K WEALTH / บทความ / Wealth Management / คำแนะนำมือใหม่ใจไม่แข็ง ในช่วงตลาดวูบหนัก
24 พฤษภาคม 2565
3 นาที

คำแนะนำมือใหม่ใจไม่แข็ง ในช่วงตลาดวูบหนัก


​​​“

• สถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันที่ไม่แน่นอน ทำให้พอร์ตติดลบ นักลงทุนมีความกังวลใจ และอาจลงทุนผิดพลาดได้เพราะใช้อารมณ์ความรู้สึกนำ


• ลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้ ลงทุนแบบ VA ในช่วงตลาดขาลง คำนึงถึงเป้าหมายปลายทางมากกว่ากำไรขาดทุนระหว่างทาง ทบทวนพอร์ตการลงทุนอย่างน้อยปีละครั้ง และปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนให้กลับมาเหมือนเดิม เป็นวิธีที่ช่วยให้เราอยู่กับพอร์ตได้อย่างใจนิ่ง



ด้วยสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันที่ไม่แน่นอน ทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อัตราเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้พอร์ตติดลบ นักลงทุนมีความกังวลใจ จับจังหวะซื้อขายไม่ถูก ไม่อยากลงทุนเพิ่ม หรือลงทุนโดยใช้อารมณ์ความรู้สึกนำ แล้วจะมีวิธีไหนบ้างที่ทำให้เราอยู่กับพอร์ตได้อย่างใจนิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ติดตามได้จากบทความนี้



4 วิธีอยู่กับพอร์ตให้ใจนิ่ง

นักลงทุนที่รู้สึกวิตกกังวลกับสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบัน บางคนเห็นพอร์ตแล้วถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ลองทำตามวิธีที่แนะนำเพื่อให้อยู่กับพอร์ตได้อย่างใจนิ่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งมี 4 วิธีด้วยกัน ดังนี้


1. รู้ระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ และลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยง

เริ่มจากการเช็กระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้จากแอปพลิเคชันลงทุนที่ใช้บริการอยู่เพื่อให้รู้ว่าเรารับความเสี่ยงได้ระดับไหน แล้วดูต่อว่าความเสี่ยงในระดับที่เรารับได้นั้นเหมาะกับพอร์ตลงทุนแบบใด ซึ่งตัวอย่างพอร์ตลงทุนแนะนำตามระดับความเสี่ยงเป็นดังนี้



ที่มา: หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย 


จะเห็นว่าในพอร์ตลงทุนแนะนำมีการกระจายการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ในสัดส่วนที่มากน้อยแตกต่างกันไปตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ หลังจากนั้นให้เปรียบเทียบพอร์ตลงทุนที่แอปพลิเคชันแนะนำว่าเหมาะกับความเสี่ยงของเรา กับพอร์ตลงทุนของตัวเองในปัจจุบันว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร เราลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น ในสัดส่วนที่เกินกว่าความเสี่ยงที่รับได้หรือไม่ หากพบว่ามีความแตกต่างกันก็ควรปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้ตามพอร์ตแนะนำ แต่หากพบว่าตอนนี้เราลงทุนได้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้ตามพอร์ตแนะนำแล้ว ลองมาดูวิธีต่อไป


2. ลงทุนแบบ VA ในช่วงตลาดขาลง ช่วยขจัดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกในการลงทุนได้

การลงทุนแบบ VA หรือ Value Averaging คือ การลงทุนแบบสม่ำเสมอเป็นงวดๆ คล้ายๆ กับการลงทุนแบบ DCA​ แต่จำนวนเงินลงทุนในแต่ละงวดจะไม่เท่ากัน เนื่องจาก VA เน้นทำให้มูลค่าพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแต่ละงวด ถือเป็นวิธีลงทุนที่เหมาะกับตลาดในช่วงขาลงและยังช่วยขจัดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกในการลงทุนอีกด้วย


