K WEALTH / บทความ / Wealth Management / ลงทุนดีมี(เงิน)คืน
26 มกราคม 2565
3 นาที

ลงทุนดีมี(เงิน)คืน


          

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“ ​

• มาตรการช้อปดีมีคืนใช้สำหรับซื้อสินค้าบริการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565 เท่านั้น โดยสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ต้องเป็นสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมถึงหนังสือและสินค้า OTOP ฯลฯ 

• นักลงทุนสามารถนำค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ตามแต่ละประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม หุ้น ตราสารอนุพันธ์ และค่ากำเหน็จจากการซื้อทองคำ เป็นต้น มาใช้กับมาตรการช้อปดีมีคืนได้ในโควต้าไม่เกิน 30,000 บาท โดยจะต้องขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบกับทางผู้ให้บริการ เพื่อใช้สำหรับหักลดหย่อนภาษีปี 2565 (ยื่นภาษีปี 2566)

​​“


ถ้าต้องลงทุนอยู่แล้วห้ามพลาดมาตรการช้อปดีมีคืน

          ต้นปีแบบนี้นักลงทุนนึกถึงอะไรกันบ้าง ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการลงทุน ศึกษาข้อมูลการวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆ ปรับพอร์ตการลงทุนของตนเอง ซึ่งต้นปี 2565 นี้รัฐบาลได้ออกมาตรการช้อปดีมีคืนเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับประชาชนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการจับจ่ายใช้สอยของกินของใช้แล้วเหล่านักลงทุนยังสามารถนำค่าธรรมเนียมบางอย่างจากการลงทุนมาร่วมกับมาตรการช้อปดีมีคืนได้ ​

ลงทุนดีมีเงินคืน

          หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าค่าธรรมเนียมในการลงทุนบางอย่าง สามารถนำมาร่วมกับช้อปดีมีคืนและใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ เช่น ค่าธรรมเนียมเทรดหุ้น ตราสารอนุพันธ์ ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน (Front-end Fee) ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (Back-end Fee) และค่ากำเหน็จสำหรับการซื้อทองรูปพรรณ เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ 
          • ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายกองทุนรวม : เป็นค่าธรรมเนียมที่นักลงทุนจะถูกหักเงินออกตอนที่ซื้อหรือขาย เช่น ซื้อกองทุน K-CHANGE 500,000 บาท มีค่าธรรรมเนียมตอนซื้อ 1.5 % คิดเป็น 7,500 บาท ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้ใช้ร่วมกับช้อปดีมีคืน โดยต้องมีใบกำกับภาษี ซึ่งสามารถขอได้จาก บลจ. ที่เราซื้อขายกองทุนนั้นเองและสามารถเลือกได้ว่าจะรับเอกสารทางอีเมลหรือทางไปรษณีย์ 
          • ค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนกองทุน : หากนักลงทุนมีการสับเปลี่ยนกองทุนที่ถืออยู่ไปยังกองทุนอื่นและกองทุนนั้นมีค่าธรรมเนียมในการซื้อ สามารถนำค่าธรรมเนียมนี้ไปรวมกับโครงการช้อปดีมีคืนได้เช่นกัน เมื่อเราทำรายการภายในเวลาที่กำหนด 
          • ค่าธรรมเนียมในการเทรดหุ้น : ไม่ว่านักลงทุนจะซื้อขายหุ้นด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ตหรือซื้อขายหุ้นผ่าน Marketing ต่างก็มีค่าธรรมเนียมด้วยกันทั้งนั้น และจะแตกต่างกันตามประเภทบัญชีที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินสด บัญชีแคชบาลานซ์ บัญชีเครดิตบาลานซ์ เช่น ซื้อหุ้น ABC กับบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งผ่านบัญชีแคชบาลานซ์เป็นจำนวนเงิน 5 ล้านบาท จะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.157% + VAT 7% เท่ากับประมาณ 8,400 บาท สามารถนำค่าธรรมเนียมนี้ไปรวมกับโครงการช้อปดีมีคืนได้เช่นกัน โดยนำใบกำกับภาษี ที่บริษัทออกให้เป็นหลักฐานไปหักลดหย่อนภาษีนั้นเอง 
          • ค่ากำเหน็จในการซื้อทองรูปพรรณ : ในการซื้อทองรูปพรรณสามารถใช้สิทธิได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่ากำเหน็จหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ตัวราคาทองคำไม่สามารถนำมารวมได้ เช่น ซื้อทองคำหนัก 2 บาท ราคาบาทละ 28,600 บาท และมีค่ากำเหน็จอีกบาทละ 800 บาทรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน (28,600 x 2) + (800x2) = 58,880 บาท แต่จะสามารถนำไปในสิทธิช้อปดีมีคืนได้ในส่วนของค่ากำเหน็จ 1,600 บาท เท่านั้น 
          • ค่าธรรมเนียมในการเทรดคริปโทเคอร์เรนซี : ในการเทรดคริปโทเคอร์เรนซีไม่ว่าจะทำการซื้อขายกับผู้ให้บริการรายไหนต่างก็มีค่าดำเนินการทั้งสิ้นซึ่งจะอยู่ที่ระหว่าง 0.1% - 0.25% เช่น ซื้อเหรียญ ABC เป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท มีค่าธรรมเนียมซื้อขาย 0.25% คิดเป็น 2,500 บาท ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันยังไม่มีประกาศแน่ชัดสำหรับเรื่องค่าธรรมเนียมการเทรดคริปโตว่าจะสามารถนำมารวมกับมาตรการช้อปดีมีคืนหรือไม่ แต่ในเมื่อเป็นค่าธรรมเนียมที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในฐานะนักลงทุนก็ควรขอใบกำกับภาษีจากผู้ให้บริการไว้ก่อน

ตัวอย่างใบกำกับภาษี
ลงทุนดี มี(เงิน)คืน 2565 ได้เงินคืนเท่าไหร่ (ถ้าใช้สิทธิเต็ม 30,000 บาท)
จากมาตรการช้อปดีมีคืนไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้เงินคืนเท่ากันและไม่ใช่ว่าซื้อของ 30,000 บาทจะได้เงินคืน 30,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายรับและฐานภาษีของแต่ละคน ดูตัวอย่างได้จากตารางต่อไปนี้

​เงินเดือนๆละ (บาท)
​เงินได้สุทธิต่อปี (บาท)
​ฐานภาษี
​ภาษีเงินคืน (บาท)
​น้อยกว่า 26,000 
​ไม่เกิน 150,000
​ยกเว้นภาษี
ยกเว้นภาษี​
​38,000
​150,000 - 300,000
​5%
​1,500
​55,000
​300,001 - 500,000
​10%
​3,000
​75,000
​500,001 - 750,000
​15%
​4,500
​96,000
​750,001 - 1,000,000
​20%
​6,000
​180,000
​1,000,001 - 2,000,000
​25%
​7,500
​430,000
​2,000,001 - 5,000,000
​30%
​9,000
​มากกว่า 430,000
​5,000,0001 บาท ขึ้นไป
​35%
​15,000

การคำนวณภาษีตามตารางนี้คิดจาก​​​​​

          • ผู้มีเงินได้ทำงานประจำเพียงอย่างเดียว และมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเท่านั้น 
          • เงินได้สุทธิคำนวณจากการหักค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล และไม่มีค่าลดหย่อนอื่นๆเพิ่ม 
          • ไม่รวมการหักค่าลดหย่อนประกันสังคม และค่าลดหย่อนอื่นๆ ซึ่งจะไม่เท่ากันในแต่ละคน 
จากตารางจะเห็นได้ว่าหากเราซื้อของมูลค่า 30,000 บาท สำหรับคนฐานภาษี 5% จะได้เงินคืนภาษี 1,500 บาท แต่สำหรับคนฐานภาษีที่สูงกว่าเช่น 35% จะได้รับภาษีเงินคืนถึง 10,500 บาท ดังนั้นสำหรับนักลงทุนที่มีการลงทุนอยู่แล้วสามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้โดยเปรียบเสมือนเป็นเงินทอนหรือกำไรของนักลงทุน ทั้งนี้ อย่าลืมเก็บใบกำกับภาษีให้ดีเพราะแม้ใช้สิทธิในช่วงต้นปี 2565 แต่ต้องยื่นภาษีต้นปี 2566 อาจมีโอกาสที่จะสูญหายได้ 

หมายเหตุ ค่าธรรมเนียมการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ : https://www.kasikornsecurities.com/th/startinvesting/fee 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : KSecurities, KAsset, ITax



บทความโดย K WEALTH GURU พธพร รัตนสิโรจน์กุล
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

​รายชื่อกองทุนรวมกสิกรไทยที่เข้าร่วมช้อปดีมีคืน​

ดูเพิ่มเติม