K WEALTH / บทความ / Product Review / รวม 3 วิธีลงทุน “ทองคำ” ให้ผลตอบแทนต่างกันอย่างไร?
07 มีนาคม 2566
4 นาที

รวม 3 วิธีลงทุน “ทองคำ” ให้ผลตอบแทนต่างกันอย่างไร?


​​

"

• ผลตอบแทนรายสินทรัพย์ ในปี 2022 ไม่มีสินทรัพย์ใดให้ผลตอบแทนเป็นบวกเลย แม้แต่สินทรัพย์ที่เชื่อว่ามีความปลอดภัยสูงอย่าง ตราสารหนี้ระยะสั้นของรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasury Bill) หรือ ทองคำ ก็ตาม


• 3 วิธีลงทุนทองคำ แบบไหนที่จะเหมาะกับเรา ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในทองคำแท่ง(ด้วยเงินก้อน) ลงทุนผ่านกองทุนรวม (ทยอยออมรายเดือน) และลงทุนผ่านการออมทอง (ทยอยออมรายเดือน) โดยควรเลือกให้เหมาะกับเงินลงทุนของตนเอง

 

• ​แนวโน้มการลงทุนในทองคำ จาก World Bank ให้ราคาเป้าหมายในปี 2023 อยู่บริเวณ 1,850-1,900 USD/Oz โดยคาดการณ์ว่า กรณี Base Case จะทำให้ FED Fund Rate สูงสุดอยู่ที่ 5% และจะปรับลดลงในช่วงปลายปี แต่จะสหรัฐฯจะเกิด Mild Recession (ถดถอยแบบเบาๆ) ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง แล้วปรับขึ้นได้

"


ภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนในปี 2565 ไม่ว่าจะตลาดหุ้นที่ถูกกดดันจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และตลาดตราสารหนี้ก็ถูกกดดันราคาจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยตลาดที่เป็นขาขึ้น ทำให้ดูเหมือนลงทุนอะไรจะติดลบไปหมด หลายคนหาสินทรัพย์ที่ลดความเสี่ยงช่วงตลาดผันผวน หนึ่งในสินทรัพย์นั้นคือ ทองคำ แล้วจะมีแนวทางในการลงทุนที่เหมาะกับนักลงทุนได้บ้าง บทความนี้จะสรุปมาให้แล้ว


เกิดอะไรขึ้น กับสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆในช่วงปี 2010-2022 (13 ปี) 


 
รูป1*: เปรียบเทียบผลตอบแทนรายปีปฏิทินตามประเภทสินทรัพย์ (Asset Class) ตั้งแต่ปี 2010-2022   

จากรูปที่ 1 เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนรายปีปฏิทินตั้งแต่ ปี 2010-2022 โดยเฉพาะปี 2022 จะพบว่า เป็นปีที่ทุกประเภทสินทรัพย์มีผลตอบแทนติดลบ ทำให้หลายคนพยายามนึกถึงการลงทุนที่ปลอดภัย อย่าง ทองคำ 


ราคาทองคำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 66)



 
รูปที่ 2** : แสดงราคาทองคำแท่งในต่างประเทศ (สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ) ตั้งแต่ปี 2013-2022


จากกราฟราคาทองคำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีราคาต่ำสุด 1,050.80 USD/Oz ในปี 2016 และมีราคาสูงสุด 2,070.05 ในปี 2020 ว่าจะมีวิธีการลงทุนใน “ทองคำ” อย่างไรบ้าง


3 วิธีลงทุนใน ทองคำ 


1. ทองคำแท่ง


เป็นวิธีลงทุนทองคำที่มีสินทรัพย์จับต้องได้ และต้องมีเงินก้อนในการลงทุน ดังนั้น นักลงทุนที่เลือกลงทุนวิธีนี้ จะชอบถือครองทองคำแท่งหรือมีร้านทองคำหรือสถานที่จัดเก็บทองคำแท่งไว้ เมื่อลงทุนเป็นเงินก้อนจะพบว่า ผลตอบแทนย้อนหลังจากทองคำแท่งอ้างอิงราคาตามเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กับ อ้างอิงราคาตามเงินสกุลบาท ดังนี้

 
จากตารางแสดงผลตอบแทนย้อนหลังของทองคำแท่งอ้างอิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะมีความบริสุทธิ์ 99.99% ส่วนทองคำอ้างอิงสกุลเงินบาท ความบริสุทธิ์อยู่ที่ 96.5% และปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลตอบแทนของทองคำแท่ง 2 สกุลเงินมีผลตอบแทนไม่เท่ากัน มาจาก อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯกับเงินบาท โดยจะพบว่า การลงทุนในทองคำกับร้านทอง เป็นเงินก้อน จะให้ผลตอบแทนดีกว่า ทองคำแท่งในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็เมื่อเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ จากผลตอบแทนย้อนหลัง จะพบว่า การถือครองทองคำระยะยาว ไม่ได้แปลว่าจะให้ผลตอบแทนดีเสมอ เห็นได้จาก ลงทุนเป็นเงินก้อน 10 ปี จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่า ลงทุนเป็นเงินก้อน 5 ปี

2. ออมทองคำผ่านผู้ประกอบการร้านทอง


เป็นวิธีการลงทุนที่ได้ทั้งเป็นเงินก้อนหรือทยอยลงทุนก็ได้ แต่ลักษณะจะเหมาะกับ การทยอยลงทุน เนื่องจากจะเป็นการทยอยออมทุกเดือน (ด้วยราคาทองคำแท่งสกุลเงินบาทตามร้านทอง) และจะถอนออกมาเป็นทองคำทุกๆ 1 บาท ทำให้สามารถลงทุนผ่านการออมทองคำได้ เป็นการนำจุดเด่นของการทยอยออม และยังมีโอกาสได้ถือครองทองคำด้วย โดยเมื่อทยอยลงทุนเป็นรายเดือน ใช้ราคาทองคำ ต่างประเทศ และ ไทย ในวันทำการสุดท้ายของเดือน ทำให้ผลตอบแทนย้อนหลัง เป็นดังนี้ 
จากตารางเป็นแสดงผลตอบแทนจากการทยอยออมรายเดือน Dollar Cost Averaging : DCA และลงทุนในทองคำแท่งเช่นเดียวกัน มีลักษณะผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกัน โดยอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผลตอบแทนจะได้ไม่มากเท่ากับการลงทุนเป็นเงินก้อน และทองคำแท่งตามร้านทอง (ซื้อขายเป็นเงินบาท) จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า เมื่อเงินบาทอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ช่องทางในการทยอยออมทองคำในสกุลดอลลาร์สหรัฐ ก็เป็นอีกทางเลือกกับผู้ประกอบการร้านทอง ดังนั้น เลือกได้ว่าจะออมทองสกุลเงินบาท หรือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยต้องพิจารณาค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯด้วย

3. กองทุนรวม

​​

เป็นวิธีการลงทุนที่ทำได้ทั้งเป็นเงินก้อนหรือทยอยลงทุนก็ได้ แต่จุดเด่น คือ มีเงินน้อยก็สามารถลงทุนได้ แต่จะอยู่ในรูปแบบหน่วยลงทุน หรืออีกมุม จะไม่ได้ถือครองทองคำแท่งโดยตรง (ทองคำแท่งเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นการถือครองผ่านกองทุนรวมที่มีผู้รับฝากและเก็บรักษาทรัพย์สิน (Custodian) ดูแลสินทรัพย์ที่ถือครอง โดยเมื่อทยอยลงทุนเป็นรายเดือน ใช้ราคา NAV ของวันทำการสุดท้ายของเดือน ทำให้ผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวมไทย และกองทุน ETF ในต่างประเทศโดยตรง มีดังนี้​​ 
จากตาราง (ด้านบน) ผลตอบแทนย้อนหลังจากการลงทุนเงินก้อนในกองทุนรวม K-GOLD ที่มีนโยบายลงทุนในทองคำแท่ง(สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ) ความบริสุทธิ์ 99.99% กับ กองทุนหลัก SPDR Gold Trust จะพบว่า ผลตอบแทนย้อนหลังของการลงทุนเป็นเงินก้อนในกองทุนหลัก SPDR Gold Trust จะดีกว่าทุกช่วงเวลา และไม่ว่าค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนหรือแข็งค่า ก็ยังให้ผลตอบแทนดีกว่าเสมอ 
จากตาราง (ด้านบน) เป็นผลตอบแทนย้อนหลังจากการลงทุนเป็นการออมรายเดือน (DCA) จะพบว่า ผลตอบแทนย้อนหลังทุกช่วงเวลาของกองทุน K-GOLD จะให้ผลตอบแทนดีกว่าเสมอ ไม่ว่าค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนหรือแข็งค่า โดยส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนที่ถูกลงจากการทยอยซื้อเป็นรายเดือน โดยกองทุนรวมทองคำ จะมีทางเลือกให้ได้ผลตอบแทนระหว่างทาง เช่น เงินปันผลจากกองทุนรวม และเลือกนโยบายการป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน มีทั้งป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน 100%, ป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน, ไม่ป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน ให้เลือก หากไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แนะนำให้ป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน 100% จะได้มองเรื่องส่วนต่างราคาเป็นหลัก

จาก 3 วิธีลงทุนทองคำ สรุปได้ว่า สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในทองคำแท่ง ควรเลือกลงทุนตามเงินลงทุนว่ามีเงินก้อน หรือ เงินออมรายเดือน และจำเป็นต้องพิจารณาแนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยน (บาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ) ประกอบการลงทุนด้วย ส่วนนักลงทุนที่สามารถลงทุนในกองทุนรวมได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมทองคำ หรือ กองทุนหลัก(ทองคำ)ในต่างประเทศโดยตรง หากต้องการลงทุนเป็นเงินก้อน แนะนำลงทุนในกองทุนหลัก จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า หากต้องการออมเป็นรายเดือน แนะนำเป็นกองทุนรวมทองคำ ซึ่งมีทั้งการจ่ายปันผลระหว่างทาง (เลือกนโยบายปันผลได้) และป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม หากดูกราฟราคาทองคำ จะพบว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ราคาทองคำทยอยปรับขึ้น ทำให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี เป็นบวก หากกลับไปดูผลตอบแทนย้อนหลังปีที่ 6-10 (ปี 2013-2017) มีความผันผวนสูง ทำให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี ได้น้อยกว่า ผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี 


แนวโน้มราคาทองคำในปี 2023


World Bank มีมุมมองต่อราคาทองคำ อยู่ในระดับ 1,850-1,900 USD/Oz โดยปัจจัยที่จะกระทบกับราคาทองคำ คือ โอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และยุโรป โดยกรณี Base Case คือ จะเกิด Mild Recession จะทำให้ราคาทองคำทยอยปรับขึ้นได้ โดยคาดการณ์จาก www.gold.org คาดการณ์กรณี Base Case ว่า จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FED Fund Rate) สูงสุด 5% ในช่วงกลางปี 2023 นี้ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับกลาง (สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2 %) จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปรับตัวลดลงชั่วคราว แล้วปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

ที่มา : Bloomberg และ World Gold Council

จากข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ส่งสัญญาณจากตัวเลขการจ้างงานที่ออกมาดี ทำให้หนุนธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ ซึ่งอาจจะเกิดภาวะถดถอยได้ (สถานการณ์แบบถดถอยรุนแรง) ทำให้ช่วงนี้ราคาทองคำปรับตัวลงต่อ หากยังมีตัวเลขที่ส่อจะเติบโตได้ดี ซึ่งจะทำให้ FED ต้องกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อ แนะนำให้ชะลอการลงทุนในทองคำออกไปก่อน หากมีสถานะลงทุนอยู่ สามารถถือต่อได้ แต่หากมีสถานการณ์ที่ทำให้ FED หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ จะช่วยให้ทิศทางราคาทองคำกลับมาได้อีกครั้ง

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



บทความโดย K WEALTH TRAINER สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

​เปิดบัญชีหุ้น/กองทุน offshore กับ บล.กสิกรไทย​

ดูเพิ่มเติม
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!