ทำไม Warren Buffet ถึงทุ่มเงินลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิป

Warren Buffet ซื้อหุ้น TSMC กลุ่ม Semiconductor หุ้นกลุ่มนี้มีอะไรน่าสนใจ

ทำไม Warren Buffet ถึงทุ่มเงินลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิป



"

● ผลตอบแทนของตัวแทนหุ้นกลุ่ม Semiconductors ทำผลงานได้โดดเด่น (Outperform) กว่าหุ้นทั่วโลก ทั้งในแง่ผลตอบแทนสะสม (ตั้งแต่ พ.ย. 2007- พ.ย. 2021) และ ผลตอบแทนรายปีปฏิทิน แต่ในปี 2022 ผลตอบแทนติดลบ 38.06%


● หุ้นกลุ่ม Semiconductors แบ่งเป็น 4 กลุ่มขั้นตอนการผลิต ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของแต่ละบริษัท ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นบริษัท Semiconductors ก็จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เท่ากัน


● คำแนะนำการลงทุน หุ้นกลุ่ม Semiconductors มี P/E Ratio อยู่ที่ 19.1 เท่า โดยมีคาดการณ์ Earning Growth อยู่ที่ 16.0% เทียบกับ P/E Ratio ใน Sector Technology อยู่ที่ 29.8 เท่า และคาดการณ์ Earning Growth อยู่ที่ 15.7% ซึ่งถือว่าหุ้น Sector Semiconductors ยังราคาถูก และมีการเติบโตของกำไรพอสมควร แต่ควรเลือกหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ยังได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว


"



ช่วงกลางเดือน พ.ย. 65 ที่ผ่านมา Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้งของ Warren Buffet ได้เข้าซื้อหุ้น TSMC หลังราคาหุ้น TSMC ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี ในช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ราคาที่ลดต่ำลงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการซื้อ และมีปัจจัยอื่นอะไรที่น่าสนใจในกลุ่ม Semiconductors ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นบทความนี้สรุปมาให้แล้ว


เกิดอะไรขึ้น กับหุ้นกลุ่ม Semiconductor




รูป1*: เปรียบเทียบผลตอบแทนสะสมของ MSCI World Semiconductors and Semi Equip VS MSCI World ระหว่าง เดือน พ.ย. 2007-พ.ย. 2022
*ที่มา : www.msci.com

จากรูปที่ 1 การเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนสะสมนับตั้งแต่ เดือน พ.ย. 2007 - พ.ย. 2022 จะพบว่า MSCI World Semiconductors and Semi Equip มีผลตอบแทนสะสมที่ดีกว่า เทียบกับ MSCI World (หุ้นที่มีขนาดใหญ่และปานกลางในประเทศพัฒนาแล้วของโลก) โดยผ่านไป 15 ปี จากดัชนี 100 จุดเท่ากัน MSCI World Semiconductors จะอยู่ที่ 574.63 จุด MSCI World อยู่ที่ 226.91 จุด แสดงให้เห็นผลตอบแทนของหุ้นกลุ่ม Semiconductors มีผลตอบแทนโดดเด่นกว่า หุ้นโลก และหุ้นทั่วโลก

รูป2* : ผลตอบแทนรายปีปฏิทิน ระหว่าง MSCI World Semiconductors VS MSCI World ปี 2008-2021
*ที่มา : www.msci.com

ในรูปที่ 2 เป็นการเปรียบเทียบเป็นรายปี แม้ดัชนี MSCI World Semiconductors ปีที่เป็นบวกมักจะผลตอบแทนดีกว่า MSCI World ส่วนปีที่ติดลบมักจะติดลบมากกว่า MSCI World ถือว่า MSCI Semiconductors มีความผันผวนสูงกว่า (เสี่ยงมากกว่านั้นเอง)


10 อันดับหุ้นใน MSCI World Semiconductors จะเป็นกลุ่มบริษัทที่อยู่ในสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่ มีเพียงหุ้น ASML ที่เป็นสัญชาติ เนเธอร์แลนด์ เพียงตัวเดียว
เจาะลึกขั้นตอนการผลิต Semiconductor แตกต่างแล้วจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร




จากรูปเป็นการแบ่งประเภทบริษัทที่เกี่ยวข้องในการผลิต Semiconductors และประเทศที่บริษัทเหล่านั้นตั้งอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่สนใจหุ้นกลุ่ม Semiconductors เห็นภาพในขั้นตอนการผลิตออก ส่วนข้อมูลรายได้ของแต่ละบริษัท ตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งปัจจุบันรายได้อาจจะแตกต่างไปจากนี้แล้ว

มาดูกันที่ ขั้นตอนในการผลิต Semiconductors มี 4 ขั้นตอน (จากธุรกิจต้นน้ำไปยังปลายน้ำ) ซึ่งจะแบ่งกลุ่มหุ้นบริษัทตามขั้นตอนการผลิตได้เช่นกัน

1.ขั้นตอนออกแบบ หรือ R&D หรือ ขายลิขสิทธิ R&D หรือ Software จะเรียกขั้นตอนนี้ว่า Chip Design Software และ Fabless ถือว่าเป็นขั้นตอนการผลิตช่วงต้นน้ำ ซึ่งบริษัทรับหน้าที่ในการออกแบบ หรือ ดูแลเรื่อง Software ในการออกแบบ เปรียบเสมือนเป็นมันสมองของ Semiconductors จะเป็นบริษัท Synosis และ Cadence ในสหรัฐฯ (สีมิ้นท์ในรูป) ในขณะที่บริษัทที่ทำธุรกิจวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้ในการพิมพ์ลายลงในชิป อย่าง ASML ในเนเธอร์แลนด์ (สีเหลืองในรูป) จะเห็นว่าบริษัทที่คุมการวิจัยและพัฒนา และวิธีการผลิต จะอยู่ในสหรัฐฯ หรือยุโรป

2.ขั้นตอนการผลิต Manufacturing จะเรียกขั้นตอนนี้ว่า Foundry กลุ่มนี้จะรับจ้างผลิตอย่างเดียว ถือเป็นขั้นตอนการผลิตช่วงกลางน้ำ ซึ่งจะมีทั้ง Samsung และ TSMC ที่บริษัทตั้งในประเทศเอเชีย (เกาหลีใต้ และไต้หวัน) ทำหน้าที่รับจ้างผลิตอย่างเดียว แต่ความแตกต่าง คือ เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่ง TSMC วางแผนและพัฒนาการผลิตมานานแล้ว เพื่อให้สามารถรับจ้างผลิตชิปที่มีเทคโนโลยีสูงได้ เพื่อเป็นบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านรับจ้างผลิตชิป

3.ขั้นตอนประกอบจนเป็นชิปขนาดใหญ่ จะเรียกขั้นตอนนี้ว่า Testing & Assembly ถือเป็นขั้นตอนการผลิตช่วงปลายน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้จะอยู่ในไทย และมาเลเซีย ซึ่งทำหน้าที่ประกอบอย่างเดียว เสมือนประกอบชิ้นส่วนให้สำเร็จ ไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีในการผลิตใดๆ ดังนั้น กลุ่มนี้จะมีมูลค่าเพิ่มน้อย

4.กลุ่มบริษัทที่ทำเองตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ (Integrated Device Manufacturer : IDM) บริษัทที่ทำเองตั้งแต่ขั้นตอน1-3 ซึ่งบริษัทกลุ่มนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เช่น Intel

จากขั้นตอนในการผลิต Semiconductors มีทั้งบริษัทที่มีจุดแข็งในการผลิต รวมถึงการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งจะอยู่ในสหรัฐฯเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่บริษัทรับจ้างผลิต จะกระจายตัวอยู่ในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งก็จะแตกต่างด้านเทคโนโลยีในการผลิตเช่นกัน


10 อันดับรายได้สูงสุดในกลุ่มบริษัทผู้ผลิต Semiconductors



จากข้อมูลยอดขายสูงสุด 10 อันดับแรกในตลาดหุ้นสหรัฐฯ หากดูจากอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) จะเรียงลำดับจาก TSMC, Broadcom, Qualcom, Micron Tech, ASML, AMAT, NVIDIA, Intel, ASX และ AMD ตามลำดับ ซึ่งจะมี TSMC จะเป็นบริษัทที่รับจ้างผลิตเพียงบริษัทเดียว ซึ่งมี Net Profit Margin สูงสุด และมีเทคโนโลยีในการรับจ้างผลิตชิปที่มีความซับซ้อน (กลุ่ม Foundry) ทำให้มีจุดแข็งในการผลิต ในขณะที่บริษัทที่มี Net Profit Margin อันดับรองๆ ลงมา จะอยู่ในกลุ่ม Fabless ดังนั้น บริษัท Semiconductor คล้ายๆกัน แต่จะมีผลตอบแทนแตกต่างกัน ทำให้ต้องเลือกลงทุนรายบริษัท Semiconductor เช่นกัน


คำแนะนำการลงทุนในธุรกิจกลุ่ม Semiconductors


ถึงแม้ Warren Buffet จะตัดสินใจเข้าลงทุนใน TSMC ซึ่งเป็นธุรกิจรับจ้างผลิต Semiconductors รายใหญ่ของโลก ซึ่งมีเทคโนโลยีในการผลิตชิปที่มีความซับซ้อน ที่เป็นจุดแข็งของ TSMC แล้ว และจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดังนั้น หากจะพิจารณาความเหมาะสมด้านราคาตลาด ก็ใช้ข้อมูลของหุ้นกลุ่ม Semiconductors ในตลาดหุ้น สหรัฐฯ ได้ โดยมีข้อมูล Price to Earning Ratio ย้อนหลัง 3 ปี ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 27.4 เท่า และปัจจุบันจากราคาตลาดหุ้น ณ วันที่ 3 ม.ค. 66 ทำให้ P/E Ratio ของหุ้นกลุ่ม Semiconductors อยู่ที่ 20.7 เท่า เสมือนราคาค่อนข้างจะถูกเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี

ในขณะที่ P/E Ratio ของหุ้น Sector Technology อยู่ที่ 29.7 เท่า โดยมีคาดการณ์ Earning Growth อยู่ที่ 15.7% ส่วนหุ้นกลุ่ม Semiconductors มี P/E Ratio อยู่ที่ 19.1 เท่า โดยมีคาดการณ์ Earning Growth อยู่ที่ 16.0% ซึ่งอยู่ในหุ้นกลุ่มที่ราคาตลาดถูก และคาดการณ์กำไรเติบโตพอสมควรอยู่

นอกจากหุ้น TSMC ที่ Warren Buffet ตัดสินใจเข้าลงทุนแล้ว การตัดสินใจเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่ม Semiconductors จะมีคำแนะนำ ดังนี้

1.ลงทุนโดยตรงผ่านบัญชีหุ้นต่างประเทศ (Offshore) โดยเลือกหุ้นที่มีขั้นตอนการผลิตในช่วงต้นน้ำ หรือกลางน้ำ หรือบริษัทที่ออกแบบ หรือรับผลิต Semiconductors (กลุ่มบริษัทสีมิ้นท์ สีส้ม ตามรูป) และบริษัทที่รับจ้างผลิต (กลุ่มบริษัทสีชมพู ตามรูป) ที่จะมีจุดแข็งในการผลิตหรือจำนวนคู่แข่งน้อย

2.ลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ ที่เน้น Theme หุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐฯ (มีหุ้น Semiconductors บางส่วน) หรือเน้นลงทุนหุ้น Semiconductors เป็นหลัก แนะนำให้ดู Top Holding ของกองทุนหลัก ว่ามีหุ้นที่มีขั้นตอนผลิต Semiconductors ในขั้นต้นน้ำ หรือกลางน้ำ อยู่ในบริษัทที่ลงทุน รวมถึงน้ำหนักการลงทุนเป็นเท่าไหร่

นอกจากเลือกวิธีลงทุนยังมีวิธีดูราคาว่าถูกหรือแพงจากค่า P/E Ratio ซึ่ง(ข้อมูล ณ วันที่ 3 ม.ค. 66) P/E Ratio ของ Sector Technology อยู่ที่ 29.7 เท่า (เสมือนเป็นค่าเฉลี่ยของหุ้น Sector นี้ที่รวมหุ้นกลุ่ม Semiconductors อยู่ด้วย) ในขณะที่ P/E Ratio หุ้นกลุ่ม Semiconductors อยู่ที่ 19.1 เท่า ถือว่าราคาถูกกว่าค่าเฉลี่ยเทียบทั้ง Sector Technology และควรมีสัดส่วนหุ้นต่างประเทศ ไม่เกิน 30% สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ระดับสูงมาก เพื่อไม่ให้สัดส่วนการลงทุนกระจุกมากเกินไป โดยส่วนที่เหลือให้กระจายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก MSCI.com, https://simplywall.st/markets/us/tech ข้อมูล ณ วันที่ 3 ม.ค. 66

เป็นข้อมูลทางการเงิน ณ วันที่ 22 ธ.ค. 65

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”






ผู้เขียน

K WEALTH TRAINER สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
Back to top