“
● ยานแม่ SCB ประกาศส่งบริษัทลูก SCBS เข้าถือหุ้น 51% มูลค่า 17,850 ล้านบาท ใน Bitkub ส่งผลให้ Bitkub กลายเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ของประเทศไทย ที่มีมูลค่าบริษัท 35,000 ล้านบาท
● SCB ซื้อ Bitkub จะช่วยลดเวลา ในการพัฒนาธุรกิจแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ 1 – 3 ปี ได้ทีมบริหารที่มีความรู้ความชำนาญ เข้ามาผลักดันธุรกิจ ช่วยสร้างศักยภาพในการเติบโต เพิ่ม ROE และมูลค่าหุ้นในระยะยาว ส่วน SCBS จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้ลูกค้าได้ลงทุน และกระจายความเสี่ยงเพิ่มเติม
● ความท้าทายเรื่องการเก็บภาษี 15% จากกำไรการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างจริงจังในอนาคต เป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบกับ ปริมาณการซื้อขาย และธุรกิจของ Bitkub หรือไม่
“
ข่าวใหญ่สะท้านวงการธนาคาร และ Cryptocurrency ในประเทศไทย ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คงหนีไม่พ้นข่าวยานแม่อย่าง SCB ประกาศส่งบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เข้าถือหุ้น บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้นำด้านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย (Digital Asset Exchange) ในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท ส่งผลให้ Bitkub แปลงร่างกลายเป็นม้ายูนิคอร์น ที่มีมูลค่าบริษัท 35,000 ล้านบาทในทันที
ย้อนหลังไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว Bitkub พึ่งจะเริ่มก่อตั้งบริษัท ในปี 2018 โดยปีนั้น บริษัทมีรายได้เพียง 1 ล้านบาท แต่ก็สามารถทำรายได้ในปีถัดมา อย่างก้าวกระโดดต่อเนื่อง จนล่าสุดรายได้สะสม 9 เดือนแรกของปี 2021 สูงถึง 3,279 ล้านบาท และมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของปีนี้ที่ 1.03 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ Bitkub ยังเป็นผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในไทย ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 92%
ที่มา: บล.กสิกรไทย
ในมุมมองของทาง บล.กสิกรไทย (KS) มองว่าการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ ด้วยสภาพคล่องส่วนเกินในปัจจุบัน จะเป็นทางลัดให้กับ SCB ในการเข้าสู่ธุรกิจแพล็ตฟอร์มการซื้อขาย Cryptocurrency ช่วยลดเวลาพัฒนาได้ 1-3 ปี และได้ทีมบริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจ รวมทั้ง SCBS ยังได้รับประโยชน์จากการที่มีผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าได้ลงทุน หรือกระจายความเสี่ยงได้เพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนี้
KS ยังมองว่าการเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้ จะช่วยสร้างศักยภาพในการเติบโต เพิ่ม ROE และมูลค่าหุ้นในระยะยาวอีกด้วย
KS มองว่าในปัจจุบัน ยังไม่สามารถที่จะประเมินถึงความสมเหตุสมผลของการซื้อหุ้น 51% ด้วยจำนวนเงิน17,850 ล้านบาทได้ เนื่องจากข้อมูลทางการเงินยังไม่เพียงพอ แต่หากดูกำไรสะสม 9 เดือนของปี 2021 จะพบว่า Bitkub มีกำไรสูงถึง 1,530 ล้านบาท ประเมินว่ากำไรทั้งปี 2021 อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท สะท้อน PER ที่ 18 เท่า ซึ่งเป็นตัวคูณที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับทิศทางการเติบโตของตลาด Cryptocurrency ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อสงสัยว่ากำไร 1,530 ล้านบาทนั้น มาจากการดำเนินธุรกิจหลัก หรือมาจากการ Mark to market ของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ทางบริษัทถืออยู่ ซึ่งก็ต้องติดตามข้อมูลทางการเงินฉบับเต็มกันต่อไป
หลายฝ่ายก็มีการประเมินว่า ดีลการจับมือของ SCB กับ Bitkub ในครั้งนี้อาจจะสร้างพลังในการต่อรองกับทางหน่วยงานกำกับดูแล ให้มีมากยิ่งขึ้นได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง Bitkub เคยถูกหน่วยงานกำกับดูแล สั่งห้ามออก Fans token และ NFT มาแล้ว นอกจากนี้ยังมองว่า การที่ SCB ซึ่งมีบริษัทลูกอย่าง SCB 10X ที่ลงทุนในแพลตฟอร์ม Defi ในต่างประเทศอยู่แล้วนั้น เมื่อจับมือกับ Bitkub ก็อาจมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน พัฒนาระบบการเงิน ไปสู่โลก Decentralized finance ที่พร้อมจะแข่งขันกับต่างประเทศได้ในอนาคต
ธุรกิจซื้อขาย Cryptocurrency ไม่ได้มีแต่ความสดใสที่รออยู่ในอนาคตเท่านั้น แต่ต้องเผชิญความท้าทายกับการเก็บภาษี 15% จากกำไรของผู้ซื้อขาย Cryptocurrency ที่คาดว่ากรมสรรพากรจะมีความจริงจังมากขึ้นในอนาคต ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อมีการเก็บภาษีอย่างจริงจังเกิดขึ้นแล้ว ปริมาณการซื้อขาย และรายได้ของ Bitkub จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ก็ต้องติดตามกันต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : KSecurities, The Secret Sauce