K WEALTH / บทความ / Wealth Management / ค่าแรงขึ้น ข่าวดี หรือ ข่าวร้าย ของใครบ้าง
01 สิงหาคม 2565
4 นาที

ค่าแรงขึ้น ข่าวดี หรือ ข่าวร้าย ของใครบ้าง


​“

• สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน มีความคล้ายกับวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต ซึ่งสามารถนำมาเปรียบเทียบและประเมินผลกระทบทั้งเชิงบวก และเชิงลบได้


• การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่เพียงแต่เพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับคนทั่วไป แต่ยังสร้างประโยชน์ให้กับบางธุรกิจ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมด้วย ในทางกลับกันก็มีผลกระทบเชิงลบที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง



สถานการณ์สินค้าราคาแพง ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อค่าครองชีพให้ปรับตัวสูงขึ้นตาม สิ่งที่ตามมาคือกระแสการเรียกร้องการปรับขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหากเกิดการปรับขึ้นจริง ก็จะส่งผลให้ค่าแรงของวุฒิการศึกษาอื่นๆ ปรับตัวขึ้นด้วย โดยล่าสุดทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศปรับค่าจ้างกลุ่ม 16 อาชีพ 3 กลุ่มแรงงาน โดยมีผลบังคับในช่วงเดือนกันยายนปีนี้


1. กลุ่มสาขาอาชีพช่างก่อสร้าง 5 สาขา

     • ช่างติดตั้งยิปซัมระดับ 1 อัตรา 450 บาท/วัน และระดับ 2 อัตรา 565 บาท/วัน 

     • ช่างเขียนแบบก่อสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ 645 บาท/วัน 

     • ช่างปูกระเบื้องผนังและพื้น ระดับ 1 อัตรา 450 บาท/วัน ระดับ 2 อัตรา 550 บาท/วัน และระดับ 3 อัตรา 650 บาท/วัน 

     • ช่างสีอาคาร ระดับ 1 อัตรา 465 บาท/วัน และระดับ 2 อัตรา 600 บาท/วัน 

     • ช่างก่อและติดตั้งคอนกรีตมวลเบา ระดับ 1 อัตรา 475 บาท/วัน และระดับ 2 อัตรา 575 บาท/วัน


2. กลุ่มอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ 4 สาขา

     • ช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) ระดับ 1 อัตรา 450 บาท/วัน ระดับ 2 อัตรา 550 บาท/วัน และระดับ 3 อัตรา 650 บาท/วัน 

     • ช่างประกอบติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ระดับ 1 อัตรา 430 บาท/วัน และระดับ 2 อัตรา 550 บาท/วัน

     • ช่างฝีมือเครื่องประดับแนวอนุรักษ์ (เทคนิคโบราณ) 525 บาท/วัน 

     • ช่างเครื่องถม 625 บาท/วัน


​3. กลุ่มอาชีพภาคบริการ 7 สาขา

     • นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (หัตถบำบัด) ระดับ 1 อัตรา 460 บาท/วัน และระดับ 2 อัตรา 575 บาท/วัน 

     • ผู้ประกอบขนมอบ ระดับ 1 อัตรา 400 บาท/วัน และระดับ 2 อัตรา 505 บาท/วัน 

     • พนักงานต้อนรับส่วนหน้า ระดับ 1 อัตรา 440 บาท/วัน และระดับ 2 อัตรา 565 บาท/วัน 

     • พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร 440 บาท/วัน 

     • ช่างแต่งผมสตรี ระดับ 1 อัตรา 440 บาท/วัน และระดับ 2 อัตรา 650 บาท/วัน 

     • ช่างแต่งผมบุรุษ ระดับ 1 อัตรา 430 บาท/วัน และระดับ 2 อัตรา 630 บาท/วัน 

     • การดูแลผู้สูงอายุ 500 บาท/วัน แต่ละอาชีพมีการกำหนดระดับของมาตรฐานอาชีพ ที่แบ่งตามความสามารถ และความชำนาญในการปฏิบัติงาน โดยระดับ 1 เป็นมาตรฐานระดับกึ่งฝีมือ ระดับ 2 เป็นมาตรฐานระดับฝีมือ และระดับ 3 เป็นมาตรฐานระดับเทคนิค ซึ่งมีฝีมือระดับสูง



ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กระทบคนทั่วไปอย่างไร?


