K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน : สรุปมติ กนง. นัดแรกปี 66 สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจไทย
26 มกราคม 2566
2 นาที

ประเด็นร้อน : สรุปมติ กนง. นัดแรกปี 66 สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจไทย


​​

"​

• กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%ต่อปี พร้อมส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไป


• เศรษฐกิจไทย ยังได้รับปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน จากการที่จีนเปิดประเทศ


• กองทุนตราสารหนี้ส่วนใหญ่ปรับตัวลงในวันที่ กนง. ประกาศขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นเพียงระยะสั้น แนะนำถือกองทุนตราสารหนี้ตามระยะเวลาที่สอดคล้องกับอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุน (Portfolio Duration) หรือที่ บลจ.แนะนำ


"


25 ม.ค. 66 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไป โดยหากภาพรวมเงินเฟ้อมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง กนง. ก็พร้อมจะปรับทั้งขนาดและเวลาในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป


มุมมองเงินเฟ้อของ กนง.


แม้เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังอยู่ในระดับสูงจนถึงปลายปี 66 เงินเฟ้อทั่วไปจึงจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1%-3% (ปี 65 อยู่ที่ 6.08%) โดยปีนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงาน จะมีบทบาทต่อเงินเฟ้อในภาพรวมมากขึ้นจากปีที่แล้ว กนง. จึงยังคงทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเหมาะสมกับภาพรวมเศรษฐกิจในอนาคต


มุมมองเศรษฐกิจของ กนง.


การเปิดประเทศของจีน เป็นผลเชิงบวกต่อไทยมากกว่าเชิงลบ ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก แม้การเปิดประเทศของจีนอาจส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจโลก จากการเดินทางที่มากขึ้นทำผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น ส่งให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นหรือลดในอัตราที่ช้าลง ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จึงอาจยังต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว และอาจส่งผลทางอ้อมต่อไทยได้ อีกทั้งเมื่อการท่องเที่ยวดีขึ้นก็อาจจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อไทยด้วยเช่นกัน

นักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มในปีนี้และปีหน้า จะทำให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวและเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จะช่วยสนับสนุน GDP ของไทยปีนี้ แต่อาจไม่มากนัก เนื่องจากยังถูกกดดันจากการส่งออกที่เชื่อว่าไตรมาสแรกของปีนี้จะยังไม่ฟื้นตัวจากเดือน ธ.ค. 65


การขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลกระทบอย่างไร


ผู้มีภาระสินเชื่อเงินกู้


การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. มักส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อตาม ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจที่มีการกู้เงินสูงขึ้นกำไรของธุรกิจจึงต่ำลง ส่วนบุคคลทั่วไปที่มีการกู้เงิน เช่น สินเชื่อบ้าน ฯลฯ แม้อาจไม่กระทบต่อยอดผ่อนแต่ละเดือนที่ทำสัญญามาก่อนหน้านี้ แต่ก็ส่งผลให้หมดหนี้ช้าลง มีเงินเหลือออมและลงทุนน้อยลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์มักพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกหนี้และกลุ่มเปราะบางอย่างรอบคอบ เห็นได้จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย MRR และ MLR มักมีการปรับขึ้นในอัตราที่แตกต่างกัน และนอกจากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องและส่งให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือ การสิ้นสุดมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee)


ผู้ฝากเงิน และลงทุนหุ้นกู้เอกชน


หากพิจารณาประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลังของธนาคารกสิกรไทย ในช่วงหลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแต่ละครั้ง แม้การขึ้นดอกบี้ยของ กนง. เมื่อ 10 ส.ค. 65 ธนาคารจะไม่ได้มีการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากตาม แต่ 2 ครั้งล่าสุด ที่ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อ 28 ก.ย. และ 30 พ.ย. 65 หลังจากนั้น 5 - 8 วัน ธนาคารก็มีการขึ้นดอกเงินฝากประจำ 3 - 24 เดือนตาม

จากกำหนดการประชุม กนง. ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 พบว่าการประชุมแต่ละครั้งห่างกันประมาณ 2 เดือน โดยจากมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.75-2.00% ในช่วงครึ่งปีหลัง (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.50%) ดังนั้น เงินฝากประจำ 3-6 เดือน ที่มีระยะเวลาเงินครบสอดคล้องกับช่วงการประชุม กนง. จะโอกาสได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้

สำหรับหุ้นกู้เอกชน ที่ออกใหม่หลังการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ก็มีโอกาสจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เทียบกับหุ้นกู้เดิมที่เสนอขายก่อนนี้ ที่มีระยะเวลาและอันดับความน่าเชื่อถือเท่ากัน


กองทุนตราสารหนี้


หากพิจารณาราคากองทุนเปิดตราสารหนี้ที่ซื้อขายได้ทุกวันทำการ ของ บลจ.กสิกรไทย ณ 25 ม.ค. 66 พบว่าส่วนใหญ่ราคากองทุนมีการปรับตัวลดลง เช่น

กองทุน K-CASH ที่มีความเสี่ยงระดับ 1 ซึ่งถือว่าเป็นระดับความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด ราคาปรับตัวลง -0.0008%เทียบกับวันก่อนหน้า

กองทุน K-CBOND-A มีความเสี่ยงระดับ 4 ราคาปรับตัวลง -0.0426%เทียบกับวันก่อนหน้า

ซึ่งเกิดจากตราสารหนี้ (เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง ฯลฯ) ที่กองทุนลงทุนอยู่ราคามีการปรับตัวลง จากผลตอบแทนที่ได้รับหากถือจนครบกำหนดมีความน่าสนใจลดลง เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่กำลังจะออกใหม่ที่น่าจะให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น ตามดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ราคาตราสารหนี้จะมีการปรับตัวลง แต่หากเป็นตราสารหนี้ภาครัฐหรือตราสารหนี้เอกชนที่มีอันดับความเชื่อถือสูง เมื่อตราสารหนี้เหล่านี้ครบอายุ กองทุนหรือผู้ที่ถือก็ยังคงได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนตามสัญญา ส่งผลให้ราคากองทุนตราสารหนี้จะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นตาม ส่วนจะใช้เวลาในการปรับตัวขึ้นนานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุน (Portfolio Duration) ซึ่งดูได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet) หรือระยะเวลาการลงทุนที่ บลจ. แนะนำ


กองทุนหุ้นไทย และตลาดหุ้นไทย


ณ 25 ม.ค. 66 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index)  ปรับตัวลงเล็กน้อย -0.05%เทียบกับวันก่อนหน้า ส่งผลให้กองทุนหุ้นไทยส่วนใหญ่ของ บลจ.กสิกรไทย ปรับตัวลง เช่น K-STAR ปรับตัวลง -0.18%เทียบกับวันก่อนหน้า อย่างไรก็ตามแม้หุ้นไทยจะมีการปรับตัวลง แต่หากพิจาณาจากมุมมองของ กนง. เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้แล้ว ก็มีโอกาสที่หุ้นไทยและกองทุนหุ้นไทย จะเติบโตได้ในปีนี้


คำแนะนำ


ผู้ฝากเงิน แนะนำเงินฝากประจำระยะเวลา 3-6 เดือน เพื่อให้การฝากครั้งใหม่หลังครบระยะเวลาฝากสอดคล้องกับช่วงที่มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือผู้ต้องการความคล่องตัวในการเบิกถอน แนะนำเงินฝาก e-Savings ที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 1.5%ต่อปี (ประกาศ ณ 24 ธ.ค. 65) คิดเป็น 6 เท่าของดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป 

ผู้ถือกองทุนตราสารหนี้ แนะนำให้มีระยะเวลาการถือสอดคล้องกับที่ บลจ.แนะนำ แม้ระหว่างทางราคาอาจมีการปรับตัวลงในระยะสั้นก็ตาม เช่น กองทุน K-CASH เหมาะกับการถือ 3 วันขึ้นไป กองทุน K-SF-A เหมาะกับการถือ 3 เดือนขึ้นไป และกองทุน  K-CBOND-A เหมาะกับการถือ 1 ปีขึ้นไป

ผู้ถือกองทุนหุ้นไทย เช่น K-STAR-A หากรับความเสี่ยงได้ แนะนำให้ถือลงทุนต่อ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว ที่สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจไทย

ผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แต่ยังคงรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้หรือต้องการรับผลตอบแทนระยะยาว แนะนำลงทุนกองทุนผสม เช่น กองทุน K-PLAN2 และ K-PLAN3 ที่มีการแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนทั้งหุ้นและตราสารหนี้ อีกทั้งยังมีนโยบายลงทุนต่างประเทศบางส่วน เพื่อโอกาสรับผลตอบแทน ภายใต้ความเสี่ยงหรือความผันผวนที่ต่ำกว่ากองทุนหุ้นทั่วไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก RYT9

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


​​

บทความโดย K Wealth Trainner ราชันย์ ตันติจินดา CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!