K WEALTH /
บทความ /
Wealth Management / เรื่องเงินที่ควรจัดการก่อนอายุ 30
28 เมษายน 2565
4 นาที
เรื่องเงินที่ควรจัดการก่อนอายุ 30
“
• เงินเดือนน้อย ใครว่าไม่ต้องวางแผน เพราะยิ่งปล่อยเวลาทิ้งไป ไม่ใช่แค่โอกาสการลงทุนที่หมดไป แต่การไม่วางแผนยังอาจเป็นต้นเหตุของภาระหนี้สินที่เกินจำเป็น
• อายุยิ่งน้อย ยิ่งต้องเรียนรู้การลงทุน ไม่จำเป็นต้องกังวลกับความเสี่ยงจนเกินไป เพราะการเริ่มต้นลงทุนไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก อีกทั้งระหว่างทางก็ยังมีรายได้จากการทำงานอยู่
• ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ต้องจัดการให้พร้อมรับมือ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้กระทบเฉพาะตนเอง แต่อาจกระทบถึงคนที่รัก ทั้งคนในครอบครัวและพ่อแม่สูงอายุ
“
หลายปีที่ K WEALTH ได้ให้คำปรึกษาการเงินลูกค้า พบว่าคนส่วนใหญ่มักมีการใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน แค่นำเงินไปจ่ายหนี้ก็ไม่พอแล้ว เรื่องการเก็บออมหลายคนยังรู้สึกว่าห่างไกล ประกอบกับข้อมูลสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของประเทศไทยปี 2564 ที่สูงถึง 90.1% ซึ่งสูงกว่าปี 2563 ที่ 89.7% เป็นตัวช่วยยืนยันสิ่งที่ K WEALTH ได้พบมา
โดยเฉพาะคน GEN Y (เกิดปี 2523 - 2539) หรืออายุ 26-42 ปี ที่ข้อมูล Q1/2563 พบว่าคน GEN นี้มีจำนวนการผิดนัดชำระหนี้มากที่สุดเมื่อเทียบกับ GEN อื่น สำหรับสินเชื่อแทบทุกประเภททั้งบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราทุกคนถึงควรรีบจัดการเงินให้ดี ก่อนอายุครบ 30
I: มีเครดิตดี เพื่อสร้างอนาคต
ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ หรือเปิดธุรกิจส่วนตัว มักต้องขอสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่งนอกจากอายุงานและฐานรายได้แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ธนาคารใช้ในการพิจารณาให้สินเชื่อแต่ละครั้ง ได้แก่
- ภาระหนี้ที่มีอยู่ ดูจากยอดผ่อนเทียบกับรายได้ หากเดิมภาระผ่อนสูงอยู่แล้ว โอกาสขอสินเชื่อครั้งใหม่ก็จะน้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อที่ต้องผ่อนระยะยาวอย่าง สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ ที่หากเดิมมีภาระผ่อนเกิน 40%-50%ของรายได้แต่ละเดือนแล้ว เงินที่เหลือแต่ละเดือนก็อาจไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายประจำวัน ดังนั้นหากมีการผ่อนเพิ่มอีก ก็มีความเสี่ยงที่คนกู้อาจไม่สามารถผ่อนคืนได้ตลอดสัญญา
- ประวัติชำระหนี้ที่ผ่าน เปรียบเหมือนสมุดพกประจำตัว ที่หากใครเคยมีประวัติค้างหรือผิดนัดชำระหนี้มาก่อน คนให้สินเชื่อคงไม่มั่นใจว่าต่อไปจะผิดนัดอีกไหม ยิ่งถ้าเพิ่งผิดนัดมาไม่นานก็อาจขอสินเชื่อได้ยากหน่อย แต่หากผิดนัดมานานแล้วและหลังจากนั้นไม่เคยผิดนัดอีกเลย ก็อาจขอสินเชื่อได้ไม่ยากนัก
คนวัย 30 คงเคยมีใช้สินเชื่อบ้าง ไม่ว่าบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ หากรักษาประวัติเครดิตได้ดี ไม่สร้างภาระผ่อนหรือยอดชำระคืนขั้นต่ำมากจนเกินไป ต่อไปการขอสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อรถยนต์คันใหม่ ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก
II: มีเป้าหมายชัด เพื่อลงทุนให้เหมาะ
เวลาที่ผ่านไป คือ โอกาสการลงทุนที่ค่อยๆ หมดไป หากปล่อยให้เงินเก็บอยู่ในเงินฝากทั่วไป เงินที่มีคงไม่มีโอกาสได้เติบโตเลย การเลือกลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมาย ระยะเวลา และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยทางเลือกการลงทุน ที่คนวัย 30 ควรรู้จัก ได้แก่
- เงินฝาก ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีแค่เงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำเท่านั้น แต่ยังมีเงินฝากออมทรัพย์ e-Savings ที่ให้ดอกเบี้ยสูงเป็น 6 เท่าของออมทรัพย์ทั่วไป เช่น เงินเก็บ 100,000 บาท หากอยู่ในออมทรัพย์ดอกเบี้ย 0.25%ต่อปี จะได้รับดอกเบี้ยปีละ 250 บาท แต่หากเปลี่ยนไปเก็บในออมทรัพย์ e-Savings ที่ดอกเบี้ย 1.5%ต่อปี จะได้รับดอกเบี้ยปีละ 1,500 บาท หรือได้มากขึ้น 1,250 บาท เพียงพอให้ไปทานอาหารหรูนอกบ้านได้ 1-2 มื้อเลย (ประกาศดอกเบี้ย ณ 5 เม.ย. 65)
- กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ ที่มีระยะเวลาการลงทุนแน่นอน เช่น 6-12 เดือน แม้นำเงินออกไม่ได้ก่อนกำหนด แต่ก็พอจะรู้ประมาณการผลตอบแทน ตั้งแต่วันที่ลงทุน โดยทั่วไปกองทุนประเภทนี้เริ่มต้นลงทุนที่ 500,000 บาท
- พันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชนขนาดใหญ่มีความน่าเชื่อถือสูง เป็นการลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยตามจำนวนที่ได้สัญญาไว้ตั้งแต่ตอนออกพันธบัตร/หุ้นกู้ โดยพันธบัตร/หุ้นกู้แต่ละรุ่นมีลักษณะที่ต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมาหุ้นกู้ส่วนใหญ่มักมีขั้นต่ำการลงทุนที่ 100,000 บาท และมีอายุหุ้นกู้ 3-5 ปี ดังนั้นการลงทุนแต่ละครั้ง ควรมั่นใจว่าเงินก้อนที่ลงทุนนั้นจะสามารถถือไว้จนหุ้นกู้ครบอายุได้ และควรเลือกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) อยู่ในระดับที่น่าลงทุน หรือ AAA ถึง BBB- ด้วย
- กองทุนผสม ที่กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย ผลตอบแทนโดยรวมสม่ำเสมอไม่ผันผวนมากนัก โดยเฉพาะกองทุนผสมต่างประเทศ เช่น กองทุน K-GINCOME-A(R) ที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี 3.13%ต่อปี (ข้อมูล ณ 12 เม.ย. 65) หรือหากลงทุน 100,0000 บาท ตอนอายุ 25 ปี ปัจจุบันเงินจะโตขึ้นเป็น 116,673 บาท
- หุ้น ไม่ว่าหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศ ไม่ว่าลงทุนในหุ้นสามัญ ลงทุนใน DR หรือลงทุนผ่านกองทุนก็ตาม ล้วนเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง เช่น ผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี (ข้อมูล ณ 12 เม.ย. 65) ของหุ้นไทยอยู่ที่ 4.18%ต่อปี ส่วนหุ้นโลกอยู่ที่ 10.49%ต่อปี เช่น หากลงทุน 100,000 บาท เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเงินจะโตขึ้นเป็น 122,722 บาท และ 164,670 บาท ตามลำดับ
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่หลายบริษัทเอกชนมี เป็นทางเลือกสำหรับการเก็บเงินเพื่อเกษียณ ซึ่งอาจมีนโยบายการลงทุน (Employee's Choice) ให้พนักงานเลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่เหมาะสม หรือสามารถเพิ่มเงินสะสมในแต่ละเดือนที่นอกจากช่วยเก็บเงินเพิ่มได้แล้ว ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มนอกเหนือไปจากการลงทุนกองทุน SSF/RMF ที่หลายคนรู้จักกัน
III: มีแผนสำรอง พร้อมรับทุกสถานการณ์
แผนสำรองที่ว่า ควรเริ่มที่มีเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่ถ้าใครทำอาชีพอิสระหรือธุรกิจส่วนตัว ก็ควรมีมากขึ้นเป็น 12 เท่า เช่น ค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 60,000 – 120,000 บาท โดยเก็บในรูปแบบของเงินฝาก e-Savings หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่ำ และรอรับเงินเพียง 1 วันทำการ หลังขายคืน
แผนสำรองต่อมา คือ การรับมือกับค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกรณีที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่มักตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง การกันเงินสำรองหรือการเตรียมวงเงินบัตรเครดิตเผื่อไว้ในกรณีแบบนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็น หรืออาจเลือกทำประกันสุขภาพสักฉบับที่มีความคุ้มครองครอบคลุมค่าห้องและค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล อย่าง Elite Health Plus ที่นอกจากคุ้มครองค่าห้องพักเดี่ยวมาตรฐานแล้ว ยังมีวงเงินค่ารักษาสูงถึง 20-100 ล้านบาทต่อปีด้วย
ถ้าใครกำลังวางแผนมีครอบครัว หรือมีพ่อแม่สูงอายุต้องดูแล อย่าลืมแผนสำรองเพื่อเตรียมเงินทุนไว้ให้ครอบครัวได้ใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดกับตนเอง ด้วยประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองตลอดชีพ 99/9 หรือประกันชีวิตควบการลงทุน uDesign ก็จะช่วยให้คนวัย 30 ใช้ชีวิตได้อย่างอุ่นใจมากขึ้น
วัย 30 ช่วงที่หน้าที่การงานอยู่ตัว เงินเก็บเริ่มมี พร้อมที่จะสร้างครอบครัว มีบ้านมีรถเป็นของตัวเอง จึงมีเรื่องเงินหลายอย่างที่ต้องจัดการ เพื่อให้พร้อมเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
บทความโดย K WEALTH GURU ราชันย์ ตันติจินดา CFP®