กระทบค่าแรงวุฒิการศึกษาอื่นๆ

โดยเบื้องต้นการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ยังไม่ใช่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบถ้วนหน้า แต่นักวิเคราะห์เริ่มประมาณการกันแล้วว่าภายในปีนี้น่ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง การปรับฐานเงินเดือนของวุฒิการศึกษา เช่น ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็จำเป็นต้องมีการปรับฐานค่าแรงขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะหากไม่ปรับขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำ จะเกิดความเหลื่อมล้ำของค่าแรงระหว่างวุฒิการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น ยิ่งปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาก วุฒิการศึกษาอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะปรับขึ้นมากด้วยเช่นกัน


สินค้าราคาแพงขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตาม ผู้ประกอบการก็มักเลือกวิธีการผลักภาระต้นทุนค่าแรงบางส่วน หรือทั้งหมดให้กับผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคาสินค้าบริการ สิ่งที่ตามมาคือค่าครองชีพก็สูงขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า สุดท้ายก็ต้องมาดูว่าค่าแรงที่ขึ้นนั้น เพียงพอกับค่าสินค้าและบริการที่แพงขึ้นมาหรือเปล่า


เสี่ยงตกงาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเร่งรีบ ตัวเลขค่าจ้างก้าวกระโดดเกินไป อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME ธุรกิจขนาดย่อมบางส่วนปรับตัวไม่ทัน ไม่สามารถจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดได้ ก็อาจเกิดการลดจำนวนพนักงานลง ยิ่งภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เริ่มมีนักวิเคราะห์มองว่ามีแนวโน้มเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว การขึ้นค่าแรงถือเป็นปัจจัยซ้ำเติมธุรกิจที่กำไรน้อยอยู่แล้ว แต่มีต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น หากธุรกิจแบกรับต้นทุนไม่ไหว ทางเลือกหนึ่งของการลดต้นทุนคงที่ ก็คือการลดจำนวนพนักงาน ส่งผลให้คนบางส่วนตกงานในขณะที่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับอยู่



ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กระทบธุรกิจอย่างไร


วิกฤตเงินเฟ้อสหรัฐฯ ช่วงปี 1970 แทบไม่ต่างจากวิกฤตเงินเฟ้อในปัจจุบัน

ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยนั้นใช้มาตรการนโยบายการเงิน ผสานกับนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เติบโต ประกอบกับโลกกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมัน ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 11% ข้าวของราคาแพง แรงงานก็เรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้าง ตามค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อ โดยเมื่อปรับค่าแรงแล้ว ก็ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น และลูกจ้างก็เรียกร้องขึ้นค่าจ้างวนเวียนแบบนี้ไม่จบสิ้น

กลุ่มธุรกิจที่เสียประโยชน์จากการขึ้นค่าแรง

ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเป็นธุรกิจที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่ต้องใช้คนผลิตสินค้า เพราะยิ่งต้องใช้แรงงานมาก ต้นทุนโดยรวมก็จะสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ก็ต้องติดตามว่าบริษัทเหล่านี้จะควบคุมต้นทุนรวมได้มากน้อยแค่ไหน หรือแม้กระทั่งธุรกิจ SME ที่มีสัดส่วนสร้างรายได้ให้กับ GDP ไทย 35% สร้างการจ้างงาน 12.6 ล้านคน คิดเป็น 70% ของการจ้างงานทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ SME ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 แต่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น รวมถึงความน่าลงทุนของไทยในมุมมองชาวต่างชาติ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า หากเกิดการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมในอนาคตไม่มากก็น้อย


กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าแรง

เช่น ธุรกิจค้าปลีก ที่ได้รับประโยชน์ เพราะเมื่อขึ้นค่าแรงแล้ว เงินในกระเป๋าและกำลังซื้อก็จะมีมากขึ้น ธุรกิจค้าปลีก ร้านค้าที่แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันจึงได้รับประโยชน์ด้วย โดยทาง บล.กสิกรไทย ประมาณการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำประมาณ 15% จากค่ากลาง 331 บาท จะขยับขึ้นเป็น 380 บาท ซึ่งกระทบเงินเฟ้อให้ปรับสูงขึ้นประมาณ 0.45% นอกจากนี้ การที่เงินเฟ้อไทยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ย หนุนกำไรสุทธิธนาคารเพิ่มขึ้น 6-8 %



ของแพง แต่ค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ขึ้น วางแผนอย่างไร?


