Gamer อาชีพฮิต คิดภาษีอย่างไร

เล่นเกมจนมีรายได้ดี ถ้าวันนี้ต้องคำนวณภาษีต้องเริ่มจากปัจจัยเหล่านี้


การเล่นเกมถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ได้ แต่เมื่อมีรายได้ ก็มีหน้าที่เสียภาษี หากต้องการประหยัดภาษี มีไอเทมลับมาแนะนำ เพื่อลดภาษีให้เหล่า Gamer



จากกระแสนิยมซีรีย์ Squid Game “สควิดเกม เล่นลุ้นตาย” ที่ได้รับความนิยมจากหลายประเทศทั่วโลก มีสมาชิกเข้ารับชม 111 ล้านคน ในช่วง 28 วันแรกของการออกฉายใน Netflix* ในซีรีย์เรื่องนี้ เป็นการแข่งขันของกลุ่ม 456 คน ซึ่งสิ้นหวังในชีวิตหรือไม่ก็หนี้สินล้นพ้นตัว ถูกเชิญเข้าไปแข่งขัน 6 เกมที่ผู้ชนะจะได้เงินรางวัล 4.56 หมื่นล้านวอน หรือกว่า 1,200 ล้านบาท หากใครแพ้จะมีชีวิตเป็นเดิมพัน ทำให้ต้องลุ้นระทึกว่าใครจะได้ไปต่อ หากดูละครย้อนดูตัว ภาพที่ชวนคิดต่อ ตัวละครก่อนเข้าเล่นเกมที่มีปัญหาเรื่องการเงิน หนึ่งในสาเหตุ คงมีเรื่องการจัดการเงินมาเกี่ยวข้อง แล้วหลังเล่นเกม หากเป็นผู้ชนะ ได้รางวัลมูลค่าสูงขนาดนั้น ถือเป็นรายได้และต้องเสียภาษีเช่นกัน

เล่นเกมส์ มีรายได้จากอะไรบ้าง

หากกล่าวถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเกมแล้ว การเล่นเกม ถือเป็นช่องทางในการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินรางวัลจากการแข่งขัน เงินเดือนจากต้นสังกัด (ถ้ามี) การ Live Stream เกมที่เล่น หรือมี Sponsor มาให้โฆษณาสินค้า เหล่านี้ล้วนเป็นรายได้จากการเล่นเกมทั้งสิ้น

มีรายได้แล้วต้องเสียภาษี

จากแหล่งรายได้ของเหล่า Gamer จะมี 3 ลักษณะใหญ่ๆ** คือ 1.เงินได้ที่มาจากสถานะนายจ้างลูกจ้าง เช่น เงินเดือนหากมีต้นสังกัด 2.รายได้จากรับจ้างทำของ เช่น รายได้จาก Live Stream หรือโฆษณาจาก Sponsor และ 3.รายได้จากการแข่งขัน หรือมักจะเรียกว่า “นักกีฬา E-Sport” ซึ่งเหล่า Gamer จะต้องนำรายได้ทั้งหมดมายื่นภาษี (มีสถานะโสด รายได้ทั้งปี เกิน 120,000 บาท) ถึงแม้รายได้จะไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี

ยกตัวอย่างเปรียบเทียบใช้กับไม่ใช้ตัวช่วยภาษี

นาย Z เป็น Gamer ที่ได้รับเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท (หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) และเงินรางวัลจากแข่งขันเกมในฐานะนักกีฬา E-Sport ทั้งปี จำนวน 1,000,000 บาท (หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 40%-60%)*** มีค่าลดหย่อนพื้นฐาน (ค่าลดหย่อนส่วนตัว และเงินสมทบจากประกันสังคม) จำนวน 69,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 611,000 บาท (ฐานภาษีสูงสุด 15%)

กรณีไม่ทำอะไรเลย เสียภาษี 44,150 บาท (คิดเป็น 3.56% ของเงินได้)

กรณีมีตัวช่วยภาษี 300,000 บาท จะเสียภาษี 8,600 บาท (คิดเป็น 0.69% ของเงินได้ ลดลง 35,550 บาท) มองอีกมุม คือ ใช้ตัวช่วยภาษี 300,000 บาท มีเงินคืนภาษีจากตัวช่วย 35,550 (คิดเป็น 11.85% ของตัวช่วยภาษี)

