มัดรวมกลยุทธ์เปลี่ยนเงินเย็น ให้งอกเงย ด้วยเทคนิค "เงินต่อเงิน" การลงทุนให้เงินทำงาน
ในยุคที่เศรษฐกิจมีความผันผวน การเติบโตลดน้อยถอยลง หลายคนคงมีเป้าหมายเก็บเงินให้มากที่สุดจนเงินจำนวนนั้นกลายเป็น “เงินเย็น” แต่การทิ้งเงินเย็นไว้เฉยๆ ไม่สร้างกำไรให้งอกเงยคงเป็นเรื่องน่าเสียดาย วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับกลยุทธ์เปลี่ยนเงินเย็นนี้ให้งอกเงยด้วยเทคนิคเงินต่อเงิน ด้วยการลงทุนในเงินทำงาน รับรองว่าใช้ง่าย ได้ผลในระยะยาว แถมไม่เสียดายโอกาส
“เงินเย็น” ถ้าใช้ถูกทาง ศักยภาพมหาศาล
เงินเย็น คือ เงินเก็บที่อาจจะยังไม่ได้วางแผนแน่ชัดว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรต่อ เช่น เงินออม เงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งควรมีไว้ถึงระดับที่จำเป็น แต่ถ้ามากเกินไปก็เสียโอกาสต่อยอดให้งอกเงย นอกจากนี้ถ้าทิ้งไว้ในบัญชีเงินฝากนานๆ ก็มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่กัดกินมูลค่าเงินของเราทุกวัน ดังนั้นการลงทุนด้วยเทคนิค “เงินต่อเงิน” ให้เงินทำงาน จึงเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อเปลี่ยนเงินเย็นให้งอกเงย ไม่เสียโอกาสไปฟรีๆ
เอา “เงินเย็น” ไปลงทุน ต้องมีพื้นฐานอะไรบ้าง
ถ้าเอาเงินเย็นไปลงทุนเพื่อหวังจะใช้เงินทำงาน แต่ไม่มีความรู้พื้นฐานขาดการประเมินความเสี่ยงที่รับได้ ก็อาจส่งผลเสียหายต่อเงินเย็นก้อนนั้นโดยไม่จำเป็น ดังนั้นจึงควรเริ่มประเมินความเสี่ยงและการยอมรับความเสี่ยงจะได้รู้ว่าตัวเองมีขอบเขตการลงทุนได้แค่ไหน
การประเมินความเสี่ยงและการยอมรับความเสี่ยงที่ง่ายสุด จะแบ่งตามประเภทนักลงทุน ซึ่งมี 4 ประเภท โดยประเมินจากแบบประเมินความเสี่ยงที่ทำทุกครั้งตอนเปิดพอร์ตลงทุน (หาได้เองในเวปไซต์)
• นักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง: มีความสามารถรับความเสี่ยงระดับต่ำ เน้นลงทุนระยะสั้น เงินต้นหายไม่ได้เลย ไม่ถนัดเรื่องการลงทุน อาจคาดหวังผลตอบแทนเท่ากับอัตราเงินเฟ้อให้มูลค่าเงินที่เก็บไว้ไม่ลดลง
• นักลงทุนที่รับความเสี่ยงต่ำ: มีความสามารถรับความเสี่ยงระดับต่ำ-ปานกลาง เน้นลงทุนระยะกลาง-ยาว ไม่ค่อยมีเวลาติดตามการลงทุนมากนัก ยังมีความกังวลถ้าเห็นราคาขึ้นๆลงๆ เน้นผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ 1-2%
• นักลงทุนที่รับความเสี่ยงปานกลาง: มีความสามารถรับความเสี่ยงปานกลาง-สูง เน้นลงทุนระยะยาว มีเวลาติดตามการลงทุน เริ่มรับความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนได้ ถ้าราคาไม่ร่วงแรงมากก็ไม่ค่อยกังวล เน้นผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ 3-4%
• นักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูง: มีความสามารถรับความเสี่ยงสูง เน้นลงทุนระยะยาว มีเวลาติดตามการลงทุนมาก ถ้าราคาร่วงมากก็ยังไม่กังวล คาดหวังผลตอบแทนอย่างน้อยเท่ากับดัชนีตลาดหุ้น เช่น เฉลี่ยปีละ 8%
กลยุทธ์ในการแปลง “เงินเย็น” ให้เป็นการลงทุน สร้างรายได้แบบ Passive
การลงทุนที่น่าสนใจโดยเฉพาะนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามตลาด คือ แปลงเงินเย็นเป็นการลงทุนเพื่อสร้างรายได้แบบ Passive ซึ่งมีสินทรัพย์ต่างๆ มากมายที่มีคุณลักษณะสร้าง Passive Income ให้นักลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นปันผล หุ้นกู้และพันธบัตร อสังหาฯ ซึ่งถ้าไม่ลงทุนโดยตรงก็สามารถเลือกกองทุนรวมที่ลงทุนสินทรัพย์เหล่านั้นแทนก็ได้
ซึ่งนักลงทุนควรเลือกสินทรัพย์ให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ทีนี้เราไปดูกันว่านักลงทุนแต่ละประเภทเหมาะกับสินทรัพย์อะไรบ้าง
