K WEALTH / บทความ / Market Update / ทองคำขึ้นเพราะอะไร แล้วน่าลงทุนไหม
18 พฤษภาคม 2565
5 นาที

ทองคำขึ้นเพราะอะไร แล้วน่าลงทุนไหม


​​“

• ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่หลายประเทศยังให้การยอมรับเสมอมาจนถึงปัจจุบัน


• ธนาคารกลางสหรัฐฯประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% และมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5% ในครั้งถัดไป ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ


• SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุนทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งกองทุนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเลือกลงทุนในกองทุนดังกล่าว


• ไม่แนะนำลงทุนทองคำเป็นสัดส่วนหลักของพอร์ต หรือเก็งกำไรระยะสั้น หากต้องถือทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงแนะนำลงทุนไม่เกิน 5-10% ของพอร์ตการลงทุน



ช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคมราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นสูงสุด 2048 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยมีสาเหตุจากปัจจัยเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังการระบาดของ COVID-19 รวมถึงการเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เป็นอีกปัจจัยสำคัญ จึงทำให้หลายคนอยากรู้ต่อว่ายังมีปัจจัยอะไรอีกบ้าง ที่ทำให้ราคาทองคำผันผวน แต่ก่อนที่จะพูดคุยกันเรื่องปัจจัยต่างๆ ลองมาทำความรู้จักศัพท์คำว่า Safe Haven กันก่อน



ทำความเข้าใจ ทองคำหนึ่งในสินทรัพย์ Safe Haven

Safe Haven หรือสินทรัพย์ปลอดภัยที่ช่วยรักษา หรือเพิ่มมูลค่าในภาวะตลาดมีความผันผวน เศรษฐกิจตกต่ำ โดยราคามักเคลื่อนไหวตรงข้ามกับสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งสินทรัพย์ประเภท Safe Haven ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นDefensive เงินสด และทองคำ โดยหลายคนอาจสงสัยต่อว่าทำไมทองคำถึงเป็น Safe Haven ก็ต้องย้อนไปหลักพันปี ที่มนุษย์ในอดีตใช้ทองคำเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ก่อนจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มาถึงปี 1900 ที่ทั่วโลกยอมรับการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินกับน้ำหนักทองคำ และมีทองคำเป็นทุนสำรองทั้งหมด เรียกว่าระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ก่อนจะมีการยกเลิกไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และพัฒนาสู่ยุค Bretton Wood ที่ประเทศต่างๆมีเงินทุนสำรองเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ผูกกับทองคำไว้ที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทองคำ 1 ออนซ์ และพัฒนาเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ที่หลายประเทศทั่วโลกยังมีทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ นี่จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าทองคำยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่หลายประเทศยังให้การยอมรับเสมอมาจนถึงปัจจุบัน



ปัจจัยที่กระทบราคาทองคำ


1.ความต้องการซื้อ-ขาย

มีผลต่อการขึ้นลงของราคาทองคำโลกโดยตรง ซึ่งความต้องการซื้อทองคำมีที่มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่กลุ่มเครื่องประดับ กลุ่มการลงทุน และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและการแพทย์ รวมถึงแรงซื้อทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่วนความต้องการขายทองคำมีที่มาจาก 3 กลุ่มหลักได้แก่ กลุ่มทองคำจากเหมือง แรงขายทองคำจากธนาคารกลาง และปริมาณทองคำที่หมุนเวียนในระบบ นอกจากนี้ราคาทองคำไทยยังขึ้นอยู่กับค่าเงินบาท และความต้องการทองคำภายในประเทศด้วย


ซึ่งหากใครติดตามข่าวการซื้อขายทองคำของ SPDR Gold Trust กองทุนETF ประเภท Passive ที่ถือทองคำมากที่สุดในโลก จะทราบกันดีว่ากองทุนดังกล่าว สามารถสะท้อนความต้องการซื้อขายทองคำจากนักลงทุนทั่วโลกได้อีกด้วย นอกเหนือจากการติดตามราคาตลาด โดยตั้งแต่ต้นปี กองทุน SPDR Gold Trust เข้าซื้อทองคำเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องแล้ว 78.62 ตัน ทำให้กองทุนถือครองทองคำอยู่ที่ 1,054.28 ตัน ส่งผลต่อราคาทองคำให้ปรับตัวสูงขึ้น


