โดยปกติของชีวิตการทำงานไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการ หรือคนทำงานทั่วไป ในหลายยุคที่ผ่านมา มักไม่ได้มีการตั้งเป้าเกี่ยวกับการเกษียณ มีเพียงแค่บริษัท หรือหน่วยงานราชการเท่านั้นที่เป็นคนบอกให้เกษียณ เมื่อมีอายุครบ 60 ปี ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นใหม่ที่เริ่มคิดเรื่องการเกษียณ อยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ก่อนที่สุขภาพจะไม่เอื้ออำนวยหลังอายุ 60 ปี จึงได้เกิดแนวคิด FIRE หรือย่อมาจาก Financial independence retire early โดยเป็นแนวคิดที่บอกเล่าถึงวิธีการเตรียมตัวเพื่อเกษียณก่อนอายุ 40 ปี
แนวคิด FIRE ได้อธิบายถึงวิธีการที่ทำให้ไปสู่เป้าหมายการเกษียณก่อนอายุ 40 ปี ด้วยกฎ 3 ข้อดังนี้
1.ตั้งเป้าเก็บเงินให้ได้ 25 เท่า ของค่าใช้จ่ายรายปี
หมายความว่าเราต้องคำนวณหาค่าใช้จ่ายรายปีออกมาว่าเป็นจำนวนเท่าใด โดยอาจเริ่มต้นจากการหาค่าใช้จ่ายรายเดือนออกมาก่อนว่ามีอะไรบ้าง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนต่างๆ ในแต่ละเดือนออกมารวมกันให้ครบ 1 ปี แล้วนำไปคูณด้วย 25 ก็จะได้ตัวเลขจำนวนหนึ่งออกมา เพื่อตั้งเป็นเป้าในการเก็บเงิน ซึ่งเมื่อได้เป้าหมายแล้ว ในหนังสือ Your Money or Your Life แนะนำให้เก็บออม 50-70% ของรายได้ เพื่อไปถึงเป้าหมายการเก็บเงินที่ตั้งไว้ให้เร็วที่สุดก่อนอายุ 40 ปี โดยอาศัยการลงทุนเข้าช่วย เช่นตัดเงินออมจากรายได้ 70% ไปลงทุนในสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนสูงทุกเดือน แม้ว่าระหว่างทางพอร์ตการลงทุนจะบวกบ้าง ลบบ้าง ก็ต้องลงทุนต่อเนื่องไปเรื่อยๆจนกว่าเงินก้อนจะงอกเงยจนครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
1.1 เป้าหมายใหญ่ เก็บเงิน 50-70% ทำได้จริงหรือ?
หากย้อนมองตัวเลขที่ต้องเก็บเงิน 50-70% ของรายได้ เพื่อไปถึงเป้าหมายการเกษียณก่อนอายุ 40 ปี ก็อาจทำให้หลายคนรู้สึกท้อถอย บางคนที่มีสัดส่วนรายจ่ายเยอะอยู่แล้วก็อาจต้องประหยัดมากขึ้นจนอาจทำให้ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตแต่ละวัน ซึ่งแท้จริงแล้วนการเก็บเงินแต่พอดี ตัดออมก่อนใช้ขั้นต่ำ 20% หรือมากกว่านั้นตามความสามารถของเรา ก็เพียงพอต่อการไปถึงเป้าหมายได้เช่นกัน แต่อาจต้องอาศัยวินัยในการเก็บออมและการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเข้ามาช่วย เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการเก็บเงินได้รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าการเก็บเงินในบัญชีอย่างเดียว
การ DCA โดยนำเงินที่เก็บแต่ละเดือน ไปลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เช่น เก็บเงินเดือนละ 30% เป็นจำนวน 15,000 บาท นำไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นแบบ DCA ผลตอบแทนคาดหวัง 8% ต่อปี เมื่อครบ 15 ปีจะมีเงินประมาณเกือบ 5 ล้านบาท โดยผลตอบแทนก็ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่เราลงทุน ยิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงตามด้วย ซึ่งเหมาะกับการลงทุนระยะยาว แต่หากมีระยะเวลาการลงทุนไม่มาก ไม่อยากเสี่ยงมากนัก ก็แนะนำกองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้น แต่ผลตอบแทนก็น้อยตามไปด้วย ดังนั้น ก่อนการลงทุนในสินทรัพย์ใด จึงควรสำรวจผลตอบแทน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และระยะเวลาให้เงินทำงาน ก่อนตัดสินใจลงทุนในแต่ละสินทรัพย์
2.หลังเกษียณอายุ 40ปี ต้องยึดกฎดึงเงินออกมาใช้ได้ปีละไม่เกิน 4% ของเงินเก็บ