แบ่งการใช้จ่ายเงินเป็น 3 ก้อน ก้อนแรก

คือค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ อาจตั้งไว้ประมาณ 50% ของรายได้ ถ้าอยากได้อะไรใหม่ต้องดูว่าส่วนนี้เกินหรือไม่ ก้อนที่สอง คือรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่ต้องมีใช้จนถึงสิ้นเดือน เช่นค่าอาหาร สังสรร ซื้อของส่วนตัว ท่องเที่ยว อาจตั้งไว้ประมาณ 30% ก้อนที่สาม เพื่อเก็บออมสำหรับใช้ยามฉุกเฉิน โดยควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน และเพื่อเป้าหมายทางการเงินต่างๆ อาจตั้งไว้ประมาณ 20% ของรายได้ ทั้งนี้สัดส่วนเงินทั้งสามก้อน สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเป็นจริงของแต่ละคน แต่เมื่อ ตั้งสัดส่วนแล้วก็ต้องมีวินัยในการใช้เงิน เพื่อให้เพียงพอตลอดทั้งเดือน


ค่าใช้จ่ายในบ้านเริ่มตึงตัว

อาจต้องเริ่มกลับมาดูรายรับ รายจ่ายของเรา พยายามตัดรายจ่ายบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไป โดยหากใช้จ่ายด้วยการโอน การสแกน QR Code ผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร ก็สามารถเข้าไปดูรายการรับ หรือจ่ายเงินในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละหมวด เพื่อใช้สำหรับวางแผนการใช้เงิน รวมถึงอาจมองหาโปรโมชันการใช้จ่ายเพิ่มเติม ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าบริการ เช่น โปรโมชันสะสมคะแนน Cash Back ส่วนลดต่างๆ จากบัตรเครดิต e-Wallet หรือมองหาช่วงโปรโมชันลดกระหน่ำราคาสินค้าบนแพลตฟอร์ม E-commerce ก็ช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายได้เหมือนกัน หรือหากใครวางแผนจะต่อเติมบ้าน ก็อาจต้องวางแผนเรื่องเวลาและงบประมาณให้ดี เพราะหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว วัสดุต่างๆ รวมถึงค่าแรงที่สูงขึ้นก็ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการต่อเติมบ้านให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบันได้


จัดลำดับการชำระหนี้

เพราะหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงทำให้เราต้องใช้เงินจ่ายเยอะ ดังนั้นควรจัดลำดับการชำระหนี้ โดยให้ความสำคัญกับหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง หากมีเงินชำระหนี้จำนวนจำกัด ควรเลือกชำระหนี้ที่ดอกเบี้ยไม่มากด้วยจำนวนเงินขั้นต่ำ ส่วนเงินที่เหลือนำไปชำระหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่า เพื่อลดภาระการจ่ายหนี้ นอกจากนี้การไม่ผิดนัดชำระหนี้ ก็จะทำให้ไม่โดนค่าปรับ ค่าธรรมเนียมต่างๆที่เพิ่มขึ้นมาเป็นภาระอีกด้วย


หาช่องทางเพิ่มรายได้

โดยอาจเริ่มต้นมองหาอาชีพเสริม จากการสำรวจความถนัด ทักษะความชอบ และประสบการณ์ของตัวเอง เช่น ชอบทำอาหารก็อาจลองขายอาหารในหมู่บ้าน หรือ Food Delivery หรือหากชอบทำคลิปลง TikTok Youtube ก็อาจทำคลิปรีวิวสินค้า เป็นต้น หรือหากใครมีทุนก็อาจลองศึกษาธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อสร้างรายได้อีกหนึ่งทางได้เช่นกัน


หากยังพอมีเงินเหลือ

แนะนำเอาเงินไปลงทุน เช่น หุ้นกู้คุณภาพดีเพื่อรับผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยแนะนำหุ้นกู้ที่ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในช่วงตั้งแต่ AAA ที่คุณภาพดีที่สุดและไม่ควรต่ำกว่า BBB- รวมถึงควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้บริษัทด้วยว่าเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไร และศึกษาข้อมูลบริษัทเพิ่มเติมว่ามีความมั่นคงเพียงพอในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันหรือไม่ หรืออีกทางเลือกที่น่าสนใจ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ ที่คาดหวังผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ถ้าหากนำผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำที่กล่าวมา มาหักลบกับเงินเฟ้อไทย เดือนมิ.ย.ที่ประกาศออกมา 7.66% เงินเฟ้อก็ยังกินเงินต้นอยู่ดี ดังนั้นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนสูงสู้กับเงินเฟ้อ ก็เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง แต่อาจรอให้สถานการณ์ความผันผวนของตลาดในปัจจุบันลดลงเสียก่อน แล้วจึงค่อยขยับขยายจากสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ไปสินทรัพย์เสี่ยงปานกลางจนถึงสูง เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนสูงขึ้นในอนาคต

บทความโดย K WEALTH TRAINER มนัสวี เด็ดอนันต์กุล AFPT™
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