K WEALTH / บทความ / Wealth Management / ทางเลือกเสริมเงินลงทุนแกร่ง ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
07 กันยายน 2565
4 นาที

ทางเลือกเสริมเงินลงทุนแกร่ง ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น


​​​“

• ข้อมูลสถิติเงินฝาก ณ สิ้นเดือนพ.ค. 65 พบว่า บัญชีเงินฝากรวมทุกประเภทอยู่ที่ 15.76 ล้านล้านบาท จากทั้งหมด 116.55 ล้านบัญชี และเงินฝากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


• ข้อควรพิจารณาในการฝากเงินเยอะๆ คือ หากได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์รวมกันเกิน 20,000 บาทต่อปี จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และมีความเสี่ยงที่มูลค่าของเงินจะลดลง รวมถึงประเด็นเรื่องสถาบันคุ้มครองเงินฝากให้ความคุ้มครองเงินฝากวงเงิน 1 ล้านบาท


• คนที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท หรือได้ดอกเบี้ยเงินฝากถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี พันธบัตร/หุ้นกู้ เป็นทางเลือกในการนำเงินไปลงทุนเพิ่มความมั่งคั่งในแบบที่เสี่ยงต่ำ ลงทุนง่าย เข้าใจง่าย และรู้ผลตอบแทนที่จะได้รับก่อนลงทุน



การฝากเงินยังเป็นวิธีเก็บเงิน​ที่หลายคนคุ้นเคยและเลือกใช้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในยุคข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพสูง และเงินเฟ้อแบบทุกวันนี้ การฝากเงินที่ได้ดอกเบี้ยต่ำคงไม่ทำให้มูลค่าของเงินเติบโตได้อีกต่อไป สำหรับคนที่รู้จักแต่การฝากเงิน กลัวความเสี่ยงมากๆ หรือชอบฝากเงินจำนวนมาก มีข้อควรพิจารณาอะไร แล้วควรนำเงินที่มีไปเก็บออมหรือลงทุนแบบไหนที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้ ศึกษาได้จากบทความนี้



ข้อมูลสถิติเงินฝาก

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย ณ สิ้นเดือนพ.ค. 65 พบว่า บัญชีเงินฝากรวมทุกประเภทอยู่ที่ 15.76 ล้านล้านบาท จากทั้งหมด 116.55 ล้านบัญชี ซึ่งเงินฝากได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย - บัญชีเงินฝากที่มีจำนวนบัญชีมากที่สุดคือ บัญชีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท มีจำนวน 102.15 ล้านบัญชี - บัญชีเงินฝากที่มีจำนวนบัญชีน้อยที่สุดคือ บัญชีเงินฝากตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 1,578 บัญชี หากนับเฉพาะบัญชีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท มีจำนวน 1.76 ล้านบัญชี ยอดเงินรวม 4,344,345 ล้านบาท



เหตุผลที่คนเลือกเก็บเงินผ่านการฝากธนาคาร

เหตุผลที่หลายคนเลือกเก็บเงินผ่านการฝากธนาคารคงหนีไม่พ้นเหตุผลเหล่านี้


- เงินต้นไม่หาย

แน่นอนว่าการฝากเงินไม่ใช่การลงทุน จึงไม่มีความเสี่ยงที่เงินต้นจะหาย คนที่ไม่ชอบความเสี่ยง กลัวการขาดทุน หรือกลัวเงินต้นหาย


- ได้ดอกเบี้ยแน่นอน

การฝากเงิน ธนาคารจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ฝากเงินจะได้รับต่อปีไว้ โดยจะจ่ายดอกเบี้ยให้ปีละ 2 ครั้ง (ทุกๆ 6 เดือน) ทำให้ผู้ฝากเงินได้รับดอกเบี้ยที่แน่นอน คนที่ชอบความแน่นอน แม้ว่าดอกเบี้ยจะน้อย แต่รู้แน่ๆ ว่าจะได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่


- มีสภาพคล่องสูง

เมื่อฝากเงินแล้ว หากต้องการใช้เงินเมื่อไหร่ก็สามารถเบิกถอนได้อย่างสะดวก



ข้อควรพิจารณาในการฝากเงินเยอะๆ


- หากได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์รวมกันเกิน 20,000 บาทต่อปี จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

หากใครฝากเงินแล้วได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ออมทรัพย์พิเศษ หรือเงินฝากไม่ประจำ รวมกันทุกบัญชีทุกสถาบันการเงินเกิน 20,000 บาทต่อปี จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ย แต่สามารถเลือกขอคืนภาษีตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หากฐานภาษีของเราน้อยกว่า 15%


ลองมาดูตัวเลขยอดเงินฝากว่าถ้าฝากเงินเกินเท่าไหร่จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคิดจากอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับเกิน 20,000 บาทต่อปี ดังนี้


​อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)
​จำนวนเงินฝากที่จะถูกหักภาษี
​0.25%
​เกิน 8 ล้านบาทขึ้นไป
​0.50%
​เกิน 4 ล้านบาทขึ้นไป
อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)0.75%
​เกิน 2.66 ล้านบาทขึ้นไป
​1.00%
​เกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป
​1.25%
​เกิน 1.6 ล้านบาทขึ้นไป
​1.50%
​เกิน 1.33 ล้านบาทขึ้นไป


- ความเสี่ยงที่มูลค่าของเงินลดลง

แม้จะรู้สึกสบายใจที่เห็นตัวเลขเงินฝากนอนนิ่งๆ อยู่ในบัญชี แต่การฝากเงินจำนวนมากก็มีความเสี่ยงที่มูลค่าของเงินจะลดน้อยลงไป เงินโตไม่ทันเงินเฟ้อ เนื่องจากการฝากเงินได้รับดอกเบี้ยค่อนข้างน้อย กว่าเงินจะงอกเงยได้อย่างที่ตั้งใจต้องใช้เวลานานมาก โตไม่ทันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปี เมื่อเวลาผ่านไป เงินในบัญชีที่มองว่ามีเยอะ อาจมีมูลค่าไม่เยอะอย่างที่คิดก็ได้


- สถาบันคุ้มครองเงินฝากให้ความคุ้มครองเงินฝากวงเงิน 1 ล้านบาท

ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2564 เป็นต้นมา คนที่มีบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินบาท ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ รวมถึงบัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน จะได้รับความคุ้มครองเงินฝากในวงเงิน 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝากต่อ1 สถาบันการเงิน ตามพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในกรณีที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ดังนั้น คนที่ฝากเงินเกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันการเงิน ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทจึงมีความเสี่ยงในเรื่องนี้ ถึงแม้จะเป็นความเสี่ยงที่ไม่ได้มีโอกาสเกิดได้ง่ายๆ



ทางเลือกเพิ่มความมั่งคั่งในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

สำหรับคนที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท หรือได้ดอกเบี้ยเงินฝากถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี มีทางเลือกในการนำเงินไปลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งในแบบที่เสี่ยงต่ำ ลงทุนง่าย เข้าใจง่าย และพอจะรู้ผลตอบแทนที่จะได้รับก่อนลงทุนด้วย ขอแนะนำ


- พันธบัตร/หุ้นกู้

ซึ่งเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ที่กำหนดระยะเวลาลงทุนแน่นอน โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย และมีโอกาสได้ดอกเบี้ยสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล รุ่นอายุ 5 ปี จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 3% ต่อปี โดยจะจ่ายดอกเบี้ยให้ทุก 3 เดือน ซึ่งดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จะเห็นว่าดอกเบี้ยที่ได้รับสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างมาก แถมจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ลงทุนถี่กว่าเงินฝาก และไม่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย เนื่องจากเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลจึงมีความมั่นคงและความน่าเชื่อถือสูงมาก แต่หากเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน ให้พิจารณาเลือกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ BBB- ขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มที่ลงทุนได้ และมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ใครที่มีเงินก้อนและยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินในเร็วๆ นี้ ลองมองหาพันธบัตรหรือหุ้นกู้รุ่นอายุที่เหมาะกับระยะเวลาที่สามารถลงทุนได้จนครบกำหนด ก็จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนและความมั่งคั่งให้เราได้


หากใครสนใจพันธบัตรหรือหุ้นกู้ แต่หาซื้อยากหรือจองซื้อไม่ทัน ก็ยังมีทางเลือกในการลงทุนพันธบัตรหรือหุ้นกู้ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือเก็บออมผ่านประกันชีวิตได้


- กองทุนตราสารหนี้ / กองทุน Term Fund

เป็นการลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินฝากและตราสารหนี้ในประเทศ โดยเฉพาะตราสารหนี้ของภาครัฐ อย่างตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก รวมถึงหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้


- ประกันชีวิต

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเก็บออมเงินที่ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากและได้ความคุ้มครองชีวิตด้วยในเวลาเดียวกัน โดยประกันชีวิตแบบที่เน้นเก็บออมเงินเพื่อให้มีเงินก้อนไว้ใช้ในอนาคต เช่น ประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตควบการลงทุน (เน้นเลือกการลงทุนแบบเสี่ยงต่ำ)


การฝากธนาคารอาจเป็นที่ที่ให้ความสบายใจ แต่การฝากเงินจำนวนมากๆ นอกจากมีข้อควรพิจารณาดังที่กล่าวมา ก็ยังมีเรื่องของโอกาสที่เสียไปจากการนำเงินไปแช่ไว้ในเงินฝากด้วย หากไม่ลองเปิดใจ ก้าวข้ามออกจากที่เดิม ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าที่ใหม่ดีกว่าอย่างไร ลองเริ่มจากการแบ่งเงินบางส่วนในจำนวนที่สบายใจมาซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้รุ่นอายุที่เหมาะกับระยะเวลาที่สามารถลงทุนได้และมีความน่าเชื่อถือสูง หรือลองลงทุนกองทุนรวมที่ความเสี่ยงต่ำๆ แล้วค่อยๆ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ เพียงแค่นี้ก็จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนและทำให้เงินของเรางอกเงยได้อย่างที่ตั้งใจ


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 


• บลจ.กสิกรไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก



บทความโดย K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

อ่าน Fund Fact Sheet ยังไง ให้เคลียร์ก่อนลงทุน
ทำไมมีเงิน 10 ล้าน แล้วยังไม่พอในยุคนี้
​​​​​​ไม่ต้องซีเรียส แม้มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 ล้าน

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

ประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ 615 มีเงินปันผล (Global)​

ดูเพิ่มเติม

หุ้นกู้ / พันธบัตร

ดูเพิ่มเติม