ข้อแรกหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องเป็นตัวเลข 4% เพราะหากเรานำ 4% ไปคูณกับเงินเก็บที่เราเก็บได้ตามเป้าข้อแรก เราก็จะได้เงินก้อนหนึ่งที่มีค่าเท่ากับจำนวนค่าใช้จ่ายรายปี เช่น หากเรามีค่าใช้จ่ายปีละ 300,000 บาท เราต้องเก็บให้ได้ 25 เท่า ก็จะได้ 7,500,000 บาท ซึ่งเมื่อเกษียณแล้วดึงเงินออกมาใช้ 4% ของเงินเก็บ ก็จะมีเงินใช้ปีละ 300,000 บาท เพียงพอกับค่าใช้จ่ายรายปีพอดี ส่วนข้อที่สอง หากเราดึงเงินออกมาเกิน 4% ก็อาจส่งผลต่อวินัยการใช้เงินของเรา จนนำไปสู่ปัญหาเงินเกษียณไม่เพียงพอในอนาคต หรืออาจต้องกลับไปทำงานใหม่อีกครั้ง
2.1 มีเงินใช้แค่ 4% เพียงพอจริงหรือ?
ถ้าสังเกตการใช้เงินของเราในปัจจุบัน ก็จะมีทั้งรายจ่ายประจำที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และในหลายครั้งก็มีเหตุให้ควักกระเป๋าเงินจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝัน หรือนอกเหนือจากรายจ่ายประจำที่เปลี่ยนไปตามไลฟ์สไตล์ เช่น สถานการณ์ Covid-19 ที่ทำให้ต้อง Work From Home ส่งผลให้บางคนอาจต้องซื้อ อัปเกรดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือเฟอร์นิเจอร์เพื่ออำนวยความสะดวกการทำงานที่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นหลังเกษียณ เมื่อไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไปก็สามารถเกิดค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากรายจ่ายประจำได้ เช่นค่าน้ำ ค่าไฟที่เพิ่มขึ้น จากการอยู่บ้านมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมยามว่าง เช่น เรียนดนตรี เรียนทำอาหาร การท่องเที่ยว ค่าซ่อมรถที่เก่าลง ค่าเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่แทนของเก่าที่ชำรุด ค่าทำราวจับในห้องน้ำ ซึ่งเงินก้อน 25 เท่ายังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ รวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ควรสำรองไว้ด้วยเช่น
• ค่ารถยนต์ ซึ่งโดยปกติแล้วรถยนต์มักเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ยิ่งรถมีอายุการใช้งานมาก ค่าซ่อมก็จะเริ่มบานปลาย จนบางครั้งการซื้อรถใหม่ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าซ่อม แนะนำสำรองค่าใช้จ่ายการซ่อมรถ และซื้อรถใหม่ไว้ ซึ่งราคารถยนต์ก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ
• ค่าท่องเที่ยวปีละครั้ง มีค่าใช้จ่ายครั้งละ 60,000 - 200,000 บาท ระยะเวลา 20 ปี ตกค่าใช้จ่ายที่ต้องกันสำรองไว้ประมาณ 1,200,000 – 4,000,000 บาท
• ค่าใช้จ่ายดูแลผู้อยู่ในอุปการะ เนื่องจากเกษียณเมื่ออายุ 40 ปี ยังอยู่ในวัยที่มีลูกกำลังโต รวมถึงมีพ่อแม่ที่ค่อยๆแก่ชรา การวางแผนค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากรายจ่ายส่วนตัวจึงมีความสำคัญ ตัวอย่างช่น ค่าใช้จ่าย และค่าการศึกษาบุตร ค่าดูแลพ่อแม่ที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งแต่ละครอบครัวก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป
• ค่ารักษาพยาบาล เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในยามเจ็บป่วย ซึ่งหากไม่มีการวางแผนการเงินที่ดี เงินที่สะสมมาทั้งชีวิตเพื่อการเกษียณ ก็สามารถหมดได้เช่นกัน แต่การจะรู้ว่าเราจะเป็นโรคอะไรในอนาคต และต้องใช้เงินเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก ดังนั้น ประกันสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ซึ่งเบี้ยประกันก็มีให้เลือกหลากหลายตามความคุ้มครอง แต่ถ้าต้องการความคุ้มครองแบบครอมคลุม เหมาจ่ายทั้งผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก โรคร้ายแรง เบี้ยประกันสุขภาพรายปีสำหรับคนอายุ 40 ปี ก็เริ่มต้นที่ประมาณ 30,000 กว่าบาท รวมถึงเบี้ยประกันก็จะเพิ่มขึ้นตามอายุด้วย
2.2 มีเงินก้อนครบแล้ว เพียงพอหรือยัง?
เงินเฟ้อสามารถทำให้เงินก้อนที่มีอยู่ในบัญชีของเรา มูลค่าลดลงได้ตลอดเวลา เช่น ถ้ามีเงิน 20 บาท เมื่อ 16 ปีที่แล้วจะสามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 1 ชาม แต่ถ้าเก็บเงิน 20 บาทนั้นไว้ เอามาซื้อก๋วยเตี๋ยวในปัจจุบันที่ราคา 40 บาท ก็ไม่สามารถซื้อได้ เพราะเงินเฟ้อทำให้เงินมูลค่า 20 บาทลดลง ดังนั้น การเตรียมเงินสำหรับการเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นเงินก้อนค่าใช้จ่ายประจำ 25 เท่า หรือค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากรายจ่ายประจำ จึงควรมีการคำนวณเงินเฟ้อเข้าไปด้วย ทำให้เงินก้อนเป้าหมายสูงขึ้นไปอีก เช่น ถ้าเริ่มต้นทำงานตอนอายุ 23 ปี และตั้งเป้าเกษียณตอนอายุ 40 ปี การมีเงินก้อน 25 เท่าเมื่ออายุ 40 ปีอาจไม่เพียงพอ จึงต้องคำนวณเงินเฟ้อ 3% ต่อปีเข้าไปด้วย ทำให้ต้องปรับเป้าการเก็บเงินจาก 25 เท่า เป็น 41.32 เท่า ซึ่งเป้านี้ก็ยังไม่รวมเงินเฟ้อหลังจากอายุ 40 ปีด้วย
3.นำเงินเก็บไปลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนกลับมาชดเชยเงินต้นที่นำมาใช้จ่าย
ในสถานการณ์จริงเมื่อเกษียณ เราจะดึงเงิน 4% จากเงินก้อนใหญ่มาใช้จ่าย ส่วนที่เหลือในก้อนใหญ่ต้องนำไปลงทุนเพื่อรักษาเงินต้นให้กลับมาเท่าเดิม เช่น มีเงิน 100 บาท ดึงไปใช้จ่าย 4 บาท เหลือ 96 บาท ต้องนำเงินที่เหลือ 96 บาทไปลงทุนให้กลับมาเป็น 100 บาท แล้วทำวนซ้ำแบบนี้ทุกปี จะทำให้เราสามารถดึงเงิน 4% จำนวนเท่าเดิม มาใช้ได้ตลอดชีวิต
3.1 มีวิธีที่ง่ายกว่านี้มั๊ย?
อีกวิธีที่นักลงทุนไม่ต้องทำอะไรเลย คือการนำเงินก้อนทั้งหมดไปลงทุนเพื่อรับผลตอบแทน 4% ต่อปี เช่นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุยาวๆ หรือหุ้นกู้คุณภาพดีที่ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ 4% ขึ้นไป หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่คาดหวังผลตอบแทนประมาณ 4% ต่อปี ซึ่งเมื่อเกษียณเราจะนำเงินผลตอบแทนแต่ละปีมาใช้เท่านั้น ส่วนเงินต้นที่ไปลงทุนก็มีหน้าที่สร้างผลตอบแทนอย่างเดียว วิธีนี้จะทำให้มีรายได้หลังเกษียณเพียงพอกับค่าใช้จ่ายตลอดชีวิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : ลงทุนเกิร์ล , thaipublica