หากพูดถึงการทำประกันชีวิต นอกจากผู้ทำประกันจะทำเพื่อตัวเองแล้วนั้นยังทำเพื่อคนข้างหลังด้วย ในทีนี้หมายถึงผู้รับประโยชน์ซึ่งจะมีการระบุไว้ในกรมธรรม์ หากเกิดเหตุไม่คาดคิดผู้รับประโยชน์ที่ได้ระบุชื่อไว้จะได้รับผลประโยชน์นั้นๆ ตามกรมธรรม์หลังจากยื่นเรื่องและเอกสารกับบริษัทประกัน แล้วเราสามารถเลือกผู้รับประโยชน์เป็นใครได้บ้างนั้น ไปดูกัน
ผู้รับประโยชน์เป็นใครได้บ้าง
มีหลายคนที่ยังไม่ทราบว่าสามารถเลือกผู้รับประโยชน์ได้ ไม่จำกัดเฉพาะ ครอบครัว ญาติพี่น้อง ฯลฯ โดยมีเงื่อนไข คือต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฏหมาย มีตัวตนจริงสามารถพิสูจน์ได้ ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับความสบายใจของผู้ทำประกัน (ในที่นี้หมายถึงผู้เอาประกันภัยที่เป็นคนจ่ายเบี้ยให้กับบริษัทประกันภัยจนครบสัญญา) และอาจจะต้องคำนึงถึงสิ่งที่ตามมาภายหลังอีก เช่น หากมอบให้ผู้ที่ไม่ใช่คนในครอบครัว จะเกิดความเข้าใจผิดกันหรือไม่ เป็นต้น ทีนี้เรามาดูกันว่าใครสามารถเป็นผู้รับประโยชน์ได้บ้าง
1. กลุ่มคู่รัก (สามีภรรยา คู่รักเพศเดียวกัน คู่หมั้น แฟน)
สามีภรรยาหรือคู่แต่งงานสามารถระบุเป็นผู้รับประโยชน์ได้ แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฏหมาย จะต้องแสดงเอกสารหรือทำหนังสือรับรองความสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำประกันและผู้รับประโยชน์ให้กับบริษัทประกัน คู่รักเพศเดียวกันก็สามารถระบุเป็นผู้รับประโยชน์ได้โดยจะต้องมีการแสดงหลักฐานเพิ่มเติม หรือมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น หนังสือหรือจดหมายรับรองความสัมพันธ์คู่ชีวิต หรือ ให้ทำประกันทั้งคู่แล้วยกผลประโยชน์ให้แก่กันและกัน ส่วนคนที่เป็นคู่หมั้นหรือแฟน ก็สามารถระบุเป็นผู้รับประโยชน์ได้เช่นกัน ทั้งนี้ควรเช็กกับบริษัทประกันอีกครั้ง หากบริษัทประกันยินยอมในส่วนนี้ก็สามารถทำได้
2. กลุ่มสมาชิกในครอบครัว (ตนเอง ญาติ บุตรบุญธรรม)
ผู้ทำประกันสามารถระบุตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ได้ ทั้งนี้ควรพิจารณาปัจจัยอื่นเพิ่มด้วย เช่น อายุ ณ วันที่ทำประกัน อายุของกรมธรรม์ วันสิ้นสุดของกรมธรรม์ อาชีพ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นที่อาจส่งผลต่อผู้ทำประกันภัย เป็นต้น เพื่อให้สามารถอยู่รับผลประโยชน์ตามที่ระบุ ส่วนลูกมีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดสามารถระบุเป็นผู้รับประโยชน์ได้โดยตรง บุตรบุญธรรม แม้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดก็สามารถระบุเป็นผู้รับประโยชน์ได้เช่นกัน โดยจะต้องมีการจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฏหมาย ส่วนญาติในที่นี้หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ฯลฯ มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ถือว่าเป็นผู้รับประโยชน์ลำดับรองจากคู่สมรสและบุตร
3. กลุ่มบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
หมายถึงบุคคลที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด แต่ถ้าผู้ทำประกันเสียชีวิตจะกระทบกับธุรกิจได้ ซึ่งความสัมพันธ์นี้ แบ่งออกเป็น
3.1 หุ้นส่วนทางธุรกิจ :
หากผู้ทำประกันเสียชีวิต ธุรกิจนั้นได้รับผลกระทบหรืออาจจะต้องปิดกิจการ จึงสามารถระบุหุ้นส่วน หรือบุคคลในธุรกิจเป็นผู้รับประโยชน์ได้ ทางกฏหมายเรียกว่าเป็นการเอาประกันชีวิตซึ่งกันและกัน
3.2 เจ้าหนี้กับลูกหนี้ :
หากลูกหนี้เสียชีวิต เจ้าหนี้ก็จะได้รับผลกระทบ ทายาทที่รับมรดกต้องเป็นคนรับผิดชอบ แต่ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ ดังนั้น เจ้าหนี้จึงสามารถเป็นผู้รับประโยชน์โดยการเอาประกันชีวิตลูกหนี้ได้ ในทางกลับกันหากเจ้าหนี้เสียชีวิตลูกหนี้จะไม่ได้มีส่วนได้เสียใดๆ ลูกหนี้จึงไม่สามารถเป็นผู้รับประโยชน์จากประกันชีวิตได้
3.3 นายจ้างกับลูกจ้าง :
หากนายจ้างเสียชีวิต ลูกจ้างอาจได้รับผลกระทบทางการเงินเนื่องจากไม่มีใครจ่ายเงินเดือน หรือธุรกิจนั้นต้องปิดตัวลง อีกกรณีคือหากลูกจ้างที่เป็นหัวใจสำคัญหรือผู้บริหารคนสำคัญเสียชีวิต นายจ้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกันเนื่องจากขาดคนมาทำงาน เรียกได้ว่ามีส่วนได้เสียกันที่จะเอาประกันภัยได้
4. กลุ่มองค์กรการกุศล สภากาชาด วัด
แม้องค์กรการกุศลจะไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย แต่ก็สามารถระบุชื่อผู้รับประโยชน์ได้ เพราะผู้ทำประกันบางคนอาจเป็นคนชอบทำบุญ ไม่มีญาติพี่น้อง หรือไม่ได้มีบุคคลที่อยากให้เป็นผู้รับผลประโยชน์ จึงมอบผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ให้กับวัด สภากาชาด หรือ องค์กรการกุศล เป็นต้น
แนวทางการจัดการผู้รับประโยชน์
1. การระบุจำนวนของผู้รับประโยชน์ :
การระบุจำนวนของผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิต สามารถทำได้ดังนี้
• ระบุผู้รับประโยชน์ 1 คน = ผู้รับประโยชน์จะได้รับผลประโยชน์เต็มสัดส่วน
• ระบุผู้รับประโยชน์ > 1 คน และมีการแบ่งสัดส่วน = ผู้รับประโยชน์จะได้รับผลประโยชน์ตามสัดส่วนที่กำหนด
• ระบุผู้รับประโยชน์ > 1 คน แต่ไม่ได้แบ่งสัดส่วน = ผู้รับประโยชน์จะได้รับผลประโยชน์ในจำนวนที่เท่ากัน
หากไม่มีการระบุผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการทำประกันจะตกเป็นของทายาทตามลำดับขั้นของ ผู้เสียชีวิต ซึ่งอาจจะมีทั้งบุคคลที่อยากมอบให้หรือไม่อยากมอบให้ก็เป็นไปได้ โดยบริษัทประกันจะเป็นคนจ่ายเงินผลประโยชน์ให้
2. การเปลี่ยนผู้รับประโยชน์ : ผู้ทำ
ผู้ทำประกันสามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ได้เสมอ เช่น เมื่อยังไม่ส่งมอบกรมธรรม์ให้ผู้รับประโยชน์ ผู้รับประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้ทำประกัน ฯลฯ ยกเว้นหากกรมธรรม์นั้นได้มีการมอบและถึงมือผู้รับแล้ว
เมื่อเราทราบแล้วว่าสามารถระบุผู้รับประโยชน์เป็นใครได้บ้าง ก็ควรคิดพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมักมีคนเข้าใจผิดคิดว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากเงินเอาประกันภัยนั้นจะตกอยู่กับทายาทเสมอ ในความเป็นจริงนั้นผลประโยชน์จะยึดตามที่กรมธรรม์ระบุไว้ บุคคลอื่นไม่สามารถแย้งได้ ดังนั้น การทำประกันแล้วระบุผู้รับประโยชน์จึงเปรียบเสมือนการทำพินัยกรรมฉบับหนึ่งที่ผลประโยชน์ตกไปยังผู้รับประโยชน์โดยตรง และการได้รับสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ ไม่ถือเป็นมรดก ซึ่งจะถูกส่งต่อไปยังผู้รับประโยชน์ได้ทันที สำหรับคนที่อยากจะมอบผลประโยชน์จากกรมธรรม์ให้ลูกหลาน หรือมองเป็นทุนการศึกษา สามารถใช้ประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ คนที่ได้รับก็นำไปใช้ตามความต้องการโดยไม่ต้องรอศาลสั่งหรือรอให้ทายาทจัดสรรมรดกให้เสร็จก่อน และไม่ต้องเสียภาษีมรดกอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)