วิธีลงทุนแบบ VA เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายไว้ก่อนว่า ต้องการให้มูลค่าพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้นงวดละเท่าไหร่ เช่น กำหนดให้มูลค่าพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้นเดือนละ 2,000 บาท เดือนแรกเริ่มต้นลงทุน 2,000 บาท พอถึงเดือนที่ 2 ต้องทำให้มูลค่าพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้น 2,000 บาท เป็น 4,000 บาท ดังนั้น ก่อนลงทุนในเดือนที่ 2 ต้องดูว่ามูลค่าพอร์ตลงทุนอยู่ที่เท่าไหร่ เช่น ถ้ามูลค่าพอร์ตลงทุนลดลงเหลือ 1,500 บาท ก็ต้องเพิ่มเงินลงทุนเข้าไป 2,500 บาท เพื่อให้มูลค่าพอร์ตลงทุนโตเป็น 4,000 บาทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในทางกลับกัน หากมูลค่าพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 บาท ก็ต้องเพิ่มเงินลงทุนเข้าไป 1,500 บาท เพื่อให้มูลค่าพอร์ตลงทุนโตเป็น 4,000 บาทอย่างที่ตั้งใจ ทั้งนี้ นักลงทุนยังสามารถขายสินทรัพย์ลงทุนออกมาเมื่อมูลค่าพอร์ตลงทุนโตกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น ก่อนลงทุนในเดือนที่ 2 พบว่ามูลค่าพอร์ตลงทุนโตเป็น 4,500 บาท ซึ่งโตกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 500 บาท ก็ต้องขายสินทรัพย์ลงทุนออกมา 500 บาท เพื่อให้มูลค่าพอร์ตลงทุนกลับมาอยู่ที่ 4,000 บาทตามที่ตั้งใจ


การลงทุนแบบ VA มีข้อดีคือ 

     - มีความยืดหยุ่น สามารถเพิ่มหรือลดเงินลงทุนในแต่ละงวดได้ และสามารถขายสินทรัพย์ออกมาเพื่อทำกำไรได้ 

     - ช่วยจับจังหวะการลงทุนไปในตัว เพราะเมื่อราคาสินทรัพย์ลง ก็จะซื้อมากขึ้น และเมื่อราคาสินทรัพย์ขึ้น ก็จะซื้อน้อยลง 


ส่วนข้อจำกัดคือ 

     - มีความยุ่งยาก เนื่องจากต้องคอยติดตามมูลค่าพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอก่อนจัดสรรเงินลงทุนเข้าไปในแต่ละงวด 

     - ต้องเตรียมเงินไว้ลงทุนเพิ่มในจำนวนที่ไม่แน่นอน เพื่อให้มูลค่าพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย


3. คำนึงถึงเป้าหมายปลายทางมากกว่ากำไรขาดทุนระหว่างทาง

เชื่อว่านักลงทุนหลายคนให้ความสำคัญหรือจดจ่ออยู่กับกำไรขาดทุนระว่างทางมากกว่าเป้าหมายปลายทางที่วางไว้ โดยอาจลืมไปว่าพอร์ตลงทุนของเราพอร์ตนี้ลงทุนเพื่อเป้าหมายอะไรในอนาคต


เช่น พอร์ตนี้ลงทุนเพื่อเป้าหมายเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือนักลงทุนบางคนอาจตั้งเป้าหมายเป็น %กำไรของพอร์ตลงทุน ก็ควรสนใจว่าในภาพรวมแล้วกำไรของพอร์ตเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ โดยไม่ต้องสนใจถึงผลกำไรขาดทุนของสินทรัพย์รายตัวหรือรายกองทุน ดังนั้น การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงเวลาสั้นๆ มักมีความผันผวนเกิดขึ้นได้ แต่หากเราลงทุนได้ยาว ความผันผวนจะลดลงไป และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น