2.สงคราม​

ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทองคำมีราคาปรับตัวสูงขึ้น เพราะช่วงภาวะสงครามทองคำสามารถแลกเปลี่ยนเป็นสินค้า หรือสิ่งของต่างๆได้ทันที มีความต้องการสูง แตกต่างจากเงินธนบัตรหรือหุ้น ที่มูลค่าลดน้อยลงในช่วงสงคราม 


เหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีท่าทียืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และราคาทองคำในเชิงจิตวิทยา แต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตามสถานการณ์สงครามอย่างใกล้ชิด เพราะหากสงครามที่ยืดเยื้อได้ยุติลง หรือมีสัญญาณบวกมากขึ้น ราคาทองคำก็ปรับตัวลงได้เช่นกัน


3.เงินเฟ้อ

ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบกับราคาทองคำโดยตรง ปัจจัยข้างต้นไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาน้ำมัน สงคราม ความต้องการซื้อ-ขายทองคำ ล้วนมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวบอกทิศทางราคาทองคำ 


หากเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อยู่ในระดับสูง ราคาทองคำมักมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น หรือหากเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลง อยู่ในระดับต่ำ หรือเกิดสภาวะเงินฝืด ราคาทองคำมักปรับตัวลง 


ปัจจุบันที่เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19 รวมทั้งการเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานซึ่งถือเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าให้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นสัญญาณการถดถอยของเศรษฐกิจในหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป ที่ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งยอดค้าปลีก การบริโภคปรับตัวลดลง รวมทั้งเงินยูโรอ่อนค่า ซึ่งทองคำในฐานะสินทรัพย์ Safe Haven ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ รวมทั้งใช้กระจายความเสี่ยงในช่วงตลาดการลงทุนผันผวน จึงมีการปรับตัวสูงขึ้น​ ​


4.อัตราดอกเบี้ย

เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบกับราคาทองคำโดยตรง 


อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดี สินทรัพย์เสี่ยงให้ผลตอบแทนสูง เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการลดสภาพคล่องโดยการถอนมาตรการ QE เพื่อควบคุมเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงจนเกินไป ส่งผลให้ทองคำที่ไม่ได้มีผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย มีความน่าสนใจและราคาลดลง 


อัตราดอกเบี้ยขาลง จะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจแย่ เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ สินทรัพย์เสี่ยงถูกเทขาย ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะเลือกใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ย หรือใช้มาตรการ QE อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สภาพคล่องจำนวนมหาศาล จะส่งผลให้ความน่าสนใจและราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล มักสะท้อนความคาดหวังของนักลงทุนต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง 


ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มขาขึ้นตั้งแต่นั้นมา โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ 


ล่าสุดในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. ธนาคารกลางสหรัฐฯประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% และมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5% ในครั้งถัดไป ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ แต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตามท่าทีธนาคารกลางสหรัฐฯต่อไปเนื่องจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางสหรัฐฯโดยตรง ​



ทางเลือกการลงทุนกองทุนทองคำ

ทางเลือกการลงทุนทองคำมีหลากหลายวิธี เช่นการซื้อทองคำโดยตรงด้วยจำนวนเงินหลักหมื่น แล้วเก็บรักษาเอง หรือออมทองผ่านแอปฯร้านทองที่น่าเชื่อถือ หรือการใช้สัญญา Future ในการป้องกันความเสี่ยงราคาทองคำที่ถืออยู่ รวมทั้งการเก็งกำไรโดยตรง ซึ่งการใช้สัญญา Future อาจต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวนมาก เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง


แต่ก็มีอีกทางเลือกที่สามารถลงทุนทองคำได้ง่ายๆ ไม่ต้องเก็บรักษาทองคำเอง ไม่ต้องวางหลักประกันใดๆในการลงทุน รวมทั้งใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก ซึ่งทางเลือกดังกล่าวคือการลงทุนกองทุนรวมทองคำ โดยกองทุนรวมทองคำ มีนโยบายการลงทุนหลักๆ 2 ประเภท คือ


ลงทุนทองคำเองโดยตรง

โดยกองทุนซื้อทองคำแท่ง 99.5% ขึ้นไปในต่างประเทศ โดยซื้อขายด้วยราคากลางจาก London Bullion Market Association (LBMA) และเก็บรักษาที่ต่างประเทศ มีนโยบายทั้งแบบป้องกันความเสี่ยง และไม่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน


ลงทุนผ่านกองทุน Master Fund

ซึ่งกองทุนส่วนใหญ่ในประเทศไทย เลือกลงทุนใน


     1.SPDR Gold Trust

ซึ่งเป็นกองทุนทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งกองทุนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเลือกลงทุนในกองทุนดังกล่าว ซึ่งSPDR Gold Trust มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำในตลาด และกองทุนได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยกองทุนในไทยได้มีการลงทุนในแต่ละตลาดที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เวลาการซื้อขาย การรับรู้ราคากองทุน ณ สิ้นวัน ใช้เวลาที่แตกต่างกันออกไป


     2.iShares Gold Trust

ซึ่งเป็นกองทุนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจาก SPDR Gold Trust โดยมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำในตลาด ได้รับความนิยมน้อย จากกองทุนทองคำในประเทศไทย 


ทั้งนี้แต่ละกองทุนที่ลงทุน Master Fund ต่างประเทศ มีนโยบายทั้งแบบป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้กองทุนทองคำยังมีประเภทจ่ายปันผล และไม่จ่ายปันผล รวมทั้งประเภทกองทุนลดหย่อนภาษีอย่างSSF RMF ให้เลือกเช่นกัน 


แม้ปัจจุบันราคาทองคำมีความผันผวน โดยในระยะสั้นคาดว่าราคาทองคำจะยังอยู่ในระดับสูงหากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ แต่หากเริ่มมีสัญญาณด้านบวกเกี่ยวกับการเจรจา หรือหาข้อยุติร่วมกันได้ อาจทำให้เกิดแรงเทขายทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง ขณะที่ระยะกลางมีแนวโน้มที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะดำเนินนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ 


สำหรับนักลงทุนที่มีทองคำ แนะนำถือทองคำไม่เกิน 5-10% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อใช้สำหรับป้องกันเงินเฟ้อ และกระจายความเสี่ยงในสภาวะที่ตลาดการลงทุนในปัจจุบันมีความผันผวน ไม่แนะนำถือเป็นสัดส่วนหลัก หากมีเกินกว่า 5-10% ของพอร์ต แนะนำขายทำกำไร เพื่อลดพอร์ตการลงทุน 


สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีทองคำ ไม่แนะนำลงทุนทองคำเป็นสัดส่วนหลักของพอร์ต หรือเก็งกำไรระยะสั้น หากต้องถือทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงแนะนำลงทุนไม่เกิน 5-10% ของพอร์ตการลงทุน


แนะนำ กองทุน K-GOLD-A(D) กองทุนรวมที่ลงทุนทองคำผ่าน กองทุน SPDR Gold Trust (USD) โดยเน้นลงทุนทองคำแท่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับราคาทองคำโลก นอกจากนี้กองทุน K-GOLD-A(D) ยังมีนโยบายการจัดปันผลอีกด้วย


ขอขอบคุณข้อมูล : KAsset, SET, AURORA, The Momentum



บทความโดย K WEALTH TRAINER มนัสวี เด็ดอนันต์กุล AFPT™
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

​กองทุนเปิดเค โกลด์-A ชนิดจ่ายเงินปันผล (K-GOLD-A(D))​

ดูเพิ่มเติม