K WEALTH / บทความ / Market Update / จับตา 3 ปัจจัย กดดันตลาดหุ้นไทย
19 พฤษภาคม 2565
3 นาที

จับตา 3 ปัจจัย กดดันตลาดหุ้นไทย


​​​​

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“​

​● นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 130,000 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 65 สาเหตุหลัก มาจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ประกอบกับความน่าสนใจน้อยลงในหุ้นเติบโตสูง อย่างหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ที่ราคาค่อนข้างสูง​ ทำให้ตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงไทย ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ

● นักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิ 82,000 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจาก การขาย LTF ที่ครบกำหนดในช่วงต้นปี 65 ซึ่งสูงกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และช่องทางการลงทุนโดยตรงมีมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินลงทุนผ่านสถาบันมีลดลง ​​

● ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ Fund Flow จากต่างชาติ เป็นการลงทุนในระยะสั้นหรือไม่ มาตรการเก็บภาษีการขายหุ้น จะกระทบกับนักลงทุนกลุ่มเก็งกำไร และสถานการณ์ Sell in May จะทำให้ช่วงไตรมาส 2 มีความผันผวน

● สำหรับผู้ไม่เคยลงทุนในหุ้นโดยตรง และอยากเริ่มลงทุน แนะนำลงทุนหุ้นเฉพาะกลุ่ม (Select Buy) เช่น กลุ่มการแพทย์ โรงไฟฟ้า REITs เป็นต้น หรือหากจะต้องลงทุนในหุ้นไทย แนะนำลงทุนเป็นสัดส่วนตามระดับความเสี่ยง เช่น เสี่ยงสูง มีสัดส่วนหุ้น/กองทุนหุ้นไทย ไม่เกิน 10% ส่วนผู้ที่มีสถานะลงทุนในหุ้น แนะนำให้ติดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นจาก FED ขึ้นดอกเบี้ย และลดขนาดงบดุล (QT) ทำให้ตลาดผันผวน


​​


ตั้ง​แต่ช่วงเดือน ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติที่มีสถานะซื้อสุทธิต่อเนื่องจนถึงล่าสุดเดือน มี.ค. 65ไปแล้วกว่า 130,000 ล้านบาท หากจะมองเฉพาะ ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 108,000 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันมีสถานะ​ขายสุทธิกว่า 82,000 ล้านบาท แล้วหุ้นไทยยังมี​ความน่าสนใจอยู่หรือไม่ เป็นคำถามที่น่าคิด แล้วหุ้นไทยทำไมถึงน่าสนใจในมุมนักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนสถาบันที่เป็นผู้เล่นความหวังจะพยุงตลาดยังทำได้อย่างที่หวังหรือไม่ บทความนี้จะช่วยหาคำตอบ



เกิดอะไรขึ้นกับ Fund Flow ในตลาดหุ้นไทย


​​นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิกว่า 130,000 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2565 มีสาเหตุมาจาก​


1.ธนาคารกลางสหรัฐฯ FED ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2564

จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ FED ต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้ ซึ่งส่งผลให้หุ้นในสหรัฐฯมีความน่าสนใจน้อยลง ในขณะที่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ มีราคาค่อนข้างสูงเทียบกับหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ดูได้จากค่า P/E ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้มีแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ออกมาในช่วงปลายปี 2564

2. จากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ มีความน่าสนใจลดลง

ก็มีกระแสเปลี่ยนการลงทุนจาก หุ้นที่มีอัตราเติบโตสูง (Growth) ไปยัง หุ้นที่มีมูลค่าแต่ราคาไม่สูง (Value) ซึ่งหนึ่งในตลาดหุ้นที่เข้าข่าย คือ ตลาดหุ้นไทย เนื่องจากลักษณะของหุ้นไทย ยังมีอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจแบบเดิม (Old Economy) และราคายังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ​


3. ในช่วงเดือน ก.พ. 65 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน

ทำให้ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรการค้ากับรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในยุโรป และสหรัฐฯด้วยเช่นกัน เนื่องจากรัสเซีย คือ ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นในยุโรป และสหรัฐฯ ที่มีค​วามน่าสนใจลดลง หากยังมีความขัดแย้งนี้อยู่ ในขณะที่ตลาดหุ้นฝั่งเอเชีย ได้รับผลกระทบน้อยกว่า หากเทียบในสินทรัพย์ประเภทหุ้นด้วยกัน​​

​ส่วนนักลงทุนสถาบันของไทย ขายสุทธิ กว่า 82,000 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 65 เช่นกัน โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจาก

​​1. แรงเทขายของผู้ถือครองกองทุน LTF ที่ครบกำหนด 7 ปีปฏิทิน

ในช่วงต้นปี 2565 ราวๆ 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นแรงเทขายที่มากกว่าช่วงต้นปีในปีอื่นๆ เนื่องจากหากไถ่ถอน LTF เมื่อครบกำหนด ปี 2565 จะเป็นปีแรกของ LTF รุ่นเงื่อนไขถือครอง 7 ปีปฏิทินครบกำหนด


2. ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นต่างประเทศ สร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า

เทียบกับหุ้นไทย อีกทั้งหุ้นไทยยังมีต้นทุนในการลงทุนที่สูงกว่า ทำให้นักลงทุนสถาบันลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย


3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีการปรับนโยบาย

ให้ลงทุนในต่างประเทศได้ ส่งผลให้นักลงทุนสถาบันให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้น​

​​

4. นักลงทุนรุ่นใหม่ สามารถเข้าลงทุนหุ้นไทยได้ด้วยตนเองมากขึ้น​

เห็นได้จากข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานตัวเลขบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวน 5.2 ล้านบัญชี ปรับตัวสูงขึ้น 1.7 ล้านบัญชี คิดเป็น 49% เทียบกับสิ้นปี 2563 ส่วนจำนวนผู้ลงทุน ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวน 3.0 ล้านราย ปรับตัวสูงขึ้น 947,000 ราย คิดเป็น 31% เทียบกับสิ้นปี 2563 หากจะมองจากกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออก นักลงทุนต่างชาติซื้อหรือขายสุทธิ จะสะท้อนความน่าสนใจเรื่องผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทย ในขณะที่นักลงทุนสถาบัน ต้องดูเหตุผลของการขายกองทุนลดหย่อนภาษี และช่องทางในการลงทุนด้วยตนเอง ดังนั้น จึงไม่แปลกว่า นักลงทุนต่างชาติยังมีบทบาทในการกำหนดทิศทางตลาดหุ้นไทยอยู่

​ ​

กระแสเงินทุนไหลเข้า (Fund Flow) มีปัจจัยใดบ้างเป็นตัวกำหนด


เหตุผลหลักของกระแสเงินทุนไหลเข้าหรือออก คือ เงินทุนจะไหลจากประเทศที่มีผลตอบแทนน้อยไปหาผลตอบแทนมาก ดังนั้น ปัจจัยที่กำหนดกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออก มีหลายปัจจัยในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศ โดยมีปัจจัยต่างๆดังนี้​

​​

1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth

​ปัจจัยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth เป็นตัวบ่งชี้ว่าประเทศใดมีรายได้หรือการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากหรือน้อยเพียงใด (เทียบกับอีกประเทศ) ดังนั้น กระแสเงินทุนไหลเข้าไปยังประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า (เมื่อเทียบกับอีกประเทศ) ในทางกลับกัน กระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น้อยกว่าเช่นกัน ดูจากตัวอย่างประมาณการณ์ GDP Growth ล่าสุด เดือน เม.ย. 65 (หลังรัสเซียบุกยูเครน) เทียบกับ ม.ค. 65 (ก่อนรัสเซียบุกยูเครน) เป็นดังตาราง

​GDP Growth 2022
รายกลุ่มประเทศ
​GDP Growth 2022
(APR 2022)
​GDP Growth 2022 (JAN 2022)
​เปลี่ยนแปลง
​โลก
​3.6%
​4.4%
​-0.8%
​รัสเซีย
​-8.5%
​2.8%
​-11.3%
​สหภาพยุโรป
​2.8%
​3.9%
​-1.1%
​สหรัฐฯ
​3.7%
​4.0%
​-0.3%
​จีน
​4.4%
​4.8%
​-0.4%
​ASEAN 5
​5.3%
​5.6%
​-0.3%

ถ้าปัจจัยอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจัย GDP Growth จะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกได้ ตัวอย่างเช่น รัสเซีย หาก GDP จะติดลบเพิ่มขึ้นเป็นจริงตามคาด เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตก จะส่งผลต่อกระแสเงินทุนที่ไหลออกแสดงให้เห็นว่า มีโอกาสที่ค่าเงินรูเบิ้ล อ่อนค่า และไหลไปเข้าประเทศแถบเอเชีย ที่ค่า GDP สูงกว่าประเทศแถบตะวันตกและสหรัฐฯ เป็นต้น

2. อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Bond Yield-Inflation)

สำหรับปัจจัยถัดมา คือ อัตราดอกเบี้ย เป็นปัจจัยที่จะทำให้เห็นว่ากระแสเงินทุน จะไหลจากประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำไปสูง แต่แค่อัตราดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่พอ ต้องเทียบอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้เห็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ ที่เรียกว่า “Real Yield” (ผลตอบแทนของพันธบัตรฯ หักด้วย อัตราเงินเฟ้อ) จากตัวอย่างจริง Real Yield ในสหรัฐฯ เทียบจาก Bond Yield อายุ 10 ปี เทียบกับ อัตราเงินเฟ้อ (ข้อมูล 10 พ.ค. 65) จะพบว่า Bond Yield ของสหรัฐฯ ระยะเวลา 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 3% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ราวๆ 8% ซึ่งทำให้ Real Yield อยู่ที่ประมาณ -5% ในขณะที่ Bond Yield ของไทย ระยะเวลา 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 3.36% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ อยู่ประมาณ 5% ทำให้ Real Yield อยู่ที่ – 1.64% จะส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลจากฝั่งสหรัฐฯ มายังฝั่งเอเชีย เช่น จีน ไทย มากขึ้น​

3. ดุลบัญชีเดินสะพัด ของแต่ละประเทศ เกินดุล หรือขาดดุล​ ​

โดยส่วนประกอบของดุลบัญชีเดินสะพัด คือ ดุลบัญชีการค้า และ ดุลบัญชีบริการ พูดง่ายๆ ประเทศนั้นๆ มีการซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการ มากกว่ากัน หากขายมากกว่าซื้อ เงินไหลเข้าทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งในทางตรงกันข้าม หากซื้อมากกว่าขาย เงินไหลออกทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งก็จะช่วยทำให้กระแสเงินลงทุน Fund Flow จากต่างประเทศ มองถึงความน่าสนใจในเรื่องการทำมาค้าขายของแต่ละประเทศ ประกอบการนำเงินทุนเข้ามาในประเทศนั้นๆ เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ (ข้อมูล ณ มี.ค. 65) จะขาดดุลอยู่ราวๆ 200,000ฯ ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ประเทศจีน เกินดุลราวๆ 50,000 ล้านดอลลาร์ฯ และประเทศไทย เกินดุลเล็กน้อย ราวๆ 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ (ช่วงสิ้นปี 64 ขาดดุล ราวๆ 600 ล้านดอลลาร์ฯ) ดังนั้น การใช้ดุลบัญชีเดินสะพัด หรือ Current Account ก็พอจะเห็นภาพของกระแสเงินลงทุนต่างชาติได้

4. อื่นๆ

เช่น นโยบายการเงินของแต่ละประเทศ ยกตัวอย่าง นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ จีน ยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึง ไทย ที่คงนโยบายการเงินแบบอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือปัจจัยค่าเงินสหรัฐฯ ที่เป็นค่าเงินที่เป็น Safe Haven ด้วยเช่นกัน ก็อาจจะทำให้กระแสเงินลงทุน (Fund Flow) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตาม 3 ปัจจัยข้างต้นเสมอไปเช่นกัน ​



ปัจจัยที่กังวลสำหรับตลาดหุ้นไทย


1. Fund Flow ที่เข้ามาในช่วงต้นปี อาจเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น

จะเห็นได้จากช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศฝั่งเอเชีย เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ เป็น Safe Haven และ ธนาคารกลางสหรัฐฯ FED ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายแบบตึงตัว กล่าวคือ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดการรับซื้อคืนพันธบัตรฯของสหรัฐฯ ส่งผลให้ มีแนวโน้มเงินไหลกลับไปลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็เป็นสัญญาณว่า Fund Flow ที่เข้ามาอาจเป็นเพียงระยะสั้น​


2. กระแสข่าวการเก็บภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax)

เป็นการเก็บภาษีจากการขายหุ้น ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาหลักเกณฑ์ หากมีการนำมาใช้จัดเก็บภาษี จะกระทบกับผู้ที่เก็งกำไรในตลาดหุ้น จะมีต้นทุนจากการขายเพิ่มขึ้น และอาจเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศที่จะไหลเข้าชะลอออกไปก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจน

3. ลุ้นสถานการณ์ Sell in May Sell in May

เป็นสถานการณ์ที่ขายหุ้นในช่วงเดือน พ.ค. เนื่องจากมีการประกาศจ่ายเงินปันผล ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงจนเป็นฤดูกาล (ในช่วงไตรมาส 2) ต้องติดตามว่าตลาดหุ้นไทย จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่


คำแนะนำการลงทุนที่ได้ประโยชน์จาก Fund Flow

สำหรับผู้ที่ยังไม่มีสถานะลงทุนในหุ้น แนะนำ

1. หุ้นรายตัว

เลือกลงทุนตามกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ และกลุ่ม Defensive เช่น หุ้นกลุ่มการแพทย์ โรงไฟฟ้า REITs และกลุ่มค้าปลีก (Supermarket และวัสดุก่อสร้าง) ​

2. กองทุนรวมหุ้นไทย​

แนะนำให้​​ลงทุนตามสัดส่วน ไม่เกิน 10% หรือกรณีมีการลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว ก็ขายเพื่อลดสัดส่วนการลงทุน เหลือ 10% กองทุนหุ้นไทยแนะนำ เช่น K-STAR เป็นต้น ​สำหรับผู้ที่มีสถานะลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว ขอให้ติดตามสถานการณ์ตลาดหุ้น ท่ามกลางความผันผวนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และการลดขนาดงบดุล (QT) ซึ่งทำให้เป็นปัจจัยที่กระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกโดยตรง



Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



ขอขอบคุณที่มา SETSMART จาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

https://tradingeconomics.com/​ (Inflation, Current Account)​

Investing (Current Account, Bond Yield)

IMF




​ ​
​​

​​

บทความโดย K WEALTH TRAINER สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

​เปิดบัญชีหุ้นกับ KS Trade​

ดูเพิ่มเติม