ซึ่งจากข้อมูลดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET TRI) ย้อนหลัง 5 ปี ณ วันที่ 26 เมษายน 2565 อยู่ที่ 4.39% แม้ว่าระหว่างทางจะมีความผันผวนอยู่บ้าง เช่น ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ในไทยและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้ดัชนี SET ร่วงลงมาอยู่ที่ 1,024.46 จุด แต่หลังจากนั้นดัชนี SET ก็ค่อยๆ ปรับตัวขึ้น โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน ก็สามารถกลับมายืนเหนือ 1,200 จุดได้


จะเห็นว่าช่วงวิกฤตเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น หากเรารับความเสี่ยงหรือความผัวผวนได้ และลงทุนได้นาน 5 ปีขึ้นไป ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว


ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 


สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ อย่างหุ้นจีน หุ้นอเมริกาอยู่ แล้วพอร์ตติดลบ ก็ยังสามารถทยอยลงทุนในหุ้นต่างประเทศเพิ่มได้ โดยเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เช่น หุ้นเวียดนาม และเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่นด้วย


4. ทบทวนพอร์ตการลงทุนอย่างน้อยปีละครั้ง และปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนให้กลับมาเหมือนเดิม

นักลงทุนบางคนลงทุนไปแล้วเข้ามาดูพอร์ตลงทุนทุกวัน พอดูแล้วก็รู้สึกเครียด เกิดความไม่สบายใจ และอาจตัดสินใจลงทุนผิดพลาดหลังจากนั้น จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเข้ามาดูพอร์ตทุกวัน แนะนำให้ทบทวนพอร์ตลงทุนอย่างน้อยปีละครั้ง หรือใครพอมีเวลาจะทบทวนพอร์ตทุกๆ 6 เดือนก็ไม่ว่ากัน เมื่อทบทวนแล้วเห็นว่าพอร์ตลงทุนผิดเพี้ยนไปจากเดิมก็ให้ปรับสัดส่วนพอร์ตลงทุนให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมซึ่งตรงกับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ โดยการขายสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนเกินออกไป และซื้อสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนขาดเพิ่มเติมเข้ามา


ซึ่งการปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนมีข้อดีคือ


     - ในปีที่เศรษฐกิจดี สินทรัพย์เสี่ยงมีกำไร ก็สามารถขายทำกำไรออกมา ซึ่งกำไรที่ได้นี้ใครจะนำไปใช้จ่ายหรือนำกลับเข้าไปลงทุนใหม่ในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำก็สามารถทำได้เช่นกัน - ในปีที่เศรษฐกิจไม่ดี ก็ให้ขายสินทรัพย์เสี่ยงต่ำซึ่งราคาปรับลดลงน้อยกว่า แล้วไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่ม เหมือนเราได้ของถูก ต้นทุนต่ำ และมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แถมยังช่วยขจัดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกในการลงทุนได้ ทำให้เราลงทุนอย่างมีวินัย เพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจ 


     - ในปีที่เศรษฐกิจไม่ดี ก็ให้ขายสินทรัพย์เสี่ยงต่ำซึ่งราคาปรับลดลงน้อยกว่า แล้วไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่ม เหมือนเราได้ของถูก ต้นทุนต่ำ และมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แถมยังช่วยขจัดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกในการลงทุนได้ ทำให้เราลงทุนอย่างมีวินัย เพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจ 


ในสภาวะที่ตลาดผันผวน เราคาดการณ์ผลตอบแทนให้เป็นบวกได้ยาก อย่างน้อยการทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตในภาพรวมเป็นบวกได้ด้วยการลงทุนเพิ่ม หรือหรือปรับสัดส่วนการลงทุนอย่างมีวินัย ให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้ ระยะเวลาลงทุนและเป้าหมาย ก็จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้อย่างที่ตั้งใจ และอยู่กับพอร์ตได้อย่างใจนิ่งมากยิ่งขึ้น 


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย​






บทความโดย K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!