K WEALTH / บทความ / Wealth Management / ยุคนี้ทำประกันให้ลูก พ่อแม่ต้องคิดถึงอะไร
30 มิถุนายน 2565
3 นาที

ยุคนี้ทำประกันให้ลูก พ่อแม่ต้องคิดถึงอะไร


​​​​​​“

• การทำประกันชีวิตและสุขภาพให้ลูกหรือเด็กเล็กเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเด็กมีโอกาสเจ็บป่วยสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 0-3 ปี แรก หรือก่อนเข้าโรงเรียน โดยโรคที่มักพบในเด็ก เช่น RSV มือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่ ท้องเสีย


• ค่ารักษาโรคยอดฮิตในเด็กค่อนข้างสูง การมีประกันไว้ช่วยรองรับค่าใช้จ่ายถือเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น ควรทำประกันให้ลูกก่อนเข้าโรงเรียน หากพ่อแม่มีสวัสดิการจากที่ทำงานก็สามารถเลือกประกันชีวิตและสุขภาพแบบจ่ายส่วนต่าง หรือ หากพ่อแม่ไม่มีสวัสดิการจากที่ทำงาน แนะนำเป็นแบบเหมาจ่าย



ปัจจุบันประกันสำหรับลูกหรือสำหรับเด็กนั้นมีให้เลือกเยอะแยะมากมาย ทำให้คนเป็นพ่อแม่ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดบนความต้องการในด้านต่างๆ คำถามที่ใครหลายคนมักถามคือ แล้วจะทำประกันให้ลูกตอนไหนดี ทำตั้งแต่แรกเกิด หรือ รอโตอีกหน่อย เพราะค่าเบี้ยประกันของเด็กเล็กจะสูงกว่าเด็กโต (สวนทางกับของผู้ใหญ่ที่ยิ่งอายุเยอะ ค่าเบี้ยยิ่งสูง) สาเหตุที่ค่าเบี้ยของเด็กเล็กค่อนข้างสูงเพราะระบบร่างกายยังไม่สมบูรณ์ทำให้มีโอกาสเจ็บป่วย เด็กเล็กมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ยอดเคลมประกันเด็กเล็กสูงกว่าเด็กโต ฯลฯ ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับทำประกันให้ลูกคือ สามารถทำได้ตั้งแต่แรกเกิด เพราะเด็กเล็กป่วยง่ายถึงแม้จะอยู่ในการดูแลของพ่อแม่ แต่จุดที่ต้องทำทันทีคือเมื่อเข้า รร. อนุบาลเป็นต้นไป เพราะพอเข้าโรงเรียนแล้วนั้นยากที่จะควบคุมไม่ให้เจ็บป่วยนั่นเอง แล้วในวัยเด็กมีโอกาสเจ็บป่วยเป็นโรคอะไรได้บ้าง ค่าใช้จ่าย ค่ารักษามากน้อยแค่ไหนมาดูกัน



โรคยอดฮิตในเด็ก

ในความเป็นจริงเราไม่สามารถดูแลลูกได้ตลอด 24 ชม. เด็กจะชอบเอามือเข้าปาก ชอบหยิบจับสิ่งของทุกอย่างมากิน พฤติกรรมนี้เสี่ยงที่จะนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว อีกทั้งยังมีพวกของเล่นต่างๆ ดินน้ำมัน แป้งโดว์ ฯลฯ ที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ซึ่งโรคยอดฮิตในเด็กเล็กวัย 0-3 ปี ส่วนใหญ่คือ แพ้อาหาร ติดเชื้อทางเดินอาหาร RSV ลำไส้อักเสบ ส่าไข้ มือเท้าปาก อีสุกอีใส ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ยิ่งวัยที่เริ่มไปโรงเรียนทำให้ต้องอยู่ใกล้ชิดและทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ถ้ามีเด็กในห้องคนหนึ่งป่วยก็มักจะติดต่อไปยังเพื่อนร่วมห้อง หากเจ็บป่วยขึ้นมาจะมีค่ารักษาประมาณเท่าไหร่ ลองมาดูตารางสรุปค่ารักษาในแต่ละโรค ดังนี้


​โรคยอดฮิตในเด็ก
​ประมาณการค่ารักษา (บาท/คน)
​อุจจาระร่วง (จากเชื้อไวรัสโรต้า หรือ โนโรไวรัส)
​10,000 – 50,000 บาท
​ไข้หวัดใหญ่
​25,000 – 85,000 บาท​
​มือเท้าปาก
​30,000 – 120,000 บาท
​ไข้เลือดออก
​45,000 – 100,000 บาท
​ติดเชื้อจากไวรัส RSV
​50,000 – 150,000 บาท​

หมายเหตุ : ประมาณการค่ารักษาจากโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ


จากตารางจะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละโรคนั้นค่อนข้างสูง เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของคนใกล้ตัวผู้เขียน ที่ลูกนอนรักษาที่โรงพยาบาล 5 วัน 4 คืน สาเหตุเกิดจากติดเชื้อไวรัส RSV เฉพาะค่าห้องรวมกัน 4 คืนอยู่ที่ 20,000 บาท (5,000 บาท x 4 คืน) (อัปเดทค่าห้องเดี่ยวมาตรฐาน ปี 2565 : https://www.muangthai.co.th/en/article/update-hosipital-room-rate-2022) ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าอุปกรณ์พิเศษ หรือหากมีอาการแทรกซ้อนก็จะได้รับการรักษาตามอาการซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายตามมาอีก เช่น ค่ายาพ่นเพื่อขยายหลอดลมประมาณ 20,000-30,000 บาท เฉลี่ยค่ารักษาเคสนี้อยู่ที่ 50,000 – 70,000 บาท ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและระยะเวลาที่เข้ารับการรักษา ถ้ามีกำลังที่จะสามารถจ่ายได้ก็นับเป็นเรื่องที่ดี และจะดีที่สุดถ้าลูกไม่ป่วยเลย แต่เด็กเล็กมีโอกาสเจ็บป่วยสูง ต่อให้ดูแลดีก็ยังมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้ หากลูกเจ็บป่วยก็อยากให้ลูกได้รับการรักษาอย่างเต็มที่และทันท่วงที ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะสูงตามมา ดังนั้น สิ่งที่อยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่คือควรมีตัวช่วยเพื่อมารองรับค่าใช้จ่ายนี้ ดีกว่าต้องควักเงินในกระเป๋าตัวเอง ในปัจจุบันเบี้ยประกันสุขภาพเด็กอายุ 0-5 ปี เริ่มต้นอยู่ที่ 20,000 – 70,000 บาท ขึ้นอยู่กับแบบประกันและความคุ้มครอง แล้วจะเลือกประกันสุขภาพแบบไหนให้ลูกดี ไปดูกัน



เลือกประกันสุขภาพให้ลูกแบบไหนดี

ประกันสุขภาพมีหลายรูปแบบที่ตอบโจทย์ตามกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งหากจะทำประกันสุขภาพให้ลูก พ่อแม่ควรเลือกดังนี้


1) เลือกแบบเหมาจ่ายหรือแยกค่าใช้จ่าย


     1.1) ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย: 

มีข้อดีคือ จ่ายค่ารักษาตามจริง รายการส่วนใหญ่ไม่จำกัดวงเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าห้อง ค่ายา ค่ารักษา ค่าพยาบาล ฯลฯ ให้วงเงินสูง เหมาจ่ายไม่แยกย่อยเก็บตามหมวด ค่าเบี้ยสำหรับเด็กอายุ 0-3 ขวบ เริ่มต้นที่ 30,000 – 50,000 บาท และสูงสุด 70,000 – 100,000 บาท (ขึ้นอยู่กับความคุ้มครอง)


     ​1.2) ประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย: 

มีข้อดีคือ ค่าเบี้ยถูกกว่าแบบเหมาจ่าย สำหรับเด็กอายุ 0-3 ขวบ เริ่มต้นที่ 20,000 บาท ส่วนใหญ่ไม่มีกำหนดวงเงินสูงสุดในการรักษาต่อปี แต่จะกำหนดวงเงินการรักษาต่อครั้ง เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) ไม่เกิน xx/ครั้ง/โรค หรือ ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาลไม่เกิน xx/วัน เป็นต้น


2) เช็กสวัสดิการของที่ทำงาน


     2.1) พ่อแม่มีสวัสดิการจากที่ทำงาน : 

หากมีสวัสดิการจากที่ทำงานที่ครอบคลุมถึงลูก ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการทำประกัน ให้ลูกได้ส่วนหนึ่ง เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันเต็มราคา โดยสามารถเลือกทำประกันเฉพาะส่วนที่เกินจากสวัสดิการได้ ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลากหลายกรมธรรม์ที่สามารถเลือกทำเฉพาะส่วนต่างจากสวัสดิการ 


     2.2) พ่อแม่ไม่มีสวัสดิการจากที่ทำงาน : 

หากพ่อแม่ไม่มีสวัสดิการจากที่ทำงาน ควรเลือกทำประกันให้ลูกแบบเหมาจ่าย ซึ่งจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษา ไม่ว่าจะเจ็บป่วยเล็กน้อยหรือป่วยหนัก ซึ่งแบบเหมาจ่ายค่าเบี้ยจะสูงกว่าแบบแยกค่าใช้จ่าย


นอกเหนือจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้พ่อแม่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจว่าจะเลือกทำประกันสุขภาพให้ลูกแบบไหนดี ก็คือค่าเบี้ยและความคุ้มครองที่จะได้รับ แนะนำว่าควรเลือกเบี้ยประกันสุขภาพให้สอดคล้องและเหมาะสมกับทุนทรัพย์ที่มีอยู่ ให้นึกภาพตามว่าจะสามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ไหวเท่าไหร่ โดยที่ไม่รู้สึกลำบากในระยะยาว เช่น เบี้ยประกันสุขภาพของลูกปีละ 30,000 บาท ต้องจ่ายไปเรื่อยๆ 6 ปี (หลัง 6 ปี เบี้ยประกันสุขภาพเด็กจะถูกลง) ทำให้ต้องกันเงินไว้สำหรับค่าเบี้ยประกันสุขภาพลูกเริ่มต้นที่ 180,000 บาท อีกทั้งเบี้ยประกันจะสอดคล้องกับทุนประกัน หากเลือกทุนประกันสูง เบี้ยก็จะสูงตามไปด้วย หากไม่อยากจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันเป็นรายปีแบบก้อนเดียวทีเดียวก็สามารถเลือกเป็นแบบผ่อนชำระรายเดือนหรือจ่ายเป็นงวดได้ แต่ค่าเบี้ยโดยรวมจะสูงกว่าแบบรายปี (อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกัน)


นอกจากประกันสุขภาพแล้ว พ่อแม่สามารถทำประกันให้ลูกได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ เช่น หากต้องการให้ลูกได้รับเงินก้อนหรือเป็นของขวัญตอนเรียนจบ สามารถทำประกันชีวิต​ในรูปแบบสะสมทรัพย์ได้ หรือ หากต้องการเตรียมมรดกให้ลูกหลานเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตไม่ลำบากหากพ่อแม่จากไป ก็สามารถทำประกันชีวิตในรูปแบบตลอดชีพได้เช่นกัน โดยระบุชื่อลูกเป็นผู้รับประโยชน์ และต้องไม่ลืมศึกษา ทำความเข้าใจแบบประกันต่างๆ อย่างละเอียด เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบประกันจากหลายบริษัทประกัน เพื่อจะได้ตัดสินใจและเลือกได้ตรงตามความต้องการ


หมายเหตุ 

1) โรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก -----> https://fliphtml5.com/bookcase/bpavv​ 

2) 10 ประกันเด็กที่น่าสนใจในปี 2022 -----> https://my-best.in.th/49681 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค, เมืองไทยประกันชีวิต, คปภ. ​

บทความโดย K WEALTH TRAINER พธพร รัตนสิโรจน์กุล
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ความคุ้มครองที่เหนือระดับกับยุคที่โรคกลายพันธุ์ไม่มีหยุด
เปรียบเทียบประกันเหมาจ่าย ดีจริง คุ้มจริง ต้องอันไหน
ใช้ Unit-Linked เพื่อลูกอย่างไร ให้คุ้มสุด

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