นาย Y เป็น Gamer ระดับ Top ของประเทศ ได้รับเงินเดือน 50,000 บาท (หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) และเงินรางวัลจากแข่งขันเกมในฐานะนักกีฬา E-Sport ทั้งปี จำนวน 3,000,000 บาท (หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 40%-60%)*** มีค่าลดหย่อนพื้นฐาน (ค่าลดหย่อนส่วนตัว และเงินสมทบจากประกันสังคม) จำนวน 69,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 2,171,000 บาท (ฐานภาษีสูงสุด 30%)

กรณีไม่ทำอะไรเลย เสียภาษี 416,300 บาท (คิดเป็น 11.56% ของเงินได้)

กรณีมีตัวช่วยภาษี 300,000 บาท จะเสียภาษี 332,750 บาท (คิดเป็น 9.24% ของเงินได้ ลดลง 83,550 บาท) มองอีกมุม คือ ใช้ตัวช่วยภาษี 300,000 บาท มีเงินคืนภาษีจากตัวช่วย 83,550 (คิดเป็น 27.85% ของตัวช่วยภาษี)

ตัวช่วยภาษีมีอะไรบ้าง
จากตัวอย่างตัวช่วยภาษี 300,000 บาท ทั้งของนาย Y และนาย Z มีหลากหลายประเภท ตัวช่วยภาษี จะมักเรียกว่า “ค่าลดหย่อนภาษี” โดยค่าลดหย่อนภาษีที่ความคุ้มค่าได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ
1.ค่าลดหย่อนภาษีประเภทการออมและการลงทุน ประโยชน์ต่อ 1 นำเงินค่าซื้อมาเป็นค่าลดหย่อนได้ ต่อ 2 เงินนั้นยังเป็นเงินออมอยู่กับตัวเรา เช่น กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกันชีวิตอายุ 10 ปีขึ้นไป ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น
2.ค่าลดหย่อนจากนโยบายภาครัฐ เช่น ดอกเบี้ยบ้าน ถือเป็นการที่รัฐช่วยเราจ่ายดอกเบี้ย
3.ค่าบริจาคต่างๆ เช่น วัด มูลนิธิ (หักลดหย่อนได้ 1 เท่า) ยังมีการบริจาคให้โรงเรียน โรงพยาบาล (หักลดหย่อนได้ 2 เท่า)
นอกจากนี้ ยังมีตัวช่วยภาษีอื่นๆอีก เช่น ค่าลดหย่อนคู่สมรส, เลี้ยงดูบิดามารดา, บุตร ก็ควรตรวจสอบเงื่อนไขก่อนการใช้สิทธิลดหย่อนด้วย

สิ่งที่เรียนรู้จากตัวอย่าง

1. ยิ่งเงินได้สูง ยิ่งควรใช้ตัวช่วยภาษี จากตัวอย่างจะพบว่า นาย Z (ฐาน 10%) และนาย Y (ฐาน 25%) ใช้ตัวช่วยภาษีในจำนวนเท่ากัน แต่การประหยัดภาษีต่างกัน ขึ้นอยู่กับฐานภาษีสุดท้ายที่เสีย
2. ควรใช้ตัวช่วยภาษีโดยการทยอยหักเป็น % ของเงินได้ รายได้ของ Gamer มีเพียงเงินเดือนเป็นรายได้ประจำ ส่วนเงินรางวัล หรือ เงินค่าโฆษณา เป็นรายได้ครั้งคราว ดังนั้น หนึ่งในเทคนิคการประหยัดภาษี คือ เมื่อได้รับเงินได้ให้หักไว้เป็น % ของเงินได้ทุกครั้งที่ได้รับเงินได้ จะช่วยเรื่องสร้างวินัย ประหยัดภาษี และทยอยใช้ตัวช่วยภาษี
3. มีเงินได้สูง อาจไม่ได้เสียภาษีทางเดียว กรณีนาย Y เนื่องจากมีรายได้เงินรางวัลมากกว่า 1.8 ล้านบาท**** ซึ่งเข้าข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถือเป็นภาษีทางอ้อม ดังนั้น นาย Y มีหน้าที่จดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นอกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

***นักกีฬา E-Sport ถูกจัดเป็นอาชีพอยู่ในกลุ่มเดียวกับนักแสดงสาธารณะ ในกรณีนี้ สมมติเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา จะหักค่าใช้จ่าย 60% สำหรับเงินได้ 300,000 แรก และหักค่าใช้จ่าย 40% สำหรับเงินได้ที่เกิน 300,000 บาท
**** เงินได้ประเภทอื่น ที่มิใช่ เงินเดือน ตาม ม.40(1)