K WEALTH / บทความ / Market Update / กลยุทธ์จัดพอร์ต ช่วงราคาทองคำ และน้ำมันพุ่งต่อเนื่อง
11 มีนาคม 2565
5 นาที

กลยุทธ์จัดพอร์ต ช่วงราคาทองคำ และน้ำมันพุ่งต่อเนื่อง


          

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“ ​

• ทองคำ และน้ำมัน ราคาพุ่งแรงในช่วงที่ผ่านมา สำหรับผู้ลงทุนอยู่ แน​ะนำให้ทยอยขายทำกำไรออก โดยทองคำ ควรถือไม่เกิน 5-10% ของพอร์ต เพื่อกระจายความเสี่ยง สำหรับผู้ที่ยังไม่มีการลงทุน ให้ติดตามการประชุม FED เรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในวันที่ 15-16 มี.ค. นี้ 

• ผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย แนะนำรอประเมินสถานการณ์หรือพักเงินในกองทุนความเสี่ยงต่ำ เช่น K-SFPLUS K-CBOND 

• ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ ผู้ที่ถือหุ้นยุโรป แนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน ผู้ที่ถือหุ้นสหรัฐ แนะนำให้ถือได้ และไม่แนะนำให้ลงทุนเพิ่ม หุ้นไทย แนะนำให้ลงทุนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล การเงิน และค้าปลีก หรือกองทุนรวมหุ้น K-STAR K-VALUE K-SET50 K-BANKING 

• ทางเลือกการลงทุนอย่างคริปโทฯ หรือ Non-Fungible Tokens (NFT) สำหรับผู้ที่ลงทุนอยู่แล้ว ไม่ควรมีสัดส่วนเกิน 5% ของพอร์ต ส่วนผู้ที่ไม่เคยลงทุน แนะนำให้ศึกษาข้อมูลคริปโทฯก่อนการลงทุน

​​“


          หลังจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในช่วงปลายเดือน ก.พ. 65 ทำให้ราคาทองคำทำจุดสูงสุดใหม่ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และทองคำไทย ทะลุ 30,000 บาทต่อทอง 1 บาท ในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ยังมีราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไปแตะ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีคำแนะนำจัดพอร์ตการลงทุนในยุคทอง น้ำมันแพงอย่างไรบ้าง

เกิดอะไรขึ้นกับสถานการณ์ทองคำ-น้ำมัน

          จากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้ราคาทองคำและน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดย 
ทองคำ : สาเหตุที่ปรับตัวขึ้นแรงในระยะสั้น เนื่องจากความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงมีทีท่ายืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะจบในลักษณะใด อย่างไรก็ดี หากเริ่มเห็นสัญญาณในด้านบวกที่ชัดเจน ก็อาจทำให้เกิดแรงเทขายทำกำไรที่รวดเร็วได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในระยะกลาง นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่มีความตึงตัวมากขึ้น และนำไปสู่ดอกเบี้ยขาขึ้น จะเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ 

น้ำมัน : สาเหตุที่ปรับตัวขึ้นแรง จนมาแตะระดับความผันผวน 2 เท่า จากค่าเฉลี่ย (+2 Standard Deviation) ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงมากจนอาจเกิดวิกฤตได้ มาจากการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯสนับสนุนเชิงจิตวิทยาให้ราคาน้ำมันดิบทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่การที่สหรัฐฯไม่ใช่ผู้นำเข้าหลัก (สหรัฐฯนำเข้าจากรัสเซียประมาณ 8% ของการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยรวม) ขณะที่ยุโรปและจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักจากรัสเซียยังไม่มีทีท่าการคว่ำบาตรการนำเข้า ประกอบกับหากเริ่มเห็นสัญญาณในเชิงบวกด้านการเจรจาสันติภาพ ก็อาจทำให้เกิดแรงเทขายทำกำไรที่รวดเร็วได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในระยะกลาง การเจรจาระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านจะนำไปสู่การเพิ่มอุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่าน และจะทำให้ตลาดกลับภาพจากภาวะอุปทานไม่เพียงพอ เป็นอุปทานส่วนเกินประมาณ 5 แสน - 1 ล้าน บาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะกดดันราคา และในที่สุดอุปสงค์และอุปทานจะปรับเข้าสู่จุดสมดุลได้ในระยะกลาง ​​​

ผลกระทบจากสินทรัพย์เสี่ยงถูกกดดัน นอกจากทองคำ น้ำมัน​​​​​

สินทรัพย์เสี่ยงถูกกดดันจากสถานการณ์รัสเซีย ยูเครน 
         จากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนทำให้ประเทศฝั่งตะวันตก ล้วนที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศฝั่งยุโรป สหรัฐฯ ยิ่งอยู่ในสถานการณ์ขัดแย้งแบบนี้ ยิ่งลากยาว ยิ่งเจ็บตัว โดยตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน เรียงลำดับจากการกระทบมากไป น้อย ตลาดหุ้นยุโรป สหรัฐฯ และตลาดหุ้นเกิดใหม่ (รวมไทย) เห็นได้จาก 4 ตัวชี้วัด เช่น 

          1) EURO Dollar Index โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เกิดจากผลกระทบจากเหล่าประเทศยุโรปนำเข้าแก๊ส-น้ำมันจากรัสเซียเป็นหลัก ทำให้คาดการณ์ว่า จะมีผลต่อเศรษฐกิจยุโรป ไม่ว่าจะต้นทุนในการผลิตและการดำรงชีวิต สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่แพง ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) อาจจะเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปเพื่อพยุงภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป ส่งผลกระทบให้ดัชนีตลาดหุ้นในยุโรป ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 1 ปี 

           2) ค่า 2-10 Spread ของตลาดพันธบัตรฯสหรัฐ มีค่าบวกน้อยลง แสดงว่า กังวลการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และส่งสัญญาณอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้กระทบสหรัฐฯ ตัวชี้วัด 2-10 Spread คือ ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯในสหรัฐฯ ระยะเวลา 10 ปี เทียบกับ 2 ปี โดยในภาวะเศรษฐกิจปกติ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯระยะยาว(10 ปี) จะมีค่าสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯระยะสั้น (2 ปี) แสดงว่า ค่า 2-10 Spread เป็นบวกในภาวะปกติ และจะเริ่มบวกน้อยลงจนติดลบ เมื่อมีความกังวลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนลดสัดส่วนการถือครองพันธบัตรฯระยะสั้นและไปเพิ่มสัดส่วนการถือครองพันธบัตรฯระยะยาว ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯระยะสั้น ปรับตัวสูงขึ้น (ราคา ลดลง) และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯระยะยาว ปรับตัวลดลง (ราคา เพิ่มขึ้น) ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของ FED ที่จะการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในวันที่ 15-16 มี.ค. นี้ 

          3) ค่าเงินบาท ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า บริเวณ 33 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยคาดว่ามี Fund Flow ที่อาจจะไหลออกเพื่อถือ USD ที่เป็นสกุล Safe Haven ซึ่งจะกระทบตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจาก Fund Flow ที่ไหลออก 

           4) ค่า FRA / OIS Spread ปรับตัวสูงขึ้น มาจากการ Sanction สถาบันการเงินในรัสเซีย ทำให้ภาคการเงิน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยระหว่างสถาบันการเงิน (FRA / OIS Spread) ปรับตัวสูงขึ้น (แปลว่า ไม่อยากให้กู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร และมีต้นทุนในการกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินที่สูงขึ้นไปด้วย) 

          คริปโทเคอร์เรนซี ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยมีความผันผวนของราคาสูง ปรับตัวลดลงในช่วงแรกของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน แต่ก็เด้งกลับขึ้นมาได้ เนื่องจากเหตุการณ์ Sanction สถาบันการเงินในรัสเซีย ทำให้รัสเซียหันไปใช้คริปโทฯ ในช่วงภาวะสงครามมากขึ้น เห็นได้จากปริมาณการเทรดเงินรูเบิ้ลกับ Bitcoin เพิ่มขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบ 9 เดือน ในขณะที่ค่าเงินรูเบิ้ลอ่อนตัว และการบริจาคระดมทุนให้ยูเครนใช้ในการต่อสู้ ก็หันมาใช้คริปโทฯ ซึ่งมียอดบริจาคกว่า 30 ล้านดอลลาร์ฯแล้ว
คำแนะนำการลงทุน ​​​​​

สำหรับทองคำและน้ำมันที่ปรับขึ้นแรง 
ทองคำ ในระยะยาว แนะนำให้มีสัดส่วน 5-10% ของพอร์ต หากมีสัดส่วนทองเยอะกว่า 5-10% แนะนำให้ทยอยลดสัดส่วนลง 
น้ำมัน แนะนำทยอยขายทำกำไร ไม่แนะนำให้เก็งกำไร
​​​
ขายทำกำไรหรือลดสัดส่วนแล้วจะมาลงทุนอะไรดี​​​​​

          สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยง แนะนำให้รอประเมินสถานการณ์ หรือพักเงินในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ หรือกองทุนตราสารหนี้ (K-SFPLUS K-CBOND) 

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ 

หุ้นยุโรป แนะนำลดน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป 
หุ้นสหรัฐ แนะนำผู้ที่มีการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ถือลงทุนได้ แต่ไม่ลงทุนเพิ่มเติม 
หุ้นไทย แนะนำลงทุนเลือกกลุ่ม Dividend Play / Domestic / Defensive คือ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล การเงิน และค้าปลีก กรอบแนวรับ 1,610 จุด หรือ กองทุนแนะนำ K-STAR K-VALUE K-SET50 K-BANKING 

หากใครที่ชื่นชอบและเข้าใจใน digital asset จะลง crypto หรือ NFT ใน port เพิ่มบนส่วนกำไรนี้ก็ได้ไม่ว่า มองเป็น alternative investment เหมือนกัน แค่อย่าเกิน 5-10% 

คริปโทฯ ยังราคาผันผวนสูงและปรับตัวลดลง สำหรับคนที่ลงทุนในคริปโทฯอยู่แล้ว แนะนำไม่ควรมีสัดส่วนเกิน 5% ของพอร์ต ส่วนคนที่ยังไม่เคยลงทุน แนะนำให้ทำความเข้าใจ ก่อนการลงทุน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้ลงทุนตามกระแส เนื่องจากสัดส่วน Market Cap ของคริปโทฯ เติบโตเกือบ 10 เท่า มาอยู่ที่ ราวๆ 1.83 Trillion USD และจำนวนเหรียญ 17,869 Coins (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 65 จาก www.Coinmarketcap.com) สะท้อนความนิยมในคริปโทฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่าน และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ช่วงวันที่ 22 ก.พ. – 1 มี.ค. 65 มีเงินไหลเข้าในตลาดคริปโทฯ กว่า 260 Trillion USD เป็นผลมาจากการถูก Sanction สถาบันการเงินในรัสเซียและการบริจาคทุนผ่านทางคริปโทฯให้ยูเครนก็ตาม 

NFT เป็น lifestyle alternative investment มีความเสี่ยงสูง และมีข้อจำกัดด้านสภาพคล่อง จากกระแสที่มีคนลง NFT กันมาก ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ หรือการใช้ NFT ในการเล่นเกมส์ ซึ่งจากข้อมูลมูลค่าซื้อขายในช่วง ม.ค. 64 จนถึง 8 มี.ค. 65 จะพบว่า มูลค่าซื้อขาย NFT ใน Gaming มีสูงกว่า ใช้ NFT ในงานขายศิลปะ ใครมี passion และชื่นชอบ ให้ศึกษาทำความเข้าใจให้ดี NFT ที่ผูกกับ crypto จะมีความเสี่ยงเพิ่มเรื่อง currency ที่ผันผวนแรง ส่วน NFT ที่ผูกกับ เงินบาท ก็จะไม่มีความเสี่ยงเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น NFT งานศิลปะจาก coral 

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”

​ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

KResearch : วิเคราะห์ข่าวเช้าเศรษฐกิจ (7 มีนาคม 2565) 

บลจ.กสิกรไทย
COINMARKETCAP www.coinmarketcap.com

KS Forward วันที่ 7 มี.ค. 


KS Forward วันที่ 8 มี.ค.  


​Finnomena Morning Brief วันที่ 8 มี.ค. ​https://www.youtube.com/watch?v=Qeyf1VUmyeE​ 

​.

บทความโดย K WEALTH GURU สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!