K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน : ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยแรง ฉุดหุ้นทั่วโลกร่วงหนัก
20 มิถุนายน 2565
2 นาที

ประเด็นร้อน : ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยแรง ฉุดหุ้นทั่วโลกร่วงหนัก


​​​​​​“

16 มิ.ย. 65 ดัชนีตลาดหุ้นหลักของสหรัฐฯ รวมถึงตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง โดยดัชนี Nasdaq -4.08% S&P500 -3.25% Dow Jones -2.42% หลังจากที่บวกมาได้ 1 วัน และดัชนีหุ้นไทย SET Index -2.04%เทียบกับวันก่อนหน้า เช่นกัน



ล่าสุดวันที่ 17 มิ.ย. Dow Jones และ SET Index ยังคงปรับตัวลงต่ออีกเล็กน้อย -0.15% และ -0.11% ส่วน S&P500 และ Nasdaq มีการปรับตัวขึ้นมา +0.22% และ +1.43% เทียบกับวันที่ 16 มิ.ย. ตามลำดับ (S&P500 และ Nasdaq ติดลบ -2.71% และ -3.04% เทียบกับวันที่ 15 มิ.ย. ตามลำดับ)



กองทุนที่ได้รับกระทบ

ราคากองทุน ณ 16 มิ.ย. 65 (ประกาศคืน 17 มิ.ย.) ที่ปรับตัวลงแรง เช่น K-ASIAX -3.06%, K-USA -3.04%, K-US500X -3.39%, K-USXNDQ -4.18%เทียบกับวันก่อนหน้า

ราคากองทุนหลักของ K-CLIMATE ณ 16 มิ.ย. 65 มีการปรับตัวลง -3.01% ส่วนราคากองทุนหลักของ K-CHANGE ณ 17 มิ.ย. 65 มีการปรับตัวลง -2.56%เทียบกับวันก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าราคากองทุน K-CLIMATE และ K-CHANGE ที่กำลังจะประกาศ ก็อาจปรับตัวลงใกล้เคียงกับกองทุนหลักเช่นกัน



สาเหตุดัชนีปรับตัวลง

แม้ 15 มิ.ย. 65 ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปิดบวกตอบรับผลประชุม FED​ ที่ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 ตามที่นักลงทุนได้คาดไว้ แต่การขึ้นดอกเบี้ยของ FED ก็ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก


เช่น ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อเหมือนสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน


ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยในสภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางขณะนี้ อาจฉุดให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้


ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ เกิดภาวะเส้นผลตอบแทนกลับหัว (Inverted Yield Curve) ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (โดยปกติผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวควรสูงกว่า) ซึ่งภาวะดังกล่าวมักเป็นสัญญาณตัวหนึ่งที่บ่งชี้ถึงโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้นได้ในอนาคต



มุมมองการลงทุน

บล.กสิกรไทย มองว่า ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่สูงจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และสหรัฐอาจเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย อีกทั้ง US Real yields (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ขยับขึ้นมาทำจุดสูงสุดในรอบราว 2 ปี จากก่อนหน้าติดลบมากกว่า 1 % มา 3 ปีนับตั้งแต่ช่วง COVID-19 ซึ่งจากสถิติในอดีตพบว่าหาก Real yields เป็นบวกและขึ้นแรงๆ ตลาดหุ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ มักปรับตัวลง


สำหรับตลาดหุ้นไทย (SET Index) ที่ผ่านมานับตั้งแต่ต้นปี เป็นตลาดหุ้นที่มีผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหุ้นประเทศอื่น (ติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น) เนื่องจากกำไรบริษัทจดทะเบียนของไทย ซึ่งมีกลุ่มพลังงานที่กำไรคิดเป็นสัดส่วนราว 31%ของกำไรทั้งหมด ได้ประโยชน์จากราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ถ่านหิน แก็สธรรมชาติ ฯลฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น


แต่จากราคาน้ำมันดิบที่ไม่ทำจุดสูงสุดใหม่และมีแนวโน้มลดลง, การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น, ต้นทุนของบริษัทจดทะเบียนในช่วง ไตรมาส 2 ปี 65 ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน, ทิศทางดอกเบี้ยไทยที่น่าจะปรับขึ้นช่วง ไตรมาส 3 ปี 65 และค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่มีโอกาสสูงขึ้น


ทำให้ บล.กสิกรไทย อาจต้องประเมินระดับดัชนีเป้าหมายใหม่อีกครั้ง (Downside ดัชนีเป้าหมาย)



ปัจจัยที่ยังต้องติดตาม

1. ธนาคารกลางสามารถควบคุมเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจชะลอตัวแบบ Soft landing (ละมุนละม่อม) ได้หรือไม่

2. ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะลดความรุนแรงลงได้เมื่อไร ซึ่งตอนนี้ยังมองว่ายังรุนแรงอยู่

3. สถานการณ์ในจีน ที่เริ่มควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ และกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง

4. ราคาอาหารและปัญหาขาดแคลนอาหาร ที่จะกระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างมีนัยสำคัญ

5. ภาวะเส้นผลตอบแทนกลับหัว (Inverted Yield Curve) จะยังคงเกิดภาวะนี้ต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะสะท้อนสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น



คำแนะนำการลงทุน


สำหรับการลงทุนระยะสั้นหรือพักเงิน ในระหว่างที่ตลาดยังคงมีความผันผวน

• หากกังวลความผันผวนจากการลงทุนในช่วงนี้ แนะนำ K-CASH

• หากต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นระหว่างการพักเงิน แนะนำกองทุนตราสารหนี้ตามระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสม เช่น K-SF ที่เหมาะกับการลงทุน 1 เดือนขึ้นไป และ K-CBOND ที่เหมาะกับการลงทุน 6-9 เดือนขึ้นไป


สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นต่างๆ หรือการลงทุนระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไป​

• สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม แนะนำ K-GINCOME ซึ่งเป็นกองทุนผสมลงทุนทั่วโลก ลงทุนได้ในทุกสภาวะตลาด

• กองทุนหุ้นจีน (เช่น K-CHINA K-CHX K-CCTV ฯลฯ) ผู้ที่ถืออยู่และต้องการลงทุนเพิ่ม แนะนำทยอยลงทุนเพิ่มได้

• กองทุนหุ้นสหรัฐฯ (เช่น K-USA, K-USXNDQ ฯลฯ) กองทุนหุ้นญี่ปุ่น (เช่น K-JP, K-JPX ฯลฯ) กองทุนหุ้นไทย (เช่น K-STAR ฯลฯ) ผู้ที่ถืออยู่และต้องการลงทุนเพิ่ม แนะนำรอประเมินสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิดก่อน

• กองทุนหุ้นยุโรป (เช่น K-EUROPE-A(D), K-EUX ฯลฯ) ผู้ที่ถืออยู่แนะนำหาโอกาสขายคืนหรือทยอยลดสัดส่วนลง ผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม ไม่แนะนำลงทุน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, KSecurities, KBank Private Banking, THE STANDARD WEALTH


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



บทความโดย K WEALTH TRAINER
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นร้อน : เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งแรงสุดในรอบ 40 ปี กระทบสินทรัพย์เสี่ยง ร่วงทั่วโลก
หุ้นไทยเอาไงดี กับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น
คำแนะนำมือใหม่ใจไม่แข็ง ในช่วงตลาดวูบหนัก