เริ่มจากนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงเหมาะกับกองทุนรวมตลาดเงินหรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น สร้าง Passive Income ด้วยดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ในพอร์ต เช่น K-SF, K-SFPLUS, WP-LIGHT ซึ่งอาจไม่มีการปันผลอัตโนมัติ แต่ด้วยผลตอบแทนที่เพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป นักลงทุนอาจติดตามและขายทำกำไรเองปีละ 1-2 ครั้ง
ต่อด้วยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงต่ำเหมาะกับกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว หรือกองทุนรวมผสมเสี่ยงต่ำ เช่น K-SFPLUS, K-FIXEDPLUS, K-GB-A(D), WP-LIGHT. WP-BALANCED แน่นอนว่ากองทุนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีคลาสปันผล แต่ผลตอบแทนกองทุนกลุ่มนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นค่อยเป็นค่อยไป นักลงทุนไม่ต้องเข้าไปติดตามพอร์ตบ่อยมาก เพียงแค่ประมาณ 1-2 ครั้งต่อปีเช่นกัน แล้วขายทำกำไรออกมาเป็น Passive Income
สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงปานกลางเหมาะกับกองทุนรวมผสมแบบสมดุลหรือกองทุนรวมผสมแบบเชิงรุก เช่น K-GINCOME-A(R), WP-BALANCED, K-PLAN3 ซึ่งบางกองทุนจะเป็นคลาส Auto-Redemption มีการขายอัตโนมัติให้นักลงทุน แต่บางกองทุนก็ยังต้องเข้าไปติดตามพอร์ตแล้วขายทำกำไรสร้าง Passive Income
สุดท้ายนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงเหมาะกับกองทุนรวมหุ้นปันผลหรือกองทุนรวมอสังหาฯ และ REITs เช่น K-STAR-A(R), K-HIT-A, K-GHEALTH, K-CHANGE-A(A), K-GOLD-A(D), K-PROPI-A(D) ถ้าเป็นกองทุนลักษณะนี้ มีความผันผวนสูงขึ้น นักลงทุนอาจต้องติดตามพอร์ตบ่อยขึ้น
พลังดอกเบี้ยทบต้น ลงทุนเร็วยิ่งเห็นผลเร็ว
ทุกคนที่ลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทน แต่ผลตอบแทนจะยิ่งเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งก็คือ ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้รับเงินต้นบวกกับดอกเบี้ยจากงวดก่อนหน้า
เช่น มีเงินต้น 10,000 บาท ลงทุนได้ดอกเบี้ย 5% ต่อปี เมื่อได้ดอกเบี้ยมาแล้วเอากลับเข้าไปฝากรวมกับเงินต้น เวลาผ่านไปเงินต้นจะเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยพลังดอกเบี้ยทบต้น
ปีที่ 1 เงินลงทุน 10,000 บาท ดอกเบี้ย 500 บาท
ปืที่ 2 เงินลงทุน 10,500 บาท ดอกเบี้ย 525 บาท
ปีที่ 3 เงินลงทุน 11,025 บาท ดอกเบี้ย 551.3 บาท
ปีที่ 4 เงินลงทุน 11,576.3 บาท ดอกเบี้ย 578.8 บาท
ด้วยผลจากดอกเบี้ยทบต้น ยิ่งเวลาผ่านไป ดอกเบี้ยที่ได้ยิ่งเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ประเภทไหน ควรลงทุนสินทรัพย์อะไรบ้าง ซึ่งได้แนะนำไปในส่วนกลยุทธ์ไว้แล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มลงทุนอย่างสม่ำเสมอ แล้วปล่อยให้พลังของดอกเบี้ยทบต้นเพิ่มความมั่งคั่ง
นอกจากนี้ พลังดอกเบี้ยทบต้นจะยิ่งเห็นผลดี ถ้าลงทุนอย่างมีวินัย ถ้าอยากให้มีวินัยมากขึ้น แนะนำทำแผนการลงทุนอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การลงทุนอัตโนมัติมากมาย เช่น K-My Funds
ติดตามและปรับเปลี่ยนการลงทุน
การลงทุนก็เหมือนการทำงานที่ต้องมีการติดตามเพื่อประเมินว่าผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ อาจขายทำกำไรสร้าง Passive Income หรือมีข้อผิดพลาดอย่างไรบ้าง ถ้ามีข้อผิดพลาดจะแก้ไขปรับเปลี่ยนการลงทุนอย่างไร ซึ่งการติดตามควรทำปีละ 1-2 ครั้ง ส่วนใหญ่ข้อผิดพลาดมักจะเป็นผลตอบแทนไม่เป็นไปตามเป้า แนะนำให้ทบทวนว่าสัดส่วนสินทรัพย์เป็นไปตามความเสี่ยงที่เหมาะสมและเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่
การจัดการเงินเย็นที่ทิ้งไว้ในบัญชีให้งอกเงย เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในยุคนี้ ด้วยกลยุทธ์การลงทุนเพื่อสร้างรายได้แบบ Passive เน้นไปที่สินทรัพย์จ่ายปันผลหรือดอกเบี้ย เพิ่มความมั่งคั่ง เพื่อให้ทุกคนได้มีเวลาไปใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้นพบว่ายิ่งลงทุนเร็ว ผลตอบแทนยิ่งงอกเงยเร็วขึ้น