K WEALTH / บทความ / Market Update / เงินบาทอ่อนค่า อะไรแพงขึ้นบ้าง
04 สิงหาคม 2565
4 นาที

เงินบาทอ่อนค่า อะไรแพงขึ้นบ้าง


​​“

• เงินบาทอ่อนค่าในรอบนี้เกิดจากการที่ Fed เริ่มลดขนาดงบดุล และเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ


• เงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น แต่เป็นผลดีกับการส่งออก ต้นทุนการกู้ยืมเงินต่างประเทศสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวหรือศึกษาต่อต่างประเทศสูงขึ้น


• สำหรับผู้ที่วางแผนเดินทางไปต่างประเทศช่วงนี้ควรแลกเงินไว้ล่วงหน้า ส่วนผู้ลงทุน แนะนำกองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เลือกหุ้นกลุ่มส่งออก เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร และหลีกเลี่ยงกลุ่มพลังงาน โรงไฟฟ้า สำหรับผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกให้ฝากเงินเข้าบัญชี FCD และเมื่อต้องชำระเงินต่างประเทศ ให้โอนเงินออกจากบัญชี FCD และใช้ Forward หรือ Option บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม




ช่วงนี้หลายคนพูดถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเรื่อยๆ โดยอ่อนค่าแตะระดับ 36.35 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 7 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบเกือบ 6 ปีครึ่งเลยก็ว่าได้ โดยนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เงินบาทอ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 7.6% และไม่ใช่แค่ค่าเงินบาทไทยเท่านั้นที่อ่อนค่า นับตั้งแต่ต้นปีค่าเงินทั่วเอเชียก็อ่อนค่าลงระหว่าง 5.0-8.5% ด้วยเช่นกัน ทั้งญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย แล้วเงินบาทที่อ่อนค่าลงนี้เกิดจากสาเหตุอะไร และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อประชาชน นักลงทุน และคนทำธุรกิจ ติดตามได้จากบทความนี้



สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในรอบนี้เกิดจาก


- ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed เริ่มลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT)

ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 65 ที่ผ่านมา Fed เริ่มทยอยปรับลดขนาดงบดุล ซึ่งในงบดุลประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) โดยจะปล่อยให้ตราสารเหล่านี้ครบอายุในแต่ละเดือนโดยที่ไม่มีการซื้อเพิ่มเติม ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบลดลง เงินไหลกลับเข้ามา ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง


- การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่เปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งจากผลการประชุมนโยบายการเงินของ Fed ในรอบเดือนมิ.ย. 65 ที่ผ่านมาจบลงด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% ไปอยู่ที่ 1.75% ซึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนพ.ค. 65 ที่เร่งตัวสูงขึ้นไปที่ 8.6% ถือว่าสูงสุดในรอบ 40 ปี นอกจากนี้ ตามธรรมชาติแล้วเงินจะไหลจากที่ที่ได้ผลตอบแทนน้อยไปหาที่ที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า ดังนั้น เมื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 1.75% ในขณะที่การประชุม กนง. ของไทยในเดือนเดียวกันยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ทำให้มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.25% เมื่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในสหรัฐฯ จึงมีความน่าสนใจมากกว่า เงินจึงไหลออกไปยังสหรัฐฯ และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงนั่นเอง



เงินบาทอ่อนค่าส่งผลอย่างไร​​

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่


- ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น แต่เป็นผลดีกับการส่งออก

เงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้า รวมถึงเครื่องจักร ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ สูงขึ้น เนื่องจากต้องใช้เงินบาทในจำนวนที่มากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา ในทางกลับกันจะเป็นผลดีกับการส่งออกเพราะรายได้ที่ได้รับมาเป็นสกุลเงินต่างประเทศสามารถแลกกลับมาเป็นเงินบาทในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนเมษายน 2565 พบว่า ไทยส่งออกมูลค่า 782,146.10 ล้านบาท ในขณะที่นำเข้ามูลค่า 856,252.57 ล้านบาท ทำให้ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 74,106.47 ล้านบาท เนื่องจากมีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกนั่นเอง


- ต้นทุนการกู้ยืมเงินต่างประเทศสูงขึ้น

สำหรับธุรกิจที่มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศหรือค้างชำระค่าสินค้าบริการอยู่จะมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นทันที เพราะต้องใช้เงินบาทในจำนวนที่มากขึ้นเพื่อชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2564 พบว่า ไทยมีหนี้ต่างประเทศ ทั้งส่วนที่เป็นของรัฐบาล สถาบันการเงิน และภาคเอกชนรวมกันทั้งสิ้น 7 ล้านล้านบาท ในขณะที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 8 ล้านล้านบาท คิดเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศอยู่ที่ 114% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย


- ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวหรือศึกษาต่อต่างประเทศสูงขึ้น

ส่วนคนที่วางแผนเดินทางไปเที่ยวหรือศึกษาต่อต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เปิดประเทศแล้วจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวหรือศึกษาต่อที่สูงขึ้น รวมถึงการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ก็จะมีราคาแพงขึ้นด้วย



เงินบาทจะอ่อนค่าถึงเมื่อไหร่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สำหรับทิศทางเงินบาทนั้น แม้จะเห็นการขายเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินบาทเพื่อปรับโพสิชันทำกำไรบ้าง แต่คาดว่าเงินบาทจะยังมีโอกาสอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ดอกเบี้ยไทยจะเริ่มขยับขึ้น แต่ดอกเบี้ยของ Fed มีการเร่งตัวขึ้นเร็วกว่า



คำแนะนำในการจัดการเงิน

คำแนะนำสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ การลงทุน และการทำธุรกิจในช่วงเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่ 


     - ผู้ที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศสามารถเดินทางได้ แต่การเดินทางในช่วงนี้จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หากเชื่อว่าเงินบาทจะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง แนะนำให้แลกเงินไว้ล่วงหน้า 

     - ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศให้เลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบหรือความกังวลใจจากการขึ้นลงของค่าเงิน และช่วยให้เราลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศได้อย่างสบายใจมากขึ้น 

     - ผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้นควรเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มส่งออก เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร เพราะได้ประโยชน์จากการแปลงเงินดอลลาร์กลับมาเป็นเงินบาทที่มากขึ้น และหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มพลังงาน โรงไฟฟ้า ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทอ่อนค่าเนื่องจากมีการกู้เงินสกุลเงินดอลลาร์มาใช้ 

     - ผู้ที่มีทองคำในพอร์ต ถือเป็นจังหวะขายทำกำไร แล้วเหลือไว้ในพอร์ตที่ 5-10% เพราะเมื่อเงินบาทอ่อนค่า ราคาทองคำมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 

     - ผู้ประกอบการที่มีการทำธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออก แนะนำให้ฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือบัญชี FCD และเมื่อต้องชำระเงินต่างประเทศ ก็ให้โอนเงินออกจากบัญชี FCD โดยสามารถใช้ Forward หรือ Option ได้ตามความเหมาะสมเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน” 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 

     • KResearch Econ Digest: เฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบใหญ่...สาเหตุหลักกดดันบาทอ่อน แม้ดอกเบี้ยไทยเริ่มขยับขึ้น แต่ดอกเบี้ยเฟดเร่งตัวเร็วกว่า

https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/FED-FB-17-06-2022.aspx ​

     • KResearch Econ Digest: ค่าเงินบาทของไทย เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับภูมิภาค?

https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/TH-Baht-FB-07-07-2022.aspx 

     • กระทรวงพาณิชย์

http://www.ops3.moc.go.th/thtrade/sarup.htm ​



บทความโดย K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

เปิดบัญชีลงทุนกับ K PLUS

ดูเพิ่มเติม