28 กุมภาพันธ์ 2565
3 นาที
ปรับพอร์ตอย่างไรให้“รอด” ในวิกฤต รัสเซีย-ยูเครน
“
● ในระยะสั้น จะมี Flow เงินไหลจากสินทรัพย์เสี่ยงมากไปยังสินทรัพย์เสี่ยงน้อย หุ้น ราคาผันผวน ทองคำ น้ำมันราคาปรับขึ้น
● ในระยะกลาง-ยาว ตลาดหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เรียงจากมากไปน้อย คือ ตลาดหุ้นยุโรป สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (ไทย)
● บล.กสิกรไทย มีมุมมองต่อหุ้นไทย ให้ทยอยซื้อลงทุนได้ ในขณะที่ หุ้นสหรัฐฯ ถือได้ ไม่ต้องซื้อเพิ่ม ส่วนหุ้นยุโรป ทยอยขายทำกำไรออกมาก่อน จับตาดูสถานการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในช่วง 15-16 มี.ค. นี้
“
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2534 ที่สหภาพโซเวียตล่มสลายกลายเป็น 15 ประเทศ โดยมีทั้งรัสเซียและยูเครนอยู่ในประเทศเหล่านั้น ต่อมาในปี 2540 มีการดึงสมาชิกเดิมของอดีตสหภาพโซเวียตเข้าไปเป็นสมาชิก NATO และล่าสุดในปี 2561 ยูเครน คือ 1 ในประเทศที่จะถูกดึงเข้าไปเป็นสมาชิก NATO ในฐานะรัสเซียที่มีพรมแดนติดต่อและกำลังจะเสียแนวร่วมเดิมให้กับ NATO ทำให้เกิดความขัดแย้งนี้ขึ้น จากผลกระทบจากการเมืองในระดับภูมิรัฐศาสตร์ ในฐานะนักลงทุนควรปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไรกันบ้าง
ผลกระทบจากสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ในระยะสั้น จะมีการย้ายเงินทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงมายังสินทรัพย์เสี่ยงน้อย ทำให้ดัชนีหุ้นผันผวนทั่วโลก ราคาทองคำ น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น
ในระยะกลาง-ยาว
ตลาดหุ้น
ดูจากสถิติดัชนี MSCI Asia ex Japan เทียบกับ ยุโรป และสหรัฐฯ ในช่วง 30 วันก่อนหน้า (ณ วันที่ 23 ก.พ. 65) จะพบว่าดัชนีที่ได้รับผลกระทบปรับตัวลดลงเรียงจากมากไปน้อย คือ ตลาดหุ้นยุโรป ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นไทย หรือแถบเอเชีย ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบในอนาคตด้วย
ตลาดหุ้นยุโรป คาดว่าได้รับผลกระทบสูง เนื่องจาก
1) รัสเซีย เป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของยุโรป ในขณะที่ยุโรป เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของรัสเซีย
2) อัตราเงินเฟ้อของยุโรป ราวๆ 5.1% มาจากการเพิ่มขึ้นจากราคาแก๊สและน้ำมัน ถึง 2.8% (เกิน 50%) ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตและการดำรงชีวิต ดังนั้น จากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้น และจะกระทบต่อเศรษฐกิจของยูโรโซน คิดเป็น GDP 0.8%
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ คาดว่าได้รับผลกระทบปานกลาง นอกจากได้รับผลกระทบทางอ้อมจากยุโรป ยังมีปัจจัยอัตราเงินเฟ้อที่สนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนอัตราการจ้างงาน GDP ที่ยังไม่สูง และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ไม่ได้รองรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ทำให้มีความไม่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายการเงิน
ตลาดหุ้นไทย คาดว่าได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจาก
1) รัสเซีย เป็นคู่ค้าลำดับ 26 ของไทย และไทย เป็นคู่ค้าลำดับ 32 ของรัสเซีย
2) Fund Flow ยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอยู่ หากนำ Fund Flow รายเดือนมาเรียงลำดับกัน 30 ปีย้อนหลัง จะพบว่า Fund Flow ในเดือน ก.พ. 65 ในตลาดหุ้นไทย สูงสุดเป็นลำดับ 2
3) อัตราเงินเฟ้อของไทย ยังไม่ต่ำ เมื่อเทียบกับยุโรป และสหรัฐฯ
คำแนะนำการลงทุน
บล.กสิกรไทย มีมุมมองในหุ้นแตกต่างกันตามภูมิภาค โดย
หุ้นไทย : ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากสถานการณ์นี้ แนะนำให้ซื้อ และเป็นจังหวะซื้อมากกว่าจังหวะขาย สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) ในตลาดหุ้นไทยที่แนะนำ ในระยะสั้น ผู้ที่ต้องการเก็งกำไร แนะนำหุ้นกลุ่มพลังงาน หากต้องการจัดพอร์ต แนะนำหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มการเงิน กลุ่มค้าปลีก จะเป็นหุ้น Value Play และให้จับตาการประชุม FED ในวันที่ 15-16 มี.ค.ทางเลือกแรก คือ ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด 0.5% ดัชนีหุ้นไทยจะทรงๆ ทางเลือก 2 ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด 0.5% และสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น ดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวลดลง ทางเลือกสุดท้าย คือ ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% (น้อยกว่าคาด) ดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นได้
หุ้นต่างประเทศ
หุ้นยุโรป แนะนำขายทำกำไร ส่วนหุ้นสหรัฐแนะนำยังไม่ลงทุนเพิ่ม ส่วนหุ้นจีน แนะนำให้ทยอยสะสมในช่วงครึ่งปีแรก และน่าจะขึ้นได้ในครึ่งปีหลัง และหุ้นญี่ปุ่น แนะนำทยอยสะสมเช่นกัน
ทองคำ คริปโทฯ : ทองคำเก็งกำไรได้ในกรอบ 1,880-1,930 USD/Ounce เทียบเหมือนหุ้น Value ได้ สำหรับนักลงทุนระยะยาวแนะนำให้ลงทุนได้ไม่เกิน 5-10% เพื่อกระจายความเสี่ยง ในขณะที่ คริปโทฯ ไม่แนะนำให้ลงทุน เทียบเหมือนเป็นหุ้น Growth
น้ำมัน : วิกฤติจะส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันในระยะสั้น และราคาปัจจุบันเลยจุดที่มาจาก Demand Supply แล้ว ยังมีปัจจัยกดดันจาก Shell Oil และแหล่งสำรองน้ำมันในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆอีก แนะนำขายทำกำไร
สำหรับผู้ที่มีเงินลงทุนใน Unit Linked ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อย สับเปลี่ยนเงินลงทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงมาสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ถ้ารับความเสี่ยงได้สูง ให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น ได้
ตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ผันผวน ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้โดยรวม มองว่ากองทุนที่มีหุ้นกู้จะน่าสนใจกว่าจากอัตราการผิดนัดชำระหนี้มีแนวโน้มลดลงจากผลของเศรษฐกิจที่ค่อยๆกลับมาฟื้นตัว
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
KS Forward วันที่ 24 ก.พ. 2565
SET-IAA HOT ISSUE #1/2022 “รัสเซีย-ยูเครน ส่อประทุ ผู้ลงทุนควรตั้งรับอย่างไร”
Morning Wealth 25 ก.พ. 2565
.
บทความโดย K WEALTH GURU สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®