระยะเวลาการคืนทุนตามสูตรดังนี้
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และระยะเวลาการใช้ไฟฟ้าแต่ละวัน หากใช้ไฟฟ้าแต่ละวันน้อย หรือไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ระยะเวลาการคืนทุนก็ต้องใช้ระยะเวลาที่มากขึ้นด้วย ซึ่งโดยพฤติกรรมของคนทั่วไปมักใช้ระยะเวลาการคืนทุนอยู่ที่ประมาณ 7-10 ปี
หลายคนอาจสงสัยต่อว่าถ้าติดตั้งแผงโซลาร์ระบบออนกริด แล้วลงทะเบียนขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าที่เปิดรับโควต้าเป็นรอบๆ จะใช้ระยะเวลาคืนทุนนานหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าใช้เวลาคุ้มทุนนานมาก เพราะการไฟฟ้าขายไฟฟ้าให้เราที่ 4.2 บาทต่อหน่วย เราใช้เวลาคืนทุนโดยทั่วไปประมาณ 7-10 ปี ในขณะที่เราขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้า 2.2 บาทต่อหน่วย ซึ่งถูกกว่าซื้อเอง 2 บาทต่อหน่วย ทำให้ระยะเวลาคืนทุนอาจอยู่ประมาณ 14 -20 ปี ในขณะที่แผงโซลาร์มีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี จึงดูไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าใดนัก ดังนั้น ทางเลือกผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเป็นหลักและขายส่วนที่เหลือ น่าจะตอบโจทย์การคืนทุนได้ดีที่สุด
อยากติดตั้งแล้ว ต้องทำอย่างไร?
• สำรวจพื้นที่สำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา อย่างน้อยควรมีพื้นที่ประมาณ 10 ถึง 14 ตารางเมตร
• สำรวจทิศทางหลังคาที่ควรจะหันไปทางทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นทิศทางรับแดดที่มีความเข้มของแสงสูง แผงโซลาร์จะผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
• ติดต่อผู้เชี่ยวชาญรับติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อให้มาติดตั้งแผงโซลาร์ โดยทางผู้รับติดตั้งมักมีบริการเข้ามาช่วยสำรวจและประเมินความเหมาะสมของการติดตั้ง ประเมินค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งความคุ้มทุนให้ก่อน นอกจากนี้ยังมีบริการขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์กับทางหน่วยงานราชการให้ด้วย ทำให้เราไม่จำเป็นต้องไปขออนุญาตด้วยตัวเองให้ยุ่งยาก
สำหรับใครที่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในยุคข้าวยากหมากแพง ก็ถือเป็นทางเลือกการจัดการทางด้านการเงินที่เราสามารถทำได้ และควรทำอย่างยิ่งไม่แพ้การพยายามหาทางเลือกการลงทุนในภาวะตลาดผันผวน แต่หากใครที่วันนี้เงินอาจยังไม่เพียงพอ ทางเลือกการขอสินเชื่อจากธนาคารก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะหลายๆธนาคารในปัจจุบันก็มีการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ที่ต้องการติดแผงโซลาร์ทั้งในรูปแบบสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อสำหรับคนทั